นิรโทษ‘สุดซอย’ถึง‘เหมาเข่ง 11ปี เดิมพัน 'ทักษิณ-เพื่อไทย'
11 ปี‘3รัฐบาล’ล้างผิดการเมือง บ่วงม.112 เดิมพัน‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ จับตา‘ก้าวไกล-ปชป.’แยกกันเดิน -‘สภาสูง’จังหวะเปลี่ยนขั้ว
Key Point :
- ในสารบบของ นิติบัญญัติ มี ร่างกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมคดีการเมือง รอ 3 ฉบับ
- กลไกของสภาฯ อยู่ในจังหวะ มี กมธ.ศึกษาแนวทางการตราเป็นกฎหมาย เพื่อหวังเป็นเวทีพูดคุย หาจุดร่วม ลบความแตกหัก
- แต่เนื้อแท้ คือ ความพยายาม ออก กฎหมายนิรโทษกรรม คดีการเมือง-ม.112 ที่เป็นไปในเชิงรุก ฝ่าแนวต้าน
- จากบทเรียน ปี56 นิรโทษกรรมสุดซอย ล่มรัฐบาล-ยิ่งลักษณ์ สู่ปี67 มีประเด็นที่บทเรียนถูกถอด
- "เพื่อไทย" แอบอยู่หลัง "ก้าวไกล" และรอจังหวะแสดงพลังเสียงข้างมาก เพื่อหนุนล้างผิด ม.112 ที่มี "ทักษิณ" ติดบ่วงคดี
กระบวนการตรากฎหมายนิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร กำลังถูกสังคมจับตาแบบไม่กะพริบ หลังจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกสั่งฟ้องฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเตรียมส่งฟ้องโดยอัยการสูงสุด ในวันที่ 18 มิ.ย. นี้
เนื่องด้วยเหตุผลสำคัญว่า กลไกของ “สภาฯ” ว่าด้วยการตรากฎหมายล้างผิด จะถูกนำมาใช้เพื่อลบล้างความผิดให้ “ทักษิณ” อีกหรือไม่
เหมือนกับครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2556 ที่ “พรรคเพื่อไทย” เคยใช้กระบวนการเสียงข้างมากในสภาฯ ดัน “นิรโทษกรรมสุดซอย” ของ “สภาล่าง” ซึ่งมี “ทักษิณ” เป็นคนปลายซอยคนนั้น ก่อนจะถูกขวางโดย “มวลชน” จนทำให้ “รัฐบาล-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องยุบสภา
แม้บริบททางการเมือง 11 ปีให้หลังจะต่างกัน เพราะผู้ที่ริเริ่มผลักดัน คือจาก “ฝ่ายค้าน” โดย “พรรคก้าวไกล” ที่มี สส.จำนวนมากสุดในสภาฯ พ่วงกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และกลุ่มพรรคเล็ก ที่เสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาล้างผิดให้กับ “ม็อบการเมือง” ส่วน “เพื่อไทย” ทำหน้าที่ผสมโรง เป็นกองหนุน
ทว่า ปลายทางของเรื่องนี้ คล้ายกับว่า มี “นายใหญ่เพื่อไทย” ได้อานิสงส์ เหมือนกับเป้าหมายของ “นิรโทษกรรมสุดซอย" ปี 2556
ย้อนรอยของเรื่องนี้ เมื่อ 7 มี.ค. 2556 “วรชัย เหมะ” พร้อม 39 สส.เพื่อไทย ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ…” และได้รับการบรรจุไว้ในวาระ เมื่อ 20 มี.ค. 2556 ท่ามกลางความกังขาของ “สส.ประชาธิปัตย์” ฐานะแกนนำฝ่ายค้านว่า จำเป็นต้องให้ “นายกฯ” รับรองก่อน เพราะเข้าข่ายเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน
สำหรับหลักการและเหตุผล ที่เสนอเพื่อให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย.2549 ถึง 8 ส.ค.2554 โดยโฟกัส ไปที่ “ประชาชน” ฐานะคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐ ยกเว้น “ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาที่กำหนดให้นิรโทษกรรม”
และเมื่อ ร่างพ.ร.บ.ฉบับวรชัย ประกาศใช้ จะมีผลใน 5 ประการกับผู้ที่ถูกจัดให้อยู่ในกระบวนการนิรโทษกรรม คือ
1.กรณียังไม่ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ระหว่างสอบสวน ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการระงับการสอบหรือฟ้องร้อง
2.กรณีถูกฟ้อง ให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง หรือ ให้ถอนฟ้อง
3.กรณีที่ผู้นั้นอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเองให้ จำหน่ายคดี
4.กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษก่อนวันที่กฎหมายบังคับใช้ ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิด
และ 5. กรณีอยู่ระหว่างรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดและปล่อยตัว
นอกจากนั้นในสาระสำคัญ คือ การนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิผู้ที่ได้นิรโทษกรรมเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ไม่ตัดสิทธิบุคคลที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เพราะได้รับความเสียหาย
ส่วนเหตุการณ์ที่ถูกจัดให้ได้รับการนิรโทษกรรม คือ “การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) หรือ คนเสื้อแดง ที่ต่อต้านการรัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย. 2549 “การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ คนเสื้อเหลือง ที่ต่อต้านรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และ ช่วงการต่อต้านรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ “การชุมนุมของ นปช.” ที่ต่อต้านรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ทั้งในกรณี ขวางการแถลงนโยบาย ล้อมรถ บุกโรงแรมรอยัลคลิฟบีช และการชุมนุมที่แยกราชประสงค์
ทั้งนี้ ในวาระของการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ยังไม่ใช่ฉบับสุดซอย เพราะไม่มีเนื้อหาที่เป็นการล้างผิด ให้กับ “ทักษิณ ชินวัตร” ฐานะอดีตนายกฯ ที่ถูกตรวจสอบและชี้ผิดในคดีทุจริต ที่ “คตส. หรือ “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ”
เพราะครอบคลุมการกระทำในความผิดอาญา เช่น บุกรุก ลักทรัพย์ วางเพลิงเผาทรัพย์ ความผิดต่อชีวิต ความผิดฐานหมิ่น ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ หรือ ม.112 ซึ่งกรณี ม.112 รวมถึงผู้ไม่ได้ออกมาชุมนุมด้วย
ทว่า ประเด็นนี้ ได้สะสมความคุกรุ่น เพราะ “ทักษิณ” ได้แสดงเจตนาหลายครั้งผ่าน “ตัวแทนเพื่อไทย” ว่าต้องการกลับบ้าน และ “ประชาธิปัตย์” อ่านทางออกว่า จะกลับมาด้วยกฎหมายล้างผิด
หลังจากที่ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ รอเวลาพิจารณานานถึง 5 เดือน ได้เวลาพิจารณาในวาระก่อนรับหลักการ เมื่อ 7-8 ส.ค. 56 ซึ่งบรรยากาศในสภาฯ นั้น เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ขัดแย้ง
แม้ “เพื่อไทย” จะครอบเสียงข้างมากในสภาฯ มาถึง 300 เสียง ก็ตาม โดยในวันแรกของการอภิปรายนั้น “พรรคประชาธิปัตย์” ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ได้ใช้แทคติกของข้อบังคับ รวมถึง ความเก๋าเกมสภาฯ ขัดขา เพื่อคัดค้านอย่างถึงที่สุด
ทั้งการอ้างขอหารือความเดือดร้อนของประชาชน ชี้ถึงการทำหน้าที่ประธานสภาฯ ของ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ที่มิชอบ เพราะ ใช้อำนาจบรรจุก่อนที่จะได้คำรับรองจาก “นายกฯ” เพราะฝ่ายค้านมองว่า เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จนถึงขั้นยกประเด็นความขัดแย้ง “นอกสภาฯ” ระหว่างที่พิจารณาร่างกฎหมายมีการชุมนุมคนเสื้อแดงนอกสภาฯ ขัดขวางการเข้าสภาของ “ผู้ช่วย สส.ฝ่ายค้าน” - ไม่มีการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ ยกเว้น ช่อง 11 ที่ถ่ายทอดสดแค่บางช่วงเวลา รวมถึง เสนอญัตติให้เลื่อนการพิจารณา
ความพยายามของ “ฝ่ายค้าน” ทำได้แค่ยื้อเวลาไว้ชั่วคราว เพราะ “เพื่อไทย”กุมเสียงข้างมาก จึงชนะโหวตทั้งในเกมเลื่อนการพิจารณา - ปิดการอภิปราย และ รับหลักการ เพื่อดันการพิจารณาวาระแรก ให้เสร็จโดยเร็ว
สำหรับผลลงมติ มีรับหลักการด้วยเสียงท่วมท้น 300 ต่อ 127 เสียง ซึ่งขณะนั้นเห็นได้ชัดว่า “ประมุขของสภาฯ” มีความโน้มเอียงไปยังฝั่งเพื่อไทย ทั้งกรณีของการปิดการลงคะแนน แต่ได้เพิ่มให้ “เพื่อไทย” ได้คะแนนเติมภายหลัง จาก “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ที่เดินเข้าห้องประชุมหลังปิดการลงคะแนนไปแล้ว
ขณะที่การพิจารณาในชั้นของ กรรมาธิการ 35 คน มีกลเกมที่ “เพื่อไทย” วางหมากไว้ ทั้งการดึง “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตหัวหน้า คมช. ผู้ทำการยึดอำนาจ “ทักษิณ” เข้าเป็นสัดส่วนกมธ.ฝั่งเพื่อไทย รวมถึงดึง “พิชิต ชื่นบาน” ทนายบ้านชินวัตร ร่วมวงด้วย
กมธ.ชุดนี้ โหวตให้ “สามารถ แก้วมีชัย” สส.เชียงราย ทำหน้าที่คุมเกม และใช้เวลาทำงานเพียง เดือนครึ่ง ก่อนที่จะส่งรายงานให้สภาฯ และพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ในวันที่ 31 ต.ค. 56 - 1 พ.ย. 56 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นการประชุม “วาระพิเศษ”
โดยในชั้นกรรมาธิการฯ นั้นพบการใช้เสียงข้างมาก โหวตแก้เนื้อหาในสาระสำคัญ ขยายกรอบการนิรโทษกรรม จากเดิมกำหนดให้ถึง วันที่ 10 พ.ค. 54 ไปเป็น 8 ส.ค. 56 และขยายสิทธิการนิรโทษกรรม คลุมไปถึง “บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 และที่ได้ดำเนินการสืบเนื่องต่อมา” และขยายการนิรโทษกรรมให้กับ “คนสั่งการ-แกนนำม็อบ” ด้วย
ทั้งนี้ ได้เพิ่มบท จำกัดสิทธิการนิรโทษกรรม กับบุคคลที่ทำความผิดในคดีมาตรา 112 เข้ามา
โดยในวาระสามนั้น “ประชาธิปัตย์” ใช้เกมสภาฯ ยื่นคำแปรญัตติเพื่อขอสิทธิอภิปรายในทุกมาตรา ทำให้ต้องใช้เวลาอภิปรายในวาระสอง ต่อเนื่องถึง 19 ชั่วโมง แต่เมื่อไม่สามารถเอาชนะ “เพื่อไทย” ที่ปักธงเป้าหมาย “ช่วยนาย” ได้ ทำให้ “ฝ่ายค้าน” วอล์กเอาต์จากที่ประชุม ไม่ร่วมลงมติ ทำให้ผลการลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ 310 เสียง ซึ่งการลงมติในวาระสามนั้นเกิดขึ้น ช่วงเวลาเกือบตี3 จนทำให้ถูกขนานนามว่า “กฎหมายลักหลับ”
อย่างไรก็ดีในเกม “เร่งดันกฎหมายนิรโทษกรรม” นั้นทำให้เกิดการขับเคลื่อนนอกสภาฯ ผ่านม็อบ ที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ออกหน้า และหวังกดดันให้ “รัฐบาล” ส่งสัญญาณไปยัง “สภาฯ”ให้ถอยร่าง “กฎหมายนิรโทษกรรม” และในช่วงเวลาคาบเกี่ยวก่อนที่ร่างกฎหมายสุดซอย จะเข้าสู่ที่ประชุม “วุฒิสภา” เมื่อ 7 พ.ย. “ยิ่งลักษณ์” ได้แถลงส่งสัญญาณขอถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากสภาฯ
และเมื่อ 11 พ.ย. 56 เป็นคิวของ “วุฒิสภา” พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ต่อจากสภาฯ ซึ่งก่อนที่ สภาสูงจะพิจารณามี องค์กรต่างๆ รวม 44 องค์กร ยื่นหนังสือเพื่อกดดันให้ “สว.” ใช้หน้าที่และอำนาจ “คว่ำ”
ในการประชุมของวุฒิสภา นั้น มีสว.อภิปราย ซึ่งแสดงเหตุผลไว้เป็นนัยสำคัญ คือ "ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมความคิดจากการกระทำทุจริต” ขณะที่ผลการลงมติ สว. ที่มาออกเสียง 140 คน ลงมติเอกฉันท์ คือ “ไม่เห็นด้วยกับสภาฯ”
สำหรับผลการออกเสียงของ “สว.” ที่ตอนนั้น เห็นชัดว่ามี 2 ขั้ว คือ ขั้วเหลือง และ ขั้วแดง-หนุนเพื่อไทย ทว่าเสียงที่ออกมาเป็นเอกฉันท์นั้น วิเคราะห์ได้ว่า เพื่อหวังยุติความขัดแย้งจากม็อบนอกสภาฯ และให้ “รัฐบาล-เพื่อไทย” อยู่ต่อ แต่ผลลัพท์ไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะกลไกของนิติบัญญัติ แม้ “สว.” ไม่เห็นชอบ และส่งร่างกฎหมายกลับไปสภาฯ “สส.”สามารถฟื้นคืนชีพได้ ด้วยการลงมติข้างมากยืนยัน
จากปัจจัย และความพยายามฟื้น “กฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย” ทำให้เกิดพลังในนอกสภาฯ จน “ยิ่งลักษณ์” ใช้อำนาจยุบสภา เมื่อ 9 ธ.ค. 56
จากเหตุนั้น จนถึงปัจจุบัน “ทักษิณ” ถูกฟ้องคดี ผิด ม.112 และ “สภาฯ” โดย “เพื่อไทย” คุมเสียงข้างมาก กำลังเล่นบทตามน้ำ ดัน “นิรโทษกรรม ม.112” แม้จะยังไม่ใช่วาระของการ “ตรากฎหมาย” เป็นเพียงผลการศึกษาของกมธ.
ทว่า รายงานของกมธ. ที่มี “คนเพื่อไทย” เป็นแกนนำ กำลังจะถูกนำไปเป็นสมุดปกเขียว เพื่อออกกฎหมายล้างผิดอีกรอบ ซึ่งคราวนี้ ต้องจับตาว่า จะ “เหมายกเข่ง” ได้สำเร็จหรือไม่ เพราะขณะนี้ “กลไกสภาสูง” อยู่ในจังหวะเปลี่ยนขั้ว
ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ฐานะฝ่ายค้าน ไม่อยู่ในสถานะต่อต้านอะไรได้ ส่วน “ก้าวไกล” ฐานะผู้ผลักดัน การล้างผิด ม.112 พร้อมจะยอมให้ “ทักษิณ” ถูกล้างผิดไปพร้อมกับ “มวลชนสีส้ม”.