เหตุผล รธน.วางสเปค รมต. ‘ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้วางคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งปมนี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ กำลังถูกตรวจสอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลังแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี
KEY
POINTS
- รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ได้วางหลักการใหม่กรณีรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติ "ซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์" ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญ กรณี "เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯ แต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
- กรธ.ชุด "มีชัย ฤชุพันธุ์" วางสเปก รัฐมนตรี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยยกร่างให้ครอบคลุมกับรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
- ประเด็น "ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" หาเครื่องชี้วัดได้ยาก เป็นบทบัญญัติที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไว้ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี
“พิชิต ชื่นบาน” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดใจตอนหนึ่งกับ “กรุงเทพธุรกิจ” โดยหยิบยกปมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ที่เขาถูก 40 สว.ร้อง พ่วง“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี
อดีตทนายความตระกูลชินวัตร ระบายความในใจหลังพ้นจากรัฐมนตรี เพราะคำร้องหวังโค่นนายกฯ “พิชิต” ถึงขั้นยกปมปัญหา “รัฐมนตรี” ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ นั้นวัดกันตรงไหน เพราะเป็นเรื่องนามธรรม
“ในชั้นร่างรัฐธรรมนญูมีกรรมาธิการหลายรายทักท้วงนะ เขียนเรื่องซื่อสัตย์สุจริตที่ประจักษ์ไว้ จะเป็นการกลั่นแกล้ง กล่าวหาทางการเมืองนะ เลือกที่รักมักที่ชัง พอมีคนจะตั้งรัฐมนตรี ก็มีคนมาชี้หน้าว่า คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ เอาความรู้สึกความคิดอะไร ความเกลียดความไม่ชอบ โดยไม่มีเกณฑ์จะวัดเหมือนปรอท”
อย่างไรก็ตาม หนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ที่จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ได้อธิบายความมุ่งหมายเป็นรายมาตราเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการศึกษาในแวดวงกฎหมายมหาชน
เมื่อเปิดไปดูเรื่องประเด็นคุณสมบัติของ “รัฐมนตรี” ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง นั้นเป็นเรื่องที่ถูกวางหลักการไว้ใหม่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในหมวด 8 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี ที่มีความสำคัญแตกต่างจากเดิมที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร
โดยเฉพาะมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นๆ เพิ่มเติม ในมาตรา 160 ไว้ด้วย เช่น ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 เมื่อโฟกัสไปที่ ปมร้อนแรงที่มีการยื่นคำร้องของ 40 สว.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี “เศรษฐา” เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยถูกคำสั่งศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล
ยิ่งไล่ไปอ่านเหตุผลที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน วางคุณสมบัติรัฐมนตรีต้อง “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ตามที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น
เหตุผลสำคัญ คือ กรธ.วาง “กฎเหล็ก”ของรัฐมนตรี ก็เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 35 ที่กำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ จะต้องครอบคลุมในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต และการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ
ทำให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น จึงต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นเท่ากับผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. (มาตรา 98) และยังมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นให้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับคำร้องพิจารณาคุณสมบัติรัฐมนตรีของ “เศรษฐา” โดยให้นายกฯ ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 54
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คณะตุลาการจะต้องวางบรรทัดฐานโดยอธิบายหลักการและเหตุผลในเรื่อง “คุณสมบัติรัฐมนตรี” ที่ทุกคนจะต้องมี “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”
พร้อมวางแนววินิจฉัยถึงพฤติการณ์แบบใดที่มีผลให้ต้องพ้นจากรัฐมนตรี เพราะคุณสมบัติข้อนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองต่อไปในอนาคตตอีกแน่นอน