จับตากลไกสภาฯ   นิรโทษกรรม 112 ‘ทักษิณ’

จับตากลไกสภาฯ   นิรโทษกรรม 112 ‘ทักษิณ’

การเมืองลี้ลับ ต้องจับตา การล้างผิด ม.112 หลัง "ทักษิณ" ถูก "อสส." สั่งฟ้องคดีหมิ่นสถาบัน ซึ่ง "กมธ.นิรโทษกรรม" เตรียมใช้เสียงข้างมากดันให้ผ่าน แม้มีคนท้วงส่อขัดรธน.มาตรา6

Key Point :

  • กรณี "ทักษิณ ชินวัตร" ถูก "อัยการสูงสุด" สั่งฟ้องคดีมาตรา 112 มีความเคลื่อนไหวสะท้อนกลับใน กมธ.นิรโทษกรรม ของสภา
  • กมธ.นิรโทษกรรม เตรียมปักธงนำ มุ่งไปสู่การล้างผิด คดีมาตรา 112 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ในมุมของ "เพื่อไทย" แบ่งรับแบ่งสู้
  • เรื่อง ล้างผิด ม.112  ในกมธ. ยังเห็นเป็น2ฝ่าย เหตุมีข้อท้วงว่า เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา6 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
  • จึงมีประเด็นที่ กมธ. จะโหวตตัดสิน โดย "กมธ.ฝั่ง เพื่อไทย" มั่นใจจะชนะ เพราะได้คนของ "ก้าวไกล" หนุนน
  • พร้อมกับหาช่องเดินเรื่องให้สำเร็จ ผ่านกลไกของกรรมการกลั่นกรองคดี เพื่อหวังช่วยคดีความที่เกิดในปัจจุบัน แม้ กมธ.นิรโทษกรรมส่งผลการศึกษาต่อสภาไปแล้ว

 

จุดโฟกัส หลังอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” ข้อหากระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ่วงกับการทำผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 พ.ศ.2549 ข้อ 1 

คือบทสรุปของการ “นิรโทษกรรม มาตรา 112” จะปักธงนำอย่างไร

ประเด็น “การนิรโทษกรรม” ที่กลไกของสภาฯ พิจารณาในชั้น "คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม” สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.เพื่อไทย เป็นประธาน ตามญัตติที่สภาฯเห็นร่วมกัน ได้เริ่มทำงานตั้งแต่ต้น ก.พ.2567 ถึงปัจจุบัน มีการประชุมไปแล้ว 11 ครั้ง และนัดประชุมครั้งที่ 12 ในวันนี้ (30 พ.ค.) 

แม้ว่าการทำงานจะยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนในเนื้อหา มีเพียงการวางกรอบล้างผิดคดีการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน (เมื่อรายงานของ กมธ.ฯเสนอต่อสภา)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธงนำ” ของเรื่อง เกิดจากความต้องการล้างผิดกลุ่มม็อบ รวมถึงล้างผิดคดีหมิ่นสถาบัน หรือมาตรา 112 ด้วย

ต่อประเด็นล้างผิด มาตรา 112 นั้น ที่ผ่านมา “กมธ.ฝั่งเพื่อไทย” สื่อสารท่าทีต่อสาธารณะ ในทำนองแบ่งรับแบ่งสู้ พูดไม่เต็มปากว่า ข้อเสนอที่เตรียมให้สภาฯพิจารณาเห็นชอบนั้นเหมารวม “ความผิดมาตรา 112” หรือไม่

จับตากลไกสภาฯ   นิรโทษกรรม 112 ‘ทักษิณ’ โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.เพื่อไทย ฐานะประธานกมธ.นิรโทษกรรม ย้ำมาตลอดว่า คดีมาตรา 112 นั้นละเอียดอ่อน และมีข้อเสนอให้ กมธ.พิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนสรุปเป็นข้อยุติ

ทว่า หลังจากที่อัยการสูงสุดมีมติสั่งฟ้อง “ทักษิณ” และวันที่ 18 มิ.ย.2567 นี้ เตรียมจะส่งฟ้องนั้น ต้องจับตาการประชุมของ กมธ.นิรโทษกรรมฯ ในวันนี้ (30 พ.ค.) ที่เชื่อว่าจะมีภาพชัดขึ้น ในการวางแนวนิรโทษกรรม "คดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง" และ "การแสดงออกทางการเมือง” เหมารวมถึง "มาตรา 112" ด้วย

แหล่งข่าวจากวงประชุม กมธ.นิรโทษกรรม ให้ข้อมูลว่า แม้เจตนาของการนิรโทษกรรม ม.112 จะตั้งต้นจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนฝั่งหัวก้าวหน้า ที่ “พรรคก้าวไกล” พยายามผลักดันให้การล้างผิดมาตรา 112 ถูกบรรจุเป็นข้อเสนอที่สภาฯไม่สามารถปฏิเสธได้ 

โดยใช้น้ำหนักของการศึกษาทางวิชาการ และข้อเสนอของ “คณะอนุกรรมการฯ” ที่เสนอบัญชีความผิด ที่ควรได้นิรโทษกรรมใน 25 ฐานความผิด ซึ่งมีทั้งคดีของม็อบการเมืองทุกสีเสื้อ รวมถึงม็อบ 3 นิ้วด้วย

ต่อประเด็นนี้ ในช่วงแรก กมธ.นิรโทษกรรมฝั่งเพื่อไทย พยายามเบี่ยงประเด็น และไม่ต้องการพูดถึง เพราะไม่อยากให้กลายเป็นแรงกระเพื่อมไปยัง “รัฐบาล” แต่เมื่อมีกระแสว่า “ทักษิณ” จะถูก อสส.สั่งฟ้องคดีมาตรา 112 จึงได้เห็นท่าทีที่เปลี่ยนไป

จับตากลไกสภาฯ   นิรโทษกรรม 112 ‘ทักษิณ’  

ขณะเดียวกัน แกนนำเพื่อไทยแถวสองก็ส่งสัญญาณชัดว่า พร้อมสนับสนุนให้นิรโทษกรรม มาตรา 112 โดยไม่พะวงกับแรงกระเพื่อมใดๆ แม้ “เครือข่ายประชาชนฝั่งอนุรักษนิยม” จะแสดงจุดยืนค้านการนิรโทษกรรม มาตรา 112 และเตรียมพร้อมเคลื่อนไหวต่อต้าน

จับตากลไกสภาฯ   นิรโทษกรรม 112 ‘ทักษิณ’ อีกทั้ง ในวง กมธ.ฯ ยังมีความเห็นต่าง ในกรณีล้างผิดมาตรา 112

โดย กมธ. "สายอนุรักษ์นิยม” ส่งเสียงทักท้วงว่า หากนิรโทษกรรมที่รวมคดีละเมิด-หมิ่นสถาบัน สุ่มเสี่ยงเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่วางหลักไว้ในคดีที่สั่งพรรคก้าวไกลให้เลิกการกระทำต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

พร้อมทั้งเสนอทางออกให้เลือก คือ กรณีผิดมาตรา 112 นั้น ควรใช้การขอพระราชทานอภัยโทษ แทนการออกกฎหมายล้างผิด

ส่วนหนึ่ง เพื่อตัดปัญหา ข้อยุ่งยากในการพิจารณา ที่ “ผู้ร่วมลงนามเสนอร่างกฎหมาย” เสี่ยงทำผิดกฎหมาย

ขณะที่ “ฝ่ายหนุนนิรโทษกรรมเหมาเข่ง” หาช่อง เพื่อผลักดันให้ได้ โดยเตรียมใช้มติของ กมธ.นิรโทษฯ ตัดสิน เพราะมั่นใจว่าเสียงข้างมากที่มาจาก “เพื่อไทย-ก้าวไกล” จะโหวตชนะ

พร้อมกับวางกลไกในขั้นตอนต่อไปคือ ขั้นตอนการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีข้อเสนอถึงการตั้ง คณะกรรมาธิการยกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงการกำหนด คณะกรรมการที่มีหน้าที่กลั่นกรองคดี ที่เข้าข่ายและได้รับสิทธินิรโทษกรรม

ในส่วนของกรรมาธิการยกร่างนั้น “สมคิด เชื้อคง” สมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เปิดประเด็น เพื่อหวังให้เป็นมือไม้ของการตรากฎหมาย ที่รับลูกผลการศึกษาของกรรมาธิการ

จับตากลไกสภาฯ   นิรโทษกรรม 112 ‘ทักษิณ’ ขณะที่ ประเด็นคณะกรรมการกลั่นกรองคดีฯนั้น กมธ.ได้ตั้งแท่นศึกษาไว้แล้ว และเสนอให้พิจารณาแล้ว 1 รอบ แต่ไม่ผ่าน เนื่องจาก “กมธ.ฝั่งผู้พิพากษา” มองว่า การออกแบบกลไกให้มี “องค์กรยุติธรรม” เข้าร่วมนั้นไม่เหมาะสม ทำให้อนุกรรมการฯต้องกลับไปรื้อ และเสนอใหม่ ในวันที่ 29 พ.ค. ก่อนที่จะใช้ “มติข้างมาก” ตัดสินเป็นเด็ดขาด

อย่างไรก็ดี ในการตั้ง “กรรมการกลั่นกรอง” ถูกมองว่า เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อพิจารณาคดีที่เป็นปัจจุบัน หลังจากที่ “กมธ.ศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” หมดวาระ เมื่อส่งรายงานศึกษาให้สภาฯไปแล้ว

จึงมองเป็นอื่นไม่ได้ว่า เตรียมไว้เพื่อเป็นทางรอดของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในคดีผิด มาตรา 112 และแม้ประเด็นนี้ กมธ.จะเห็นแย้งเป็น 2 ฝั่ง แต่ด้วยไฟต์บังคับ ที่ผลโหวตต้องออกมาในทิศทางเดียว และเดาได้ไม่ยากว่าจะออกมาทางไหน

จับตากลไกสภาฯ   นิรโทษกรรม 112 ‘ทักษิณ’ การใช้กลไกของสภาฯ เพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ที่ถูกมองว่าจะเป็นทางปลดล็อกความขัดแย้งในสังคม-การเมือง ท้ายสุดแล้วต้องจับตาว่า จะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยใครในเกมการเมืองลี้ลับนี้หรือไม่.