4 คดีการเมือง ทุบ 'หุ้น-เศรษฐกิจ' ทรุด

4 คดีการเมือง ทุบ 'หุ้น-เศรษฐกิจ' ทรุด

ในจังหวะที่ “ทุนใหญ่” ทั่วโลกต่างพยายามย้ายฐานการผลิต ย้ายฐานธุรกิจมาทำตลาดในประเทศ ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านการศึกสงคราม แต่ประเทศไทยกลับไม่สามารถใช้โอกาสทองแบบนี้คว้าเอาไว้ได้ มันน่าเสียดาย

วันนี้จะมีความคืบหน้าของ กระบวนการการพิจารณาหรือวินิจฉัย 4 คดีทางการเมือง ได้แก่

1. ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดี 40 สว.ยื่นถอดถอน นายกฯเศรษฐา

2. ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณา ”คดียุบก้าวไกล

3. อัยการนัดนำตัว อดีตนายกฯ ทักษิณ ส่งฟ้องศาลคดี ม.112

และ 4. ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ขาด คำร้องพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

เป็น 4 คดีการเมืองที่กำลังกลายเป็น “เรื่องใหญ่” ทุบความเชื่อมั่นนักลงทุน ประชาชน ประเทศ จนทำให้เศรษฐกิจที่วิกฤติอยู่แล้วทรุดหนักลงไปอีก

ไม่ว่าทั้ง 4 คดีจะมีผลตัดสินออกมาในทิศทางไหน ล้วนส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในระยะข้างหน้า ขนาดที่วานนี้ (17 มิ.ย.) ตลาดหุ้นไทยก็ส่งสัญญาณลบให้เห็นกันไปแล้ว "หุ้นร่วง" หลุดไปถึง 1,300 จุด’ นับว่าเป็นการร่วงลงต่ำสุดในรอบหลายปี 

ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา กดดันให้เงินทุนต่างชาติไหลออก 17 วันติดต่อกัน รวมมูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท นับเป็นสัญญาณร้ายที่สะท้อนออกมาแรง ๆ เตือนเศรษฐกิจไทยว่ากำลังอาการหนักต่อปัจจัยลบในประเทศโดยเฉพาะบรรยากาศการเมือง 

นักลงทุนต่างชาติ มักไม่ค่อยชอบลงทุนในประเทศที่การเมืองไม่นิ่ง บรรยากาศการลงทุนไม่เอื้อ นั่นจึงไม่แปลกที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทุนใหญ่ๆ ระดับโลกจึงมองข้ามประเทศไทยไปอย่างน่าเสียดาย

แม้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะพยายามออกแรงแปลงกายเป็นเซลล์แมนไปขายไอเดียประเทศถึงเมืองนอก แต่ถ้าเทียบเม็ดเงินลงทุนที่ปรากฏอย่างชัดเจน ประเทศเพื่อนบ้านวิ่งออกนำหน้าเราไปไกลแล้ว 

เมื่อบรรยากาศในบ้านไม่ดี ก็ส่งผลกระทบลุกลามไปยังภาคเศรษฐกิจ มู้ดการจับจ่ายใช้สอยที่ฝืดเคืองอยู่แล้ว ยิ่งหนักขึ้น แถมด้วยการถูกแย่งตลาดจาก “ทุนจีน” ที่ขนสินค้าเข้ามาขายในประเทศด้วยราคาที่ถูกแสนถูก ทำเอาผู้ประกอบการไทยรวมถึงรัฐบาลไทย “ไปไม่เป็น” นั่งมองตากันปริบๆ หามาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันอย่างลกๆลนๆ ยังไม่นับรวมถึงภาพใหญ่ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่นับวันยิ่งแย่ลง 

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็รั้งท้าย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็น้อยหรือที่มีอยู่ก็ไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลก การไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศหดหาย โดยเฉพาะการลงทุนของภาคธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะช่วยยกระดับความสามารถแข่งขันประเทศก็มีไม่มากพอ

ในจังหวะที่ “ทุนใหญ่” ทั่วโลกต่างพยายามย้ายฐานการผลิต ย้ายฐานธุรกิจมาทำตลาดในประเทศ ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านการศึกสงคราม แต่ประเทศไทยกลับไม่สามารถใช้โอกาสทองแบบนี้คว้าเอาไว้ได้ มันน่าเสียดาย ..