'ไพบูลย์' ยื่นศาลรธน. ฟัน MOU44 ขัดรธน.
"ไพบูลย์" ยื่นศาลรธน. วินิจฉัย MOU2544 ขัดรธน. พร้อมขอให้สั่ง กรมสนธิสัญญา และ กต. เลิกนำไปอ้างแบ่งพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ฐานะประชาชน เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยต่อกรณีการการจัดทำ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU2544) นั้นทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนหรือไม่ กรณีที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ นำ MOU2544 เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งทรัพยากรพลังงานทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา
ทั้งนี้นายไพบูลย์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ตนยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่พบว่าเวลาภายไป 60 วัน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 8 มิ.ย. 2567 ผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่ได้ยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตนจึงใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่ง ดังนี้
1. พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง คือ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ กรณีนำ MOU 2544 ที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและ แบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา เป็นการกระทำละเมิดสิทธิของตน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมาตรา 25 และมาตรา 43 (2)
2. พิจารณาวินิจฉัยว่าMOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก ตามหลักการเรื่องความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฏหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969
3. ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง โดยให้เลิกการนำMOU 2544 ที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา