'วิโรจน์' สับ งบกลาโหม ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ความมั่นคง

'วิโรจน์' สับ งบกลาโหม ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ความมั่นคง

"สส.ก้าวไกล" ชำแหละ งบกลาโหม จัดสรรไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ความมั่นคง-ปัญหาชายแดน ย้ำฝ่ายค้านไม่รับหลักการร่างกม.งบ68

ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระแรก วันที่สอง ถึงงบของกระทรวงกลาโหม ว่า ปี 68 ได้รับงบเพิ่มขึ้น ถึง 2,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับบริบทของความมั่นคงที่ไทยเผชิญ แม้ว่างบบุคลากรจะลดลง แต่เป็นการลดลงตามธรรมชาติ จากการควบรวมหน่วยงานของกองทัพไม่ใช่เกิดจากความพยายามของรัฐมนตรี และแทนที่รัฐมนตรีฯ จะใช้โอกาสดังกล่าว ให้กองทัพอยู่ภายใต้พลเรือน เร่งควบรวมหน่วยงานต่าง ๆ หรือปิดอัตราบรรจุ เพื่อไม่ให้มีการบรรจุใหม่ กลับไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างใด ๆ ส่วนงบที่ลดนั้น พบว่าลดเพียง 34 ล้านบาท เพื่อป้องกันฝ่ายค้านด่าเท่านั้น

นายวิโรจน์ อภิปรายต่อว่า สำหรับรายจ่ายลงทุนของกระทรวงกลาโหมอยู่ในอัตราที่ต่ำอย่างน่าเป็นห่วง ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 พบอัตรารายจ่ายการลงทุน อยู่ที่ 17.67% โดยกองทัพบกต่ำที่สุด 4.89% ทั้งนี้นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ระดมเปิดใบสั่งซื้อช่วงท้ายปีงบประมาณ โดยมีกระแสข่าวว่า ที่ล่าช้า เพราะต้องใช้เวลาในการเรียกรับเงินทอนจากบริษัทโบรคเกอร์ แต่ไม่ยอมสั่งซื้อยานเกราะจากผู้ผลิตในประเทศที่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีสำรองเงินทอน

นายวิโรจน์ อภิปรายถึงการดูแลความมั่นคงชายแดนไทย-เมียนมาว่า กองทัพบก ยังให้ความสำคัญกับการใช้โดรนต่ำมาก แม้จะมีการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2568 ก็แค่ 10 ตัว ส่วนระบบแอนตี้โดรน ของฝ่ายตรงข้าม มีงบประมาณสนับสนุนเล็กน้อยแค่ 540 ล้าน สะท้อนการประเมินสถานการณ์ต่ำ และล้าหลัง ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประเมิน

"แม้ รมว.จะออกมาท้าเพิ่มงบจัดซื้อ ก็จะเจอปัญหาอื่น เพราะกรมยุทธการทหารบก ก็ไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการใช้โดรนที่ครอบคลุม ทั้งเชิงยุทธการ การพลีชีพ และการติดอาวุธ มีเพียงการลาดตระเวนเท่านั้น และไม่มีการเพิ่มทักษะให้กับกำลังพลใด ๆ ด้วย ซึ่งยังไม่นับรวมปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่มีปัญหาคล้ายกัน แต่กลับไม่มีการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อปราบปรามยาเสพติด และการค้าของเถื่อน" นายวิโรจน์ อภิปราย

นายวิโรจน์ อภิปรายด้วยว่าค่าใช้จ่ายในการฝึกศึกษาทางการทหาร ที่ปี 2568 นี้ ได้งบประมาณเพิ่ม 582 ล้านบาทว่า ทั้งที่ยอดการเกณฑ์ทหารลดลง  ส่วนค่าใช้จ่ายสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุง และผลิตเพื่อแจกจ่ายของกองทัพบก ปี 2568 ได้รับเพิ่ม 1,286 ล้านบาท ซึ่งงบดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตทุกปีงบประมาณ ที่มีอัตราการเบิกจ่ายต่ำ และมักถูกโยกไปเบิกจ่ายซื้ออาวุธประเภทอื่น  ตนขอให้กรรมาธิการ พิจารณางบประมาณดังกล่าวอย่างเข้มงวดด้วย 

นายวิโรจน์ อภิปรายถึงงบประมาณผูกพันการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 ที่มีวงเงินสูงถึง 19,500 ล้านบาท สูงที่สุดในงบกองทัพ เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยเรียกร้องให้การจัดซื้อ จะต้องคำนึงถึงนโยบายการชดเชยที่ทำให้ประชาชน ได้ประโยชน์ร่วมด้วย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่นำเงินไปซื้ออย่างเดียว

"การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่คำนึงบริบทความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทำให้เชื่อได้ว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมในปี 2568 จะสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติ และประชาชนได้ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพื่อให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือน ทั้งนี้งบปี 2568 ไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ รัฐมนตรี เป็นเพียงหุ่นเชิด เป็นโฆษกของกองทัพ ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงไม่อาจรับหลักการร่างงบประมาณฯ ฉบับนี้ได้" นายวิโรจน์ อภิปราย