‘เพื่อไทย’ หยุดขาลง ปรับแผนเชิงรุก ‘เศรษฐา’เร่งปลุกศก. ฟื้นเรตติ้ง
สยบภาพคะแนนนิยมรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังไม่เป็นที่พอใจของประชาชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลชิงปรับแผนรุกกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังผ่านการเบิกจ่ายงบฯ -ปลุกพลังการท่องเที่ยว หวังพลิกฟื้นเรตติ้งกลับคืนมา
KEY
POINTS
- รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กำลังเผชิญกระแสความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน สะท้อนผ่าน "นิด้าโพล" ที่ชี้ชัดว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ มีความล่าช้า
- รัฐบาลเศรษฐา ต้องชิงปรับแผนเชิงรุกในการฟื้นเรตติ้งด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งปี 2567
- เร่งเครื่องถก ครม.เศรษฐกิจ - เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี2567 ที่ล่าช้า - ปลุกกระแสการท่องเที่ยวใน 55 จังหวัด คือแผนหลักรัฐบาลในการสร้างรายได้และกระตุ้นกำลังซื้อให้กับประชาชนในห้วงที่ประชาชนประสบปัญหามีรายจ่ายมากกว่ารายได้
- "นายกฯ เศรษฐา" เน้นภาพการเดินสายแสดงอีเวนต์เป็นหลัก ทำให้มีเสียงสะท้อนจากรัฐมนตรีและ สส.ถึงการเดินสายที่เยอะเกินไป แต่ยังไม่เกิดผลงานให้เห็นเด่นชัด
กระแสความพึงพอใจต่อผลงานการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่พอสมควร เพราะแม้จะมีโพลของหน่วยรัฐบาลการันตีว่า ประชาชนพึงพอใจในระดับมาก แต่สำนักโพลชื่อดังอีกแห่ง กลับเสนอผลสำรวจที่ประชาชนยังไม่พึงพอใจ
เห็นได้จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพิ่งสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ.2567 (ครบ 6 เดือน) โดยชี้เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.3 มองว่าพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก
แต่ผลโพลดังกล่าวออกมาตรงข้ามกับ ผลสำรวจของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ภายใต้หัวข้อ “ขอถามบ้าง … 9 เดือน รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา” เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567
เมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ มีความล่าช้า และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม
ขณะที่ร้อยละ 25.19 ค่อนข้างพอใจ เพราะมีความพยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเห็นผลงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น ผลงานยังไม่ชัดเจน แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
แน่นอนว่าปัญหาในขณะนี้คือการที่ประชาชนโดยเฉพาะตามต่างจังหวัดยังมีความยากจน เพราะรายได้ลดลงไม่พอกับรายจ่าย
ผนวกแรงกดทับจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ยังล่าช้า เพราะงบประมาณเพิ่งบังคับใช้ในปีนี้ และโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยังต้องรอช่วงไตรมาสสุดท้าย
ทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ต้องปรับแผนเชิงรุกให้ผลงานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
ด้วยการเร่งรัดนัดประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในทุกวันจันทร์ช่วงบ่าย เพื่อขันน็อตทีมเศรษฐกิจวางแผนและกระชับการทำงานก่อนมีการประชุม ครม.ในทุกวันอังคาร เพื่อให้การประชุมวงใหญ่เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
ล่าสุดนายกฯ ยังประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งรัดการกระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านการมอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด 55 จังหวัด (เมืองน่าเที่ยว) และผู้บริหาร ททท. ส่วนภูมิภาค เพื่อจุดพลังการท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งหลังปี 2567 สู่การเป็น Tourism Hub
โครงการท่องเที่ยว “55 เมืองรอง” ต้องยอมรับว่า เม็ดเงินจากการท่องเที่ยว คือรายได้ที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วที่สุดในเวลานี้
รวมทั้งนายกฯ ยังเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี2567 ที่ล่าช้าให้งบประมาณได้เข้าสู่ระบบ ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อให้เกิดการใช้จ่าย เพื่อเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันจีดีพีของประเทศยังถดถอย
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในระหว่างนี้แล้ว รัฐบาลก็ยังหวังว่า “เงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต” จะมาช่วยทำให้ประชาชนมีการใช้จ่าย จนทำให้ประชาชนเริ่มมองเห็นผลงานของรัฐบาล
ต้องยอมรับว่าที่ผ่าน "นายกฯ นิด" ฟิตไม่รู้จักเหนื่อย เน้นเดินหน้าลงพื้นที่อยู่เป็นระยะ เน้นภาพการเดินสายแสดงอีเวนต์เป็นหลัก ทำให้มีเสียงสะท้อนจากรัฐมนตรีและ สส.ถึงการเดินสายที่เยอะเกินไป แต่ยังไม่เกิดผลงานให้เห็นเด่นชัด
ว่ากันว่ามีเสียงสะท้อนตามจังหวัดที่นายกฯ ลงพื้นที่ไปก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีการหยิบยกเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้ามาเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แผนการลงพื้นที่ของนายกฯ ก็ยังเป็นอีกแผนที่ยังต้องใช้อยู่เช่นเดิม เพราะนายกฯ ต้องลงพื้นที่ไปผลักดันโครงการพระราชดำริ ซึ่งเป็นปีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567
ฝั่งนายกฯ มองคนละมุม สั่งการให้“รัฐมนตรี”เร่งอัดประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลให้มากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน แม้ผลงานจากนโยบายหลักยังไม่ผลิดอกออกผล แต่เน้นย้ำถึงงานเร่งด่วน งานระยะยาว
อาทิ การแก้ปัญหาหนี้สิน หนี้ครัวเรือน ลดหนี้จริง แก้หนี้นอกระบบ งานด้านสังคมแก้ปัญหากัญชา ยาเสพติด การเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวหลายประเทศ การเดินทางไปประชุมต่างประเทศ ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม การปราบปรามผู้มีอิทธิพล และการผลักดันราคาพืชผลทางการเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น
แม้นายกฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล แต่ความคาดหวังของประชาชนคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ที่ผ่านมา 9 เดือนแล้ว แต่ประชาชนยังนึกถึงภาพและผลงานหลักการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ชัดเจน
ยิ่งมาเจอปัญหาเคราะห์ซ้ำจากความเชื่อมั่นจากภาคการลงทุนและเอกชน จากปัญหาทางการเมืองที่นายกฯ ต้องลุ้นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการเดินเกมสอยเก้าอี้นายกฯ ของ 40 สว.
ก็ยิ่งเป็นโจทย์ที่รัฐนาวาเศรษฐา ยิ่งต้องปรับแผนเชิงรุกให้ทันต่อการรับมือวิกฤตของเศรษฐกิจที่มีปัญหาการเมืองเข้าแทรกทุกทิศทางโดยเร็ว