กลิ่น สว.‘เพื่อพวกพ้อง’ สัญญาณกินรวบ ‘สภาสูง’ ?
“ตั๋วสภาสูง”200ใบ สัญญาณ"ขั้วการเมือง" รุกฆาตนิติบัญญัติ จับตาคำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับเงื่อนไข "เหนือการควบคุม" สัญญาณ “เลื่อน-ล้ม-เลือก” ?
KEY
POINTS
- สัญญาณ"กลุ่มก๊วนการเมือง" โหวตเตอร์ "เพื่อพวกพ้อง" เปิดทางจังหวะก้าวย่างในสภาสูง
- “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” จังหวะตระกูลชินวัตร บทเรียนจาก "สภาผัวเมีย" สู่ "สภาครอบครัว"
- คำวินิฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับเงื่อนไข "เหนือการควบคุม" จับตาสัญญาณ “เลื่อน-ล้ม-เลือก”
ยกแรกศึกชิง “ตั๋วสภาสูง” 200 ใบ ประกาศผลผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอ ไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แน่นอนว่ารายชื่อที่ปรากฎ มีการโฟกัสไปที่บรรดา “บิ๊กเนมการเมือง” รวมไปถึงตัวแทนบ้านใหญ่ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความแนบชิดแอบอิงกับบรรดากลุ่มก๊วนการเมืองแต่ละพรรค ที่เข้าวินยกแรกกันให้พรึ่บ
สว.ชุดใหม่ ที่จะมาจากการคัดสรรในระดับต่างๆ จำนวน 200 คน ถูกจับตาว่าหากถูกการเมืองสีไหน-ขั้วไหน สามารถคุมเสียงในสภาสูงได้ ก็ย่อมถือแต้มต่อในฝ่ายนิติบัญญัติ
มีการประเมินจากบรรดานักวิเคราะห์ว่า การเลือกสว.รอบนี้ ถึงที่สุด จะถูกแบ่งหลักๆ เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มบ้านใหญ่ ที่มีความใกล้ชิดนักการเมือง ที่อาจเกินครึ่งของสภาสูงถึง 60-70%
กลุ่มที่สอง กลุ่มนายทุน ที่อาจยังไม่มีต้นทุนการเมือง แต่หวังสร้างคอนเน็กชั่นปูทางการเมืองหลังจากนี้ และกลุ่มที่สาม กลุ่มนักเคลื่อนไหว ที่อาจมีเพียง 30-40% ที่เหลือ
สอดรับด้วยสัญญาณของบรรดากลุ่มก๊วนการเมืองสีต่างๆ โดยเฉพาะ บรรดาบ้านใหญ่ ต่างฝ่ายต่างวางเครือข่ายด้วยการส่งคนเพื่อสมัครเป็น “โหวตเตอร์” เปิดทางสู่จังหวะก้าวย่างในสภาสูงหลังจากนี้
หนึ่งในชื่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเวลานี้ หนีไม่พ้น “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี สามี เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และเป็นน้องเขยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผ่านเข้ารอบในระดับอำเภอ
แน่นอนว่า จังหวะรุกของคนในตระกูลชินวัตร ในยามที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ย่อมเป็นการตอกย้ำชัดถึงการวางหมากการเมือง
ทั้งการปักธง สว.เชียงใหม่ เพื่อวางรากฐานในสภาสูง อาจฝันไกลไปถึงตำแหน่ง“ผู้นำสภาสูง” ที่จะทำหน้าที่เป็น “รองประธานรัฐสภา”โดยตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญให้ได้ เพราะนั่นหมายถึง การเมืองชอตต่อไป ทั้งสนามเล็กและสนามใหญ่หลังจากนี้
อันที่จริงพรรคเพื่อไทยเอง ก็มีบทเรียนเรื่องเกมในสภาสูงมาแล้ว ย้อนกลับไปไปในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงปลายรัฐบาล ปี 2556 พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลเวลานั้น ได้เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ประเด็นการได้มาของสว. โดยเฉพาะประเด็น “คุณสมบัติของผู้ลงสมัครสมาชิกวุฒิสภาและคุณลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัคร”
ในวาระแรก เพื่อไทยยังคงไว้ซึ่งคุณสมบัติต้องห้าม ทั้งการ“ห้ามไม่ให้บุพการี คู่สมรส บุตรของสส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองลงสมัคร สว.”
ประเด็นถัดมา คือ“ห้ามไม่ให้สมาชิกพรรคการเมือง หรือ สส.ลงสมัคร สว.แต่หากจะลง ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือสส.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีถึงจะลงสมัครได้”
แต่ด้วยยี่ห้อเพื่อไทย ที่ครองเสียงข้างมาในสภาฯในเวลานั้น เมื่อกฎหมายผ่านวาระแรก และเข้าสู่ชั้นคณะกรรมาธิการฯ กลับมีการแก้ไขด้วยการ “ตัดข้อความดังกล่าวออกทั้งหมด”
เมื่อเสียงข้างน้อยไม่อาจทัดทานเสียงข้างมากได้ สุดท้ายต้องมาต่อสู้กันในรัฐสภา ในวาระที่ 2 โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านรวมถึง สว.ในขั้วอนุรักษนิยมเวลานั้น ที่รุมชำแหละไปถึงการเปิดทางไปสู่ “สภาผัวเมีย”
ทว่า ด้วยสถานการณ์การเมืองที่สุกงอม ณ เวลานั้น พรรคเพื่อไทยรู้ดีถึงสัญญาณไม่ชอบมาพากล ในที่สุดจึงยอมถอยประเด็น"สภาผัวเมีย"และคงไว้ซึ่งคุณสมบัติต้องห้าม ตามที่เสนอวาระแรก
11 ปี การเมืองเรื่องสว.วนลูปกลับมา ในวันที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ต้องจับตาจากโมเดล "สภาผัวเมีย" อาจแปรเปลี่ยนเป็น "สภาครอบครัว" เป็นได้
ไม่ต่างจาก“เกมสภาสูง”ที่ถูกช่วงชิงโดยบรรดาพรรคการเมืองสีต่างๆ ต่างฝ่ายต่างส่งสัญญาณรุกฆาต แบบไม่มีใครยอมใคร
แค่ผ่านพ้นยกแรกระดับอำเภอ ต้องจับตายกต่อไประดับจังหวัด ว่าจะมี“อุบัติเหตุ”ระหว่างทางหรือไม่
โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้องวินิจฉัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.จำนวน 4 มาตรา ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ ที่ต้องจับตาผลวินิจฉัย
หากออกมาใน“ทางบวก” กระบวนการต่อจากนี้ ก็จะเดินหน้าสู่โหมดการคัดเลือกระดับจังหวัด ที่จะมีขั้นในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ และไปสู่การคัดเลือกระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิ.ย.
กระทั่งถึงการรับรองผล สว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คนในวันที่ 2 ก.ค.นี้ จะเป็นจังหวะเดียวกันกับที่รัฐสภาเปิดสมัยประชุม
ในทางกลับกัน หากผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาใน“ทางลบ” กระบวนการคัดสรรหลังจากนี้ ก็ย่อมสะดุดหยุุดลง
แม้แต่“แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ที่ดูเหมือนจะยอมรับถึงปัญหาต่างๆ นานาที่เกิดขึ้น จึงส่งข้อความผ่านไลน์ผู้บริหารของสำนักงาน กกต.เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เวิร์ดดิ้งสำคัญอยู่ที่ “เงื่อนไขภายนอก อยู่เหนือการควบคุมของเรา เป็นปัญหาข้อกฎหมายโดยแท้... เราไม่ได้ทำผิดอะไร เป็นปัญหาข้อกฏหมาย”เลขาธิการกกต.ย้ำ
ปัญหา“ข้อกฎหมาย”ที่แสวงระบุ ย่อมหมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสว.ที่กำลังบังคับใช้ และถูกตั้งคำถาม ถึงความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้
จับตา“ตั๋วสภาสูง”200ใบ ที่แม้แต่กกต.ยังยอมรับว่ามีสัญญาณ “เลื่อน(ลาก)-ล้ม-เลือก” อยู่เป็นระยะ