เปิดฉากทัศน์ 'กองทัพ' ปี 70 1 ยุทธศาสตร์ 1 ยุทโธปกรณ์
ปีแห่งการผลิดอกออกผล ลดทหารชั้นนายพล ปรับทหารประจำการ เป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหม ลดจำนวนพลทหาร เตรียมพบกับ"กองทัพ"รูปแบบใหม่เร็วๆนี้
KEY
POINTS
- ตั้งคณะทำงานทหาร ประเมินภัยคุกคามประเทศระยะ 5 ปี 10 ปี จัดทำสมุดปกขาว กลาโหม
- กองบัญชาการกองทัพไทย ทำหน้าที่อำนวยการบูรณาการ จัดลำดับความเร่งด่วน จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แพ็คเกจและเชื่อมต่อกันได้ 3 เหล่าทัพ
ควันหลงการประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระแรก "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สับงบฯกลาโหม ไม่สร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติและประชาชน
เพราะ"กลาโหม" จัดสรรงบฯ ให้กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ยังเป็นแบบโควตา 2:1:1 ไม่คำนึงบริบทความมั่นคงยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ลดความเสี่ยงในการนำทหารไปปฏิบัติงานเหมือนสมัยก่อน
เหตุ "กลาโหม" ไร้ซึ่งสมุดปกขาว หรือแผนแม่บทกำหนดยุทธศาสตร์ภัยคุกคามประเทศ เพื่อเป็นกรอบทิศทางให้เหล่าทัพยึดปฏิบัติ ส่งผลให้จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ 3 เหล่าทัพไม่สอดคล้องกับภัยคุกคามและสถานการณ์เร่งด่วน
อีกทั้งการจัดซื้อมีลักษณะสะเปะสะปะ ต่างเหล่าทัพต่างซื้อ มีแหล่งที่มาหลากหลายประเทศ ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลปฏิบัติภารกิจร่วมกัน หรือเชื่อมต่อกับยุทโธปกรณ์อื่นๆได้ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ก่อให้เกิดปัญหาการซ่อมบำรุง
"สุทิน คลังแสง" ชู "หนึ่งยุทธศาสตร์ หนึ่งยุทโธปกรณ์" การันตีว่า กลาโหมไม่ได้นิ่งเฉย และหากดำเนินการสำเร็จจะตอบโจทย์ทุกอย่างของกองทัพ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบและสร้างระบบ
สำหรับ "หนึ่งยุทธศาสตร์ หนึ่งยุทโธปกรณ์" กลาโหมปักหมุดต้องเริ่มทำให้ได้ ภายในปี 2570 (ปีงบประมาณ 2571) เพราะเป็นปีแห่งการผลิดอกออกผล ลดทหารชั้นนายพล
ปรับทหารประจำการ เป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหม ลดจำนวนพลทหาร (ทหารกองประจำการ) ส่งเสริมการสมัครใจ แต่ยังคงระบบการเกณฑ์เอาไว้
ส่งผลให้งบประมาณกลาโหม ซึ่งเดิมทีเป็นงบฯ บุคลากรเสียส่วนใหญ่ถึง 70% เมื่อกำลังพลลด งบฯ ที่เหลือจะไปเติมเต็มการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ ยกระดับความเป็นอยู่ของกำลังพลทุกระดับให้ดียิ่งขึ้น
ในระหว่างนี้จะมีการจัดตั้งคณะทำงานทหาร วางกรอบยุทธศาสตร์ประเมินภัยคุกคามประเทศระยะ 5 ปี 10 ปี ว่าอยู่ในรูปแบบใด เป็นภัยคุกคามที่มาจากทางน้ำ ทางบก หรือ ทางอากาศ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมรบกำหนดออกมาเป็นสมุดปกขาวกระทรวงกลาโหม รวมถึง กองบัญชาการกองทัพไทย ให้ 3 เหล่าทัพเป็นยึดเป็นแนวทาง
เช่น ประเมินว่าภัยคุกคามมาจากทางบกประเทศที่มีพรมแดนติดกัน จะให้ความสำคัญกับกองทัพบก และกองทัพอากาศ และกำหนดความเร่งด่วน และจัดสรรงบประมาณวางน้ำหนักให้เหล่าทัพตามความเร่งด่วน อาจอยู่ในรูปแบบ 2:1.5:1.5 ซึ่งยังต้องพิจารณารายละเอียดอีกมากเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปจัดสัดส่วนงบประมาณที่เหมาะสม
ฝาก 3 เหล่าทัพ ไปสำรวจอาวุธยุทโธปกรณ์ เหล่าทัพไหนใกล้หมดอายุ โดยจะมีกองบัญชาการกองทัพไทยทำหน้าที่อำนวยการบูรณาการ จัดลำดับความเร่งด่วน โดยจัดซื้อแบบแพ็คเกจและสามารถเชื่อมต่อกันได้ 3 เหล่าทัพ
เพราะที่ผ่านมาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นรูปแบบ ต่างเหล่าทัพต่างซื้อ เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น เรดาร์จับเครื่องบินรุกล้ำน่านฟ้าสามารถแจ้งกองทัพอากาศได้ แต่ไม่สามารถแจ้งกองทัพบก และกองทัพเรือได้
จากนี้ไปการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น กองทัพอากาศ เตรียมซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ต้องสามารถเชื่อมต่อหรือดาต้าลิงค์กับเรือรบของกองทัพเรือได้
ก่อนเสนอความต้องการมายังกระทรวงกลาโหม ในรูปแบบคณะกรรมการมี รมว.กลาโหม เป็นประธาน ผบ.เหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาใน 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ โครงการใหญ่ใช้งบประมาณสูง
กลุ่มที่สอง ใช้จำนวนมาก เช่น โดรน ปืนเล็กยาว หาก 3 เหล่าทัพมีความต้องการใช้พร้อมกัน พิจารณาเลือกยี่ห้อเดียว บริษัทเดียวกัน ประเทศเดียวกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ
กลุ่มที่สาม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่เหล่าทัพต้องอุดหนุน หากผลิตเองได้และผ่านมาตรฐานที่กองทัพกำหนด
ทว่า หากกระทรวงกลาโหมเดินหน้าไว วางระบบได้เร็ว อาจดำเนินการได้ก่อนปี 2570 ซึ่งจะเป็นการวางรากฐาน เสริมแกร่งให้กองทัพที่เปรียบเสมือนรั้วของชาติ ให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประเทศและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นปี 2570 จะได้เห็นกองทัพในรูปแบบใหม่ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้กองทัพ เล็ก กะทัดรัด คล่องตัว ทันสมัย ตอบโจทย์ภัยคุกคามทุกรูปแบบ