92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 1)

92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 1)

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ แสดงความเห็นเนื่องในโอกาสครบรอบ 92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

KEY

POINTS

  • รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความเห็นเนื่องในโอกาสครบรอบ 92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 
  • การประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตย ณ เวลานี้ รอดพ้นจากการรัฐประหารให้ได้เสียก่อน และไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกในประเทศไทย
  • จากผลการเลือกตั้งเบื้องต้น คาดว่าองค์ประกอบของวุฒิสภาเปลี่ยนแปลงไปและผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่วุฒิสมาชิกชุดใหม่จะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีจุดยืนประชาธิปไตย
  • หมายเหตุ Key points สรุปจากกองบรรณาธิการ

ในปีนี้เช่นเดียวกับทุกปี ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานทางวิชาการ เพื่อเป็นการรำลึกถึง ความเสียสละ ความกล้าหาญ การเสี่ยงชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

งานเสวนาทางวิชาการปีนี้ จัดงานที่ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2567 เวลา 13.30-17.00 น.  

เราชาวไทยต้องการแสวงหาความคิดและแนวทางในการสร้างความเป็นเอกภาพให้กับ “ขบวนการประชาธิปไตย” เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าสู่การปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ภารกิจเฉพาะหน้า คือ การประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตย ณ เวลานี้ รอดพ้นจากการรัฐประหารให้ได้เสียก่อน และไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกในประเทศไทย

นั่นก็คือ รัฐบาลต้องบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการลุแก่อำนาจหรือดำเนินการใดๆ ที่ผิดหลักการผิดกฎหมายอันชอบธรรม

ประการต่อมา ต้องสามัคคีพลังทั้งหมดของ “ขบวนการประชาธิปไตย” ในการผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญ” ฉบับของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน บนหลักการประชาธิปไตย และ สร้างสรรค์ ค่านิยมประชาธิปไตย และ ค่านิยมสันติธรรม ให้หยั่งรากลึกไปยังทุกพื้นที่ของประเทศ ทุกครอบครัวของสังคมไทย  

หลังจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. หมดวาระลงและจัดให้มีระบบการเลือกตั้งกันเองเพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่แล้ว จากผลการเลือกตั้งเบื้องต้น คาดว่าองค์ประกอบของวุฒิสภาเปลี่ยนแปลงไป และผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่วุฒิสมาชิกชุดใหม่จะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีจุดยืนประชาธิปไตย

มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และดำเนินการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชนมากกว่าทำตามใบสั่งของผู้มีอำนาจ คาดว่าน่าจะมีเสียงมากพอที่จะร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนได้

ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องระหว่าง ขั้วรัฐประหารและขั้วความคิดอนุรักษ์อำนาจนิยมขวาจัด กับ ขั้วฝ่ายประชาธิปไตย เสรีนิยมและความคิดก้าวหน้า

92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 1)

หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนรูปไปมีความซับซ้อนมากขึ้นและพัฒนาการของประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไป 

ทั้งสองขั้วต้องการดึงมวลชนมาเป็นฐานการสนับสนุน มีการใช้การสื่อสารแบบเลือกข้างทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอย่างต่อเนื่อง แม้นความรุนแรงจะลดระดับลงเมื่อเทียบกับช่วงความขัดแย้งเหลืองแดงและช่วง กปปส. 

การเมืองบนท้องถนน การเมืองปลุกระดมมวลชนอย่างบ้าคลั่ง ได้เคลื่อนย้ายมาสู่การต่อสู้กันในกลไกรัฐสภามากขึ้น แต่ “นิติสงคราม” ยังดำรงอยู่และมีการใช้ “องค์กรอิสระ” และ “ตุลาการ” จัดการขั้วอำนาจตรงข้ามของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอนุรักษ์นิยมขวาจัดต่อไป  

การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้าและเกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) จำเป็นต้องมีระบบสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง

ประชาชนเลือกผู้แทนผ่านระบบพรรคการเมือง เพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศผ่านนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่พรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ ผู้ได้รับเลือกตั้งจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร และในบางประเทศจะมีกระบวนการเลือกตั้งผู้ทำหน้าที่ทางด้านตุลาการ

สิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมพรรคการเมืองได้รับการรับรองไว้ในระดับสากล คือ มาตรา 20 ของคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมและสมาคมโดยสันติ”

92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 1)

ในกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) รับรองสิทธินี้ไว้เช่นกันในมาตรา 22 “บุคคลย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการสมาคมกับผู้อื่น รวมถึงสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเอง

การจำกัดสิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุขหรือศีลธรรมของประชาชน หรือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ปัจจัยชี้ขาด พลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เคลื่อนย้ายจากผู้นำกองทัพ (การรัฐประหาร) มาที่ อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ เสียงและอำนาจประชาชนยังคงเป็นเพียงส่วนประกอบให้ดูเหมือนว่า ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

ปีที่ 92 ของประชาธิปไตยไทย ภารกิจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ ทำอย่างไรให้ “เสียงของประชาชน” มีความหมาย ทำอย่างไรให้ “ประชาชนส่วนใหญ่” เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผู้กำหนดทิศทางประเทศเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจกลุ่มเล็กๆไม่กี่คนที่ไปทำ “ดีลต่างๆ” โดยประชาชนเจ้าของประเทศไม่ได้มีความหมายอะไร    

 การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองและภาคชนบทไทย พัฒนาการทางประชาธิปไตยไทยได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มาได้ระยะหนึ่ง ประชาชนยากจนในชนบทที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ และมักถูกซื้อด้วยเงินเวลาเลือกตั้งได้เปลี่ยนไปแล้ว

การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยที่นำเสนอนโยบายให้คนชนบท ทำให้การเมืองไทยเป็นเรื่องการแข่งขันทางนโยบายมากขึ้น และสิ่งนี้ได้ดำเนินต่อเนื่องมายังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 ปี พ.ศ. 2562 และ ปี พ.ศ. 2566 พรรคการเมืองต่างๆต่างแข่งขันกันในทางนโยบายเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

นโยบายที่นำเสนอมีทั้งที่ออกแนวนโยบายประชานิยมและเป็นนโยบายสาธารณะทั่วไป นโยบายกองทุนหมู่บ้านมีส่วนในการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้านโดยเฉพาะชุมชนที่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน

การเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประชาธิปไตยมีความมั่นคงแล้ว  ในกรณีของไทยมีการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนยังไม่มีอำนาจอย่างชัดเจน และถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยอำนาจขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ

92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 1)

ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้มักมาจากแต่งตั้งของอำนาจคณะรัฐประหาร ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึงสองครั้ง และ ยังมีกลุ่มการเมืองที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายครั้งจากความผิดผลาดในการบริหารประเทศ

การทุจริตคอร์รัปชันหรือกล่าวหาว่านโยบายของรัฐบาลสร้างความเสียหายต่อประเทศ ประเทศไทยไม่ได้สร้างวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองให้ Democracy is the only game in town อันเป็นกรณีที่สังคมและประชาชนทั้งหมดเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นในบริบทหรือในวิถีของประชาธิปไตย

ซึ่งรวมถึงกลุ่มการเมืองในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศต้องยึดถือวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครอง โดยกฎหมายที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่านั้น

พัฒนาการทางการเมืองที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น จะต้องไม่มีพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล กลุ่มการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในกองทัพพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) 

ประชานิยมของหลายพรรคการเมืองที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้เกิดความเป็นสถาบันของประชาธิปไตย และผลของนโยบายประชานิยมไม่ชัดเจนว่าทำให้เสรีประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือไม่ในประเทศไทย

แต่ “ประชานิยม” ได้สร้างสภาวะทางการเมืองที่เสียงของประชาชนฐานรากส่วนใหญ่มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดนโยบาย อีกด้านหนึ่ง นโยบายประชานิยมได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าละเมิดต่อกรอบวินัยการเงินการคลังและอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้

92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 1)

โดยข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้ถูกใช้ในกระบวนการหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตยไทยด้วยเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2557 

เมื่อคณะรัฐประหารได้เข้ามาปกครองประเทศและมีการยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวที่ถูกกล่าวหาว่า เป็น หนึ่งในนโยบายประชานิยม รัฐบาลของคณะรัฐประหารเองก็มีการใช้มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งก็มีลักษณะเป็นประชานิยมเช่นเดียวกัน

มีมาตรการหรือนโยบายหลายอย่าง เช่น สวัสดิการประชารัฐ บัตรสวัสดิการคนจน ที่ก็เข้าข่ายนโนบายประชานิยมเช่นเดียวกัน หลายนโยบายก็เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐบาลไหนก็ตาม (มีต่อตอน 2)

92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 2)