นำร่อง ‘ยุทโธปกรณ์’ ส่งออก ‘กลาโหม’ ศูนย์รวมนายหน้าค้าอาวุธ

นำร่อง ‘ยุทโธปกรณ์’ ส่งออก  ‘กลาโหม’ ศูนย์รวมนายหน้าค้าอาวุธ

การจัดซื้อ "อาวุธ-ยุทโธปกรณ์" ของ "กองทัพ" อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากต่างเหล่าทัพต่างซื้อ มาจัดแบบแพคเก็จ ผ่านคณะกรรมการมี "รมว.กลาโหม" เป็นประธาน

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันกองทัพอุดหนุน อาวุธ-ยุทโธปกรณ์ ที่ผลิตได้เองภายในประเทศน้อยมาก เมื่อเทียบกับจัดซื้อต่างประเทศ
  • สุทิน ขันน็อต กองทัพ เร่งปฏิบัติตามมติ สภากลาโหม จัดซื้อ 4 อาวุธ-ยุทโธปกรณ์ ที่ผลิตได้ภายในประเทศ 30% บังคับในการจัดทำงบประมาณ 2569 
  • กองทัพ ถูกปรับเปลี่ยนระบบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ จากที่ต่างเหล่าทัพต่างซื้อ มาเป็นการจัดซื้อแบบแพ็กเกจ โดยมี รมว.กลาโหม เป็นประธาน

 

หากยก บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์รับเบอร์ จำกัด ที่มี “นพรัตน์ กุลหิรัญ” หรือ “มาดามรถถัง” เป็นผู้ก่อตั้ง คู่ค้ากองทัพไทยมายาวนานกว่า 56 ปี ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้บัญชาการทหารบก ปี 2511

ปัจจุบัน "กองทัพไทย" อุดหนุน "อาวุธ-ยุทโธปกรณ์"ที่ผลิตภายในประเทศ โดยฝีมือคนไทยเปอร์เซ็นน้อยมาก หากคิดเป็นเม็ดเงินไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการจัดซื้อจากต่างประเทศอยู่ที่หลัก 10,000 ล้านบาท

“สุทิน คลังแสง” ประกาศพลิกบทบาทเป็น รมว.กลาโหม เซลล์แมน ผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เปลี่ยนจากกระทรวงใช้เงินมาหารายได้ สร้างงาน สร้างคน ผ่านการขับเคลื่อนของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(สทป.)ร่วมทุนกับภาคเอกชน

พร้อมไฟเขียว “สภากลาโหม” อนุมัติแก้กฎหมายหลายฉบับ มาตรการระยะสั้นส่งเสริมภาคเอกชนประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

นำร่อง ‘ยุทโธปกรณ์’ ส่งออก  ‘กลาโหม’ ศูนย์รวมนายหน้าค้าอาวุธ เช่น ทบทวนโครงสร้างภาษี ลดภาระของผู้ประกอบการ ยกเว้นภาษีกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติ ครม. รวมถึงติดตามการประกาศกำหนดเขตพื้นที่ Free Zone จากกรมศุลกากร และลดขั้นตอนหน่วยงานรัฐให้เกิดความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบงานมาตรฐานทางทหารระหว่างสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมและกระทรวงกลาโหม โดยพัฒนามาตรฐานที่จำเป็นสำหรับวัตถุดิบ การพัฒนา(ร่าง)พระราชบัญญัติมาตรฐานทางทหารฯ และการพัฒนา LAB มาตรฐานต่าง ๆ และให้สำนักงบประมาณกำหนดสัดส่วน

 หากกองทัพหรือหน่วยงานราชการอื่นๆจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย โครงการนำร่องต้องซื้อจากผู้ประกอบการไทยผลิตได้ภายในประเทศ 30% โดยเริ่มใช้บังคับในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2569 เป็นต้นไป

4 โครงการนำร่อง ประกอบด้วย 1.ยานพาหนะเพื่อความมั่นคง หรือยานเกราะล้อยางแบบ 4 x 4 ของบริษัทชัยเสรี 2.อากาศยานไร้คนขับ(ยูเอวี) ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ 3.อุตสาหกรรมต่อเรือรบ (เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือโอพีวี) และ4.อาวุธปืนประจำกายและกระสุน

“กฤต กุลหิรัญ” ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทชัยเสรี เชื่อมั่นว่า บริษัทชัยเสรีทำงานด้านนี้มานาน หากพูดถึงเรื่องรถ ระบบการขับเคลื่อนบริษัทชัยเสรีทำได้หมดในทุกแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ ซึ่งสัดส่วน 30% เราทำได้แน่นอน

ที่ผ่านมาเราคิดมาตลอดว่า กองทัพไม่จำเป็นต้องซื้อของภายในประเทศ หากของมันห่วย แต่หากจะซื้อของต่างประเทศ ควรนำมาทดลอง เพื่อพิสูจน์ว่าของต่างประเทศดีกว่าของเรา เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และจะเป็นแนวทางให้บริษัทภายในประเทศได้พัฒนาให้ดีขึ้น เพราะบริษัทชัยเสรี ไม่ได้ตั้งเป้าจะขายกองทัพภายในประเทศเท่านั้น แต่จะขายให้กับกองทัพต่างประเทศด้วย ดังนั้นเราเน้นผลิตของออกมาดี มีคุณภาพอยู่แล้ว

นำร่อง ‘ยุทโธปกรณ์’ ส่งออก  ‘กลาโหม’ ศูนย์รวมนายหน้าค้าอาวุธ

“สมัยก่อน การจัดซื้อหลายครั้ง นำรถมาทดสอบภายในประเทศ สุดท้ายก็ไม่ซื้อ เพราะคันที่เขาอยากจะซื้อ ไม่เข้าวิน ก็เลยไม่ซื้อ ซึ่งถือเป็นอำนาจของผู้จัดหา หากยังเป็นอยู่เช่นนั้น บริษัทชัยเสรีก็ไม่ได้งานอยู่ดี เพราะเราไม่ใช่คนที่อยู่ในใจเขา แม้ปัจจุบันกองทัพเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ากองทัพซื้อไม่เยอะเท่าไหร่ ซึ่งเราอาจต้องสร้างความมั่นใจ เพราะกองทัพอาจมองว่าเรายังใหม่อยู่”

นอกจากนี้ “กฤต กุลหิรัญ” ยังเสนอให้กระทรวงกลาโหม ปรับเปลี่ยนขั้นตอนของการทำคุณลักษณะเฉพาะ สเปคของตัวรถที่ทางทหารต้องการ หากมีโครงการ ให้ดำเนินการทันทีโดยไม่ต้องรองบประมาณ เปิดโอกาสให้บริษัทภายในประเทศได้ทำงานก่อน เพราะที่ผ่านมา แม้มีโครงการ แต่กองทัพต้องรอให้ได้งบประมาณก่อน ถึงจะทำขั้นตอนคุณลักษณะเฉพาะและจัดซื้อทันที ส่งผลให้บริษัทภายในประเทศออกแบบพัฒนาไม่ทัน

“หากเปลี่ยนวิธีการ เมื่อกองทัพมีความต้องการ ก็ให้เขียนสเปคไว้ก่อน ซึ่งบริษัทชัยเสรียินดีจะลงทุนเพื่อที่จะทำของสิ่งนี้ ให้ตรงความต้องการ ผมมองว่ากองทัพจะได้ประโยชน์ ถ้ากองทัพแฮปปี้ ค่อยจัดซื้อ นอกจากนี้มีเรื่องของกฎหมายการควบคุมยุทธภัณฑ์ เช่น ระบบอาวุธปืน จะสังเกตได้ว่ารถของบริษัทชัยเสรีทุกคันจะไม่มีปืน เพราะติดข้อกฎหมาย อยากให้แก้ตรงนี้ เพราะถ้าไม่มีปืนมาติดตั้ง ผู้ประกอบการพัฒนาต่อไม่ได้ หากแก้ไขเราจะมีขีดความสามารถที่จะสามารถทำให้รถเป็นรถติดปืนได้”

นำร่อง ‘ยุทโธปกรณ์’ ส่งออก  ‘กลาโหม’ ศูนย์รวมนายหน้าค้าอาวุธ ขณะ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ยอมรับว่า กองทัพไทยจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ภายในประเทศน้อยมาก โดยคณะทำงานได้ทำข้อเสนอมาว่า ต่อไปนี้อาวุธยุทโธปกรณ์ใดที่ผลิตเองได้ภายในประเทศ กองทัพต้องจัดซื้อภายในประเทศ จะเริ่มเป็นขั้นบันไดตั้งแต่ 30% 40% และ 50% ค่อยๆไต่ระดับขึ้นไป พร้อมให้เจ้าหน้าที่ไปดูมติ ครม.และสภากลาโหมเดิม ซึ่งได้กำหนดเรื่องนี้เอาไว้นานแล้ว แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง มองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องดำเนินการให้เห็นรูปธรรมเสียที

ในช่วงที่ผ่านมา การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ดำเนินการผ่านตัวแทน หรือนายหน้าของบริษัทผู้ผลิตต่างประเทศ ที่เป็นคู่ค้ามีความสัมพันธ์มายาวนาน บางโครงการทำให้เกิดข้อครหาล็อกสเปก เอื้อผลประโยชน์ ส่งผลให้ได้อาวุธยุทโธปกรณ์ไม่ตรงปก หรือไม่มีประสิทธิภาพ

เช่นเดียวโครงการอัพเกรด รถยานเกราะ V150 ของกองทัพบก มีอายุใช้งานมากว่า 40 ปี หลังได้รับคำแนะนำให้ผลิตใหม่จะคุ้มค่ากว่าการอัพเกรด เนื่องจากมิติตัวโครงสร้างของ รถยานเกราะ V150 ของเดิมความหนาของเหล็กเกราะมีน้อย ไม่กันกระสุน ซึ่งการดำเนินการต้องถอดอุปกรณ์ทั้งหมด และแต่งกระดองใหม่จะใช้เวลานาน เมื่อเทียบกับการนำเหล็กเกราะใหม่ มาขึ้นรูปเป็นกระดองรถ ตามแบบที่ต้องการ จะสามารถทำได้เร็วกว่า ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายก็ไม่ต่างกัน

แต่ล่าสุด กองทัพบก มีแนวทางจัดหาใหม่ พุ่งเป้าไปที่รถยานเกราะ 8 x 8 ของจีน จากนายหน้าและบริษัทเดิมๆ ขณะที่หน่วยงานตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งมีรถยานเกราะV150 ประจำการอยู่เช่นเดียวกัน เลือกบริษัทในไทยผลิตใหม่ และสามารถกันกระสุนได้

ปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมภายใต้ดูแล สุทิน คลังแสง นอกจากเร่งรัดนโยบายให้กองทัพจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่บริษัทคนไทยผลิตได้เองในประเทศแล้ว ยังเตรียมปรับเปลี่ยนระบบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ จากที่ต่างเหล่าทัพต่างซื้อ มาเป็นการจัดซื้อแบบแพ็กเกจ 3 เหล่าทัพ หรือแบบรวมการผ่านคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ตัดสินใจในการจัดซื้อโดยที่เหล่าทัพเป็นผู้เสนอความต้องการ

โดยคาดว่าคณะกรรมการชุดนี้ มี “รมว.กลาโหม” เป็นประธาน และมี ผบ.เหล่าทัพ หรือตัวแทนร่วมด้วย ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการและหากมีผลบังคับ นายหน้า บริษัทค้าอาวุธ อาจต้องเบนเป้าหมายจาก 3 เหล่าทัพ เป็นกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจตัดสินใจ “ซื้อ-ไม่ซื้อ” เพียงผู้เดียว   

นำร่อง ‘ยุทโธปกรณ์’ ส่งออก  ‘กลาโหม’ ศูนย์รวมนายหน้าค้าอาวุธ