ย้อนรอย 4 ปี 2 รัฐบาล ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภา

ย้อนรอย 4 ปี 2 รัฐบาล ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภา

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อสิทธิ คนรักเพศเดียวกัน ได้เท่าเทียมกับ คู่รัก ชาย-หญิง ต้องฝ่าด่านการเมืองในสภา เจอแทกติกเตะถ่วง นับเวลารวม4ปี ผ่าน2รัฐบาล ก่อนผ่านทั้ง2สภา

KEY

POINTS

  • กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้ฉลอง Pride month แบบเรียกว่า เฉลิมฉลอง หลัง ร่างแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านทั้ง2สภา
  • ระยะทางกว่าจะมาถึงวันที่คอย เมื่อ 18 มิ.ย.  ต้องรอนานถึง 4 ปี และเปลี่ยนผ่าน2 รัฐบาล
  • จุดเริ่มเรื่อง คือ การเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดย "พรรคก้าวไกล" ทว่าในห้วงแรกต้องเผชิญกับแทกติกของกฎหมายเตะถ่วง
  • ก่อนถูกทิ้งให้รอ จน สภาฯ ชุดที่25 หมดวาระ
  • และมาเร่ิมใหม่ ในสภาฯ ชุดปัจจุบัน ด้วยความเหมาะสมของสถานการณ์ทำให้ 2สภา ผ่านร่างกฎหมายนี้จนได้ ไร้อุปสรรคขัดขวาง

บันทึกประวัติศาสตร์ไทย ที่ผลักดัน “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ได้สำเร็จ และเป็นประเทศแรกของอาเซียนที่มีกติกาสำหรับ “บุคคล” ที่เป็นเพศเดียวกัน มีกติกาครองคู่ และได้สิทธิอย่างคู่สมรส “ชาย-หญิง”

ทว่า กว่าจะมาถึงวันที่ “กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ได้ฉลอง “Pride month” ที่เรียกว่าเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จจริงๆ มีเส้นทางที่ต้อง “ฝ่าฟันอุปสรรค” ไม่เฉพาะ การทำความเข้าใจกับสังคม แต่ยังมี แง่มุมที่ต้อง “ต่อสู้” กับกลไกของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ”

ปฐมบทของเรื่อง เริ่มจาก “พรรคก้าวไกล” โดย “ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์” สส.บัญชีรายชื่อ พร้อมคณะ เสนอร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ เมื่อ 18 มิ.ย. 2563 คือ 4 ปีที่แล้ว ต่อสภาฯ ชุดที่ 25 ที่มี “ชวน หลีกภัย” เป็นประธานสภาฯ

ย้อนรอย 4 ปี 2 รัฐบาล ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภา ตอนนั้นถือเป็นประเด็นที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ และมองว่า เป็นเพียงการแก้ไขร่างกฎหมาย เหมือนกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ทั้งที่ในเนื้อหาแล้ว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการใหญ่ ที่เป็นหัวใจ ของการได้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายและ “คู่ชีวิตเพศเดียวกัน”

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้เดินตามขั้นตอน เมื่อเสนอต่อสภาฯ และผ่านการตรวจสอบโดย สำนักงานเลขาธิการสภาฯ แล้ว คือ การนำไปรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ผ่านเว็บไซต์ของสภาโดยมีช่วงเวลาฟังความเห็น 2 ก.ค. - 6 ส.ค.2563 มีผู้แสดงความเห็น 54,445 ราย จากยอดที่มีคนเข้าไปดูรายละเอียด ที่มียอดสูงถึง 1.24 ล้านราย

กับประเด็นที่รับฟังความเห็น พบว่าในประเด็นที่ตั้งถาม มีทั้งคนที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย พร้อมกับมีข้อสังเกต ที่นำไปสู่การปรับปรุงร่างกฎหมายในเวลาต่อมา อาทิ ให้ “เพศเดียวกัน” หมั้นกัน สมรสกันได้หรือไม่ แก้ไขบุคคลที่จะสมรสกันได้ ต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป จากกฎหมายเดิมกำหนดที่อายุ 20 ปี รวมถึงแก้ไขให้คู่สมรส เพศเดียวกัน และต่างเพศมีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนสิทธิ หน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา

ย้อนรอย 4 ปี 2 รัฐบาล ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภา สำหรับการฟังเสียงสังคมที่ไม่เห็นด้วย เพราะมีความเชื่อตามศาสนา ที่คู่สมรส คือ ระหว่าง ชายกับหญิง เท่านั้น รวมถึง ให้คงอายุ 20ปีขึ้นไปที่สมรสได้ เพราะถือว่าบรรลุนิติภาวะ พ้นภาระทางทหาร พ้นภาระทางการศึกษาแล้ว เป็นต้น

และเมื่อผ่านการรับฟังความเห็นแล้ว ได้บรรจุเข้าสู่วาระขอสภาฯ เมื่อ 25 พ.ย. 2563 ทว่ากว่าจะถูกยกมาพิจารณาวาระแรกได้ ต้องรอนานถึง 1 ปี 3 เดือน โดยเมื่อ 9 ก.พ. 2565 สภาฯได้พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยขณะนั้น “ธัญวัจน์” และ สส.ก้าวไกล ทราบดีว่า “เส้นทางนี้ยังผ่านไม่ได้โดยง่าย”

เพราะรัฐบาลยุคนั้น ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ ใช้แทกติกของกฎหมาย “ขอรับร่างกฎหมายไปพิจารณาก่อนรับหลักการ โดยขอใช้เวลา 60 วัน” ในนาทีนั้น “สส.ก้าวไกล” รู้ทันทีว่า รัฐบาลใช้วิธีนี้เพื่อปัดตก

แม้ “ก้าวไกล” จะยืนยันให้ เดินหน้าโหวต แต่ด้วยความเป็นเสียงข้างน้อย ทำให้ต้องยอมให้ “รัฐบาล” อุ้มไปดองไว้ 4 เดือน 6 วัน ก่อนจะส่งสัญญาณให้ “สส.รัฐบาล” โหวตคว่ำ สมรสเท่าเทียมของก้าวไกล

ขณะเดียวกันในห้วง 4 เดือนนั้น รัฐบาลได้เตรียมแผน แก้เกม “สมรสเท่าเทียม” ที่ ภาคสังคมขณะนั้นรณรงค์เรียกร้องให้ “รัฐบาล” สนองตอบ ด้วยการให้ “กระทรวงยุติธรรม” เขียน กฎหมายคู่ชีวิต ขึ้นมา 1 ฉบับ ขณะที่ ครม. ยังได้จัดทำ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของตัวเอง ประกบ นอกจากนั้นยังมี “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ตื่นตัวสนับสนุน เสนอร่างกฎหมายคู่ชีวิต เข้าสภา เพื่อไม่ให้ตกขบวน

ทว่า เกมสภาฯ ที่ “เสียงข้างมาก” ได้เปรียบ พยายามปัดตก ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ แยกลงมติทีละฉบับ ทั้งที่ตามแนวปฏิบัติปกติ หากร่างกฎหมายฉบับใดที่มีหลักการและเหตุผลทำนองเดียวกันจะลงมติรับหลักการรวม ทำให้ พลังสังคม ต้องออกเสียงกดดันสภาฯ จนทำให้ “สภาฯ” ลงมติรับหลักการ ทั้งหมด

ย้อนรอย 4 ปี 2 รัฐบาล ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภา จากนั้นได้ตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณา ก่อนส่งฉบับที่แก้ไขให้สภาฯ เมื่อ 3 พ.ย.2565 พร้อมๆ กับ ร่างกฎหมายคู่ชีวิต และได้รับการบรรจุในวาระ เมื่อ 7 ธ.ค.2565 ทั้งนี้เป็นช่วงปลายสมัยสภาฯ ชุดที่ 25 และขณะนั้นมีประเด็นการเมืองในสภาฯ ที่พยายามยื้อกฎหมายกัญชา กัญชง ทำให้ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” ไม่มีโอกาสพิจารณาในสภาฯ ได้ทันจนมีการเลือกตั้ง เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เป็น “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย”

ความพยายามเรื่องนี้ “ธัญวัจน์” นับหนึ่งส่งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาฯ อีกครั้ง ช่วงกลางปี2566 และต้องทำขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง และ ส่งให้สภาฯ บรรจุวาระและรับพิจารณาเมื่อ 21 ธ.ค.2566

ย้อนรอย 4 ปี 2 รัฐบาล ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภา

โดยรอบนี้ “รัฐบาล” ที่เปลี่ยนขั้ว และมีนโยบายหาเสียง สนับสนุน “สมรสเท่าเทียม” ทำให้ไม่ถูกแทกติกของกฎหมายสกัด เช่นเดียวกันกับได้แรงหนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ ภาคประชาชน  ทำให้วาระพิจารณาผ่านไปได้ จนเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ​และได้ “ไฟเขียว” เมื่อ 27 มี.ค.2567 ด้วยเสียงเห็นชอบ 400 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง

จากนั้นถูกส่งต่อไปยัง “วุฒิสภา” ให้พิจารณาตรวจทาน และทำตามขั้นตอนของกฎหมาย จนในที่สุด “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อ 18 มิ.ย.2567

ย้อนรอย 4 ปี 2 รัฐบาล ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านสภา รวมระยะเวลาเดินทาง 4 ปีเต็ม นับจากวันที่ยื่นต่อสภาฯ เมื่อ 18 มิ.ย.2563 ในช่วง 2 รัฐบาล และนับจากนี้จะเป็นขั้นตอน รอการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการต่อไป.