ยุบพรรค ‘โดมิโน’ การเมือง ‘ก้าวไกล - ภูมิใจไทย’ เหมือนในต่าง ?

ยุบพรรค ‘โดมิโน’ การเมือง  ‘ก้าวไกล - ภูมิใจไทย’ เหมือนในต่าง ?

ถอดรหัส "ก้าวไกล - ภูมิใจไทย" เหมือนในต่าง จับตาฉากทัศน์ยุบพรรค “ทฤษฎีโดมิโน” ล้มกระดาน "ตัวหนึ่งล้ม" ตัวที่เหลืออาจล้มตาม

KEY

POINTS

  • "ก้าวไกล - ภูมิใจไทย" เหมือนในต่าง จับตาฉากทัศน์ยุบพรรค “ทฤษฎีโดมิโน”  ล้มกระดาน
  • “กกต.” พยายามโต้แย้งว่า ทั้ง 2 กรณีถูกร้องเรียนคนละประเด็น ใช้คนละมาตรา
  • “พรรคก้าวไกล”  เทียบเคียง “คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ” ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้ว กรณีดังกล่าวจึงใช้เวลาเพียง 1 เดือน
  • หนทางของพรรคภูมิใจไทย ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ยังต้องลุ้นปลายทางอีกหลายขยัก  “โอกาสรอด” ก็ยังมี “โอกาสเพลี่ยงพล้ำ” ก็ยังประมาทไม่ได้เช่นเดียวกัน

คดียุบพรรคก้าวไกล หนึ่งในทฤษฎี “3 ล้ม” ต้องจับตาหลังวันที่18 มิ.ย.67 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณา หลังมีคำสั่งให้ กกต.ในฐานะผู้ร้องยื่นบัญชีพยานหลักฐานเพิ่มเติม

ต้องลุ้นกันว่า วันดังกล่าวศาลจะเปิดให้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน หรือไต่สวนเพิ่มเติมตามที่พรรคก้าวไกลร้องขอหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ก้าวไกลหยิบยกมาสู้ นั่นคือ การยื่นยุบพรรคของ กกต.ที่อาจผิดขั้นตอน

ทว่า หากเป็นอีกแนวทางคือ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่มีเพียงพอต่อการวินิจฉัย ก็จะนัดวันเพื่อให้ 2 ฝ่ายฟังคำวินิจฉัยในทันที

สัญญาณเวลานี้ หลายฝ่ายจับตาว่าฉากทัศน์ยุบพรรคก้าวไกลอาจเกิดขึ้นในเร็ววัน หากเป็นไปในทางลบ ย่อมส่งผลไปถึง “โดมิโนการเมือง” ต่อจากนี้อย่างแน่นอน

ยุบพรรค ‘โดมิโน’ การเมือง  ‘ก้าวไกล - ภูมิใจไทย’ เหมือนในต่าง ?

 

เหมือน - ต่าง 2 มาตรฐานยุบพรรค "ก้าวไกล-ภูมิใจไทย"?

ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็น “ยุบพรรคก้าวไกล” มีการตั้งข้อสังเกต เปรียบเทียบความ “เหมือน-ต่าง” กับกรณียุบ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในคดี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และอดีต รมว.คมนาคม ถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมิชอบ ลามไปถึงดาบสองนั่นคือ การยื่น “ยุบพรรคภูมิใจไทย" จากกรณีรับเงินบริจาคจาก หจก.บุรีเจริญฯ

ประเด็นนี้ “กกต.” พยายามโต้แย้งว่า ทั้ง 2 กรณีถูกร้องเรียนคนละประเด็น ใช้คนละมาตรา

ในส่วนของ “พรรคก้าวไกล” ใช้มาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เทียบเคียง “คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ” ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้ว กรณีดังกล่าวจึงใช้เวลาเพียง 1 เดือนในการวินิจฉัยยุบพรรค

แต่ในกรณีของ “พรรคภูมิใจไทย”จะใช้ มาตรา 93 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.ต้องเป็นผู้รวบรวบพยานหลักฐานเอง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 วัน หรือมากกว่านั้น หากเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ

ยุบพรรค ‘โดมิโน’ การเมือง  ‘ก้าวไกล - ภูมิใจไทย’ เหมือนในต่าง ?

3 องค์ประกอบชี้ชะตา "พรรคสีน้ำเงิน"

สิ่งที่ กกต.พยายามอธิบายคือ การจะถูกยุบในกรณีของพรรคภูมิใจไทยนั้น จะมีอยู่ 3 องค์ประกอบ หากเข้าข้อใดข้อหนึ่ง ก็สามารถถูกยุบได้ คือ

1.วิธีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน

2.คนให้ไม่มีคุณสมบัติ หรือคุณสมบัติต้องห้าม

3.ที่มาของเงินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของพรรคภูมิใจไทยคือ 1. เรื่องที่มาของเงิน ซึ่งการบริจาคเงินนั้นกฎหมายไม่ได้ห้าม 2.คุณสมบัติของผู้ให้ กรณีนี้ต้องแยกกับข้อกล่าวหาเรื่องการอำพรางหุ้นออกจากกัน เพราะข้อนี้จะดูถึงการเป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งบริษัทก็จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่ามีคุณสมบัติสามารถบริจาคเงินได้

3.ที่มาของเงิน ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ กกต.ไม่ได้ มีหน้าที่ในการชี้ว่า เงินนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ คนที่มีอำนาจชี้ตรงนี้ได้คือ ศาล  สำนักงานป.ป.ง. สำนักงาน ป.ป.ส.เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นเงินบริจาคของ “พรรคภูมิใจไทย” มีการเทียบเคียงกับกรณีเงินบริจาค “พรรคพลังประชารัฐ” ประเด็นความเชื่อมโยงกับทุนสีเทา ซึ่งมีการถามไปยัง ป.ป.ง. แต่ดูเหมือนจนถึงขณะนี้ เรื่องยังเงียบสนิท

ส่วน “ภูมิใจไทย” ก็พยายามหยิบยกความผิดเฉพาะตัวบุคคล

โดยเฉพาะ ความเห็นของ “ศุภชัย ใจสมุทร” ซึ่งเป็นมือกฎหมายพรรค เคยให้ความเห็นไว้ว่า กรณีของ “ศักดิ์สยาม” เป็นเพียงเรื่องการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี ไม่ได้ร้องสอบในตำแหน่งเลขาธิการพรรค จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค

เปรียบเทียบกับกรณีการถือหุ้นสหกรณ์ของ “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี หรือคดีซุกหุ้นของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในอดีต

หากตีความเช่นนี้ ร้ายแรงที่สุด ก็แค่ความผิดเฉพาะตัวบุคคลคือ “ศักดิ์สยาม” คนเดียวเท่านั้น

ยุบพรรค ‘โดมิโน’ การเมือง  ‘ก้าวไกล - ภูมิใจไทย’ เหมือนในต่าง ?

หจก.บุรีเจริญฯ ซุกหุ้น - เงินบริจาค? 

เมื่อช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต.กล่าวถึงความคืบหน้าคดียุบพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นคำร้องตั้งแต่กลางปี 2566 และ มีอีก 4 คำร้องในทำนองเดียวกัน แต่ละกระบวนการต้องใช้เวลา

โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ตั้งคณะตรวจสอบข้อเท็จ และหาพยานหลักฐานแล้ว ซึ่งการดำเนินการต้องสอบผู้ร้อง และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐาน คาดว่าน่าจะชัดเจนในเดือนพ.ค. แต่ ณ เวลานี้ กระบวนการยังคงค้างอยู่ใน กกต.

นาทีนี้สิ่งที่ภูมิใจไทยต้องลุ้นคือ ข้อมูลหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ที่จะชี้ขาดว่า เงินจากหจก.บุรีเจริญฯ ที่บริจาคให้พรรคภูมิใจไทยเป็นเงินที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

หากเป็นไปในทางบวก โอกาสที่ภูมิใจไทยจะรอดจากบ่วงยุบพรรคก็มีสูง

 หากถึงที่สุด ผลเป็นไปในทางลบ คือ เงินบริจาคที่ หจก.บุรีเจริญฯ บริจาคให้พรรคภูมิใจไทย “มิชอบด้วยกฎหมาย” แน่นอนว่า สิ่งที่จะตามมาคือ ฉากทัศน์ในการยื่นยุบพรรค พ่วงด้วยดาบสอง ดาบสาม ในคดีอื่นๆ ที่จะตามมาหลังจากนี้

 ต้องไม่ลืมว่า กรณีเงินบริจาคพรรคภูมิใจไทย ยังถูกเปรียบเทียบกับกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท ที่ถูกตีความว่าเป็นเงินบริจาค หรือประโยชน์อื่นใด ที่ต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง รวมทั้งฝ่าฝืนมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นเหตุให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

ฉะนั้น หนทางของพรรคภูมิใจไทย ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ยังต้องลุ้นปลายทางอีกหลายขยัก  “โอกาสรอด” ก็ยังมี “โอกาสเพลี่ยงพล้ำ” ก็ยังประมาทไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ยุบพรรค ‘โดมิโน’ การเมือง  ‘ก้าวไกล - ภูมิใจไทย’ เหมือนในต่าง ?

คดียุบพรรค ทฤษฎี "โดมิโน" ล้มกระดาน

 ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ่วงยุบพรรคไม่ว่าจะเป็นกรณีของ “ก้าวไกล” หรือ “ภูมิใจไทย” ที่กำลังดำเนินอยู่ใน “กระดานการเมือง” เวลานี้ เปรียบเสมือนเป็น “โดมิโน” หากตัวหนึ่งล้ม นั่นย่อมส่งผลไปถึงตัวอื่นๆ ที่จะล้มทั้งกระดานตามไปด้วย

โดยเฉพาะภูมิใจไทย เวลานี้อยู่ในสถานะพรรคลำดับสองในขั้วรัฐบาล  บ่วงร้อนที่กำลังค้างคาอยู่ ณ เวลานี้ ย่อมส่งผลไปถึงเกมชิงไหวชิงพริบ รวมถึงการสร้างอำนาจต่อรองในขั้วรัฐบาล

หากผลเป็นบวก 70 เสียงในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลลำดับที่สอง ย่อมถือแต้มต่อสูงเป็นธรรมดา แต่หากเป็นไปในทางลบ นั่นหมายถึงดุลอำนาจในกระดานการเมืองจะเปลี่ยนไปทันที

สถานการณ์ในค่ายสีน้ำเงิน ที่ดูเผินๆ เหมือนคลื่นลมจะยังคงสงบนิ่ง แต่แกนนำย่อมรู้ดีถึงสถานการณ์ที่อาจออกได้ทั้งสองหน้า

ตอกย้ำชัดถึงการเตรียมการผ่องถ่ายอำนาจ ดันแกนนำรุ่น 3 ให้เข้ามามีบทบาทในฐานะแกนนำพรรคมากขึ้น ไม่ต่างจากกลุ่มทุนที่ไล่เช็กสัญญาณอยู่เป็นระยะ

หรือแม้แต่สถานะของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เวลานี้แน่นอนว่า “ขั้วอนุรักษนิยม” ยังต้องกอดคอ สวมบทมีเราไม่มีก้าวไกล 

สัญญาณพลิกขั้วคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่เกมชิงไหวชิงพริบในขั้วรัฐบาลก็ปรากฏให้เป็นระยะ ยกตัวอย่างปมกัญชาที่ยังสะท้อนภาพที่เป็นไปในคนละทิศละทาง ระหว่าง “พรรคแกนนำ” และ “พรรคที่เสนอนโยบาย”

ยังต้องลุ้นกันอีกหลายฉาก โดยเฉพาะคดียุบพรรคที่จะเป็นจุดเปลี่ยนใน “กระดานการเมือง” ต่อจากนี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์