สงคราม ‘ตำรวจ’ ไม่จบ ‘ต่อ’ รบ ‘โจ๊ก’ สะเทือนเศรษฐา

สงคราม ‘ตำรวจ’ ไม่จบ ‘ต่อ’ รบ ‘โจ๊ก’ สะเทือนเศรษฐา

เดิมพันเกมอำนาจใน “องค์กรตำรวจ” ไม่ใช่แค่ “ต่อศักดิ์ - สุรเชษฐ์” ที่ต้องสู้รบกัน ยังมีเครือข่ายข้างหลังที่พันกับ “บิ๊กเนม” หลายคนทั้งคนมีสี - คนไม่มีสี เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายอาจพ่ายแพ้ราบคาบ

KEY POINTS : 

  • คำสั่งให้ "บิ๊กต่อ" พล.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล กลับนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. เหมือนจะเป็นสัญญาณบวก ทำให้ศึกภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สงบลง
  • แต่เมื่อ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยังไม่ได้กลับไปดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. สงครามจึงยังไม่จบ
  • "บิ๊กโจ๊ก" จำเป็นต้องเปิดแนวรบ เพื่อส่งสัญญาณไปยัง "ผู้มีอำนาจ" หากไม่เปลี่ยนคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน เตรียมโดนฟ้องร้องดำเนินคดี

แม้ “นายกฯ นิด” เศรษฐา ทวีสิน จะลงนามคำสั่งให้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล กลับไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) รายงานผลสอบสวนแล้วเสร็จ

แต่ในส่วนของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ซึ่งโดนคำสั่งให้ออกจากราชการเอาไว้ก่อน ยังไม่ได้กลับมาดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. อย่างเป็นทางการ

ทว่าการแถลงข่าวของ “วิษณุ เครืองาม” ที่ปรึกษาของนายกฯ ชี้ช่องว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.67 มีการออกคำสั่งถึง 3 คำสั่ง 1.สั่งให้กลับ ตร. 2.สั่งตั้งกรรมการสอบวินัย และ 3.สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที ซึ่งถือเป็นปัญหา

โดยมีการส่งไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติเอกฉันท์ 10 ต่อ 0 เห็นว่า การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนกระทบต่อสิทธิประโยชน์ และหน้าที่ ที่สำคัญโดยสถานภาพของ “สุรเชษฐ์” อยู่ระหว่างการรอนำความกราบบังคมทูล ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)ต้องตรวจสอบว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

เมื่อข้อต่อสู้ทางกฎหมายเปิดช่องเอาไว้ “สุรเชษฐ์” เปิดเกมสู้ เตรียมยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับ “เศรษฐา-ต่อศักดิ์-กิตติ์รัฐ-จรูญเกียรติ” หากไม่ได้กลับไปดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.

“สุรเชษฐ์” อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ “เศรษฐา” ระบุว่าคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน เป็นคำสั่งไม่สมบูรณ์ และคำวินิจฉัยของ “กฤษฎีกา” ปมกระทบสิทธิ และการนำความขึ้นทูลเกล้าฯ มาเป็นข้อต่อสู้

“อย่าลืมว่ามันมีมติครม. 2482 ซึ่งยังใช้อยู่ ระบุว่าหากหน่วยงานใดหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานนั้นต้องปฏิบัติตาม” สุรเชษฐ์ยกมติ ครม.เป็นปมฟ้องร้อง “เศรษฐา”

อีกทั้งยังขู่อีกทางว่า “เศรษฐา” ซึ่งสวมหมวกสองใบ ใบแรกในฐานะประธาน ก.ตร. ใบสองในฐานะผู้บังคับบัญชาของ รักษาการ ผบ.ตร. เมื่อรู้ว่ารักษาการ ผบ.ตร. กระทำผิด ต้องสั่งให้แก้ไขคำสั่ง เพื่อเพิกถอนคำสั่ง หากนายกฯ ยังเพิกเฉยละเลย ก็จะเข้ามาตรา 157 เช่นกัน

การต่อสู้ของ “สุรเชษฐ์” จะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน เพราะมีเก้าอี้ ผบ.ตร. คนต่อไป เป็นเดิมพัน หากได้กลับไปดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. โอกาสไปถึงฝันยังพอมี แต่หากยอมยกธงขาวโอกาสเปิดตายทันที

โดย “สุรเชษฐ์” จะกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มี 2 แนวทาง 1. “ผบ.ตร.” เซ็นคำสั่งให้กลับ 2. มีมติ ก.ตร. ให้กลับไปดำรงตำแหน่งเดิม

อย่างไรก็ตามมีจุดชี้ขาดการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งการวินิจฉัยของก.พ.ค.ตร. กฎหมายกำหนดว่า “ให้เป็นที่สุด”

ที่สำคัญหากชี้ว่าคำสั่งมิชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ต้องรับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับเข้ารับราชการทันที หากไม่ทำถือว่า “ผิดวินัย” ต้องโทษถึงคุก

จึงต้องจับตาการประชุม ก.ตร. ที่มี “เศรษฐา” เป็นประธาน ในวันที่ 26 มิ.ย.67 ผลจะออกมาอย่างไร โดยการประชุมมีวาระหลัก พิจารณาเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการตำรวจ กรณี ตร. มีคำสั่งที่ 178 /2567 ลง 18 เม.ย.67 ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน

วาระรอง พิจารณาผลสรุปการสอบสวนของอนุฯ เรื่องให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน “ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่”

โดยข้อมูล อนุ ก.ตร. เกี่ยวกับดำเนินการทางวินัย ที่มี “พล.ต.อ.วินัย ทองสอง” ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน มีมติว่าคำสั่งให้ “สุรเชษฐ์” ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งลงนามโดย “กิตติ์รัฐ” ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่ง ก.ตร. ต้องพิจารณาลงมติ หากเห็นชอบเท่ากับว่า คำสั่งให้ “สุรเชษฐ์” ออกจากราชการมีผลแล้ว แต่หาก ก.ตร. เห็นว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจจะให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ผบ.ตร. แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ดังนั้นการประชุม ก.ตร. ในวันที่ 26 มิ.ย.67 อาจจะเป็นวันชี้ชะตาศึกใน “กรมปทุมวัน” จะต้องสู้รบกันอีกหลายยกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทีท่าของ “สงครามสีกากี” รุนแรงจนยากจะสงบศึก ว่ากันว่าดีล “ต่อศักดิ์” กลับดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่ไม่มีเงื่อนไขต้องเซ็นคืนตำแหน่งให้ “สุรเชษฐ์” กลับมาดำรงตำแหน่ง รองผบ.ตร. ทำให้สงคราม “สองบิ๊ก” ปะทุอีกระลอก

ขณะเดียวกันดีล “ต่อศักดิ์” กลับและลาออกมีเงื่อนไขนี้อยู่จริง แต่จังหวะลาออกก่อนเกษียณในเวลาเหมาะสม เป็นเพียงสัญญาลมปาก

อีกเกมมีผู้มากบารมีเจรจา “กิตติ์รัฐ” มานั่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะเกษียณในเดือนก.ย. เพื่อเปิดทางสะดวก “สุรเชษฐ์” ลุ้น ผบ.ตร. แต่ “กิตติ์รัฐ” ปฏิเสธไปแล้ว

เครือข่ายเดินเกมให้ “สุรเชษฐ์” ได้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ภายหลัง “ต่อศักดิ์” เกษียณอายุราชการ โดยมี “บิ๊ก ว.” – “นาย พ.” และ “อดีตนายตำรวจ ส.”

โดยการปะทะเครือข่าย “ต่อศักดิ์-สุรเชษฐ์” มีระดับ “บิ๊กเนม” คอยหนุนหลัง ทำให้ “เศรษฐา” ในฐานะควบคุมดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในภาวะกดดัน เพราะต้องเป็นคนตัดสินใจ จากแรงกดดันของ “ผู้ใหญ่” ระดับบิ๊กเนม

จะเห็นได้ว่าเดิมพันเกมอำนาจใน “องค์กรตำรวจ” ไม่ใช่แค่ “ต่อศักดิ์-สุรเชษฐ์” ที่ต้องสู้รบกัน ยังมีเครือข่ายข้างหลังที่พันกับ “บิ๊กเนม” หลายคน ทั้งคนมีสี-คนไม่มีสี เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายอาจพ่ายแพ้ราบคาบ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์