‘น้ำเงิน’ ยึดสภาสูง 61% เกมพลิกกระดาน สะเทือน ‘บ้านจันทร์ฯ’- สกัดแผนส้ม

‘น้ำเงิน’ ยึดสภาสูง 61% เกมพลิกกระดาน สะเทือน ‘บ้านจันทร์ฯ’- สกัดแผนส้ม

อหังการ ‘นายใหญ่บุรีรัมย์’ ยึดพื้นที่สภาสูง สะเทือน ‘บ้านจันทร์ฯ’ - สกัดแผนส้ม จับตาเกม ‘นิติสงคราม’ หมากลับตัวใหม่ - ‘องค์กรอิสระ’ เกมต่อรอง

KEY

POINTS

  • อหังการ “นายใหญ่บุรีรัมย์”! สว.สีน้ำเงิน กินรวบสภาสูง เกม “พลิกกระดาน” สะเทือนบ้านจันทร์ฯ-สกัดส้มรุกคืบ
  • “ประธานวุฒิสภา”  ชิ้นปลามัน ดับฝัน “สมชาย”
  • “นิติสงคราม” เกมวัดพลัง “สภาสูง” ลาม “สภาล่าง” กระดานอำนาจเปลี่ยน

อหังการ “นายใหญ่บุรีรัมย์”!...“กระดานการเมือง” ดำเนินมาสู่จุดเปลี่ยน หลังมีการเปิดเผยรายชื่อ “200” คนที่ได้รับเลือกเป็น สว.ชุดใหม่ คาดว่าหากไม่มีอุบัติเหตุระหว่างทางเดือนก.ค.น่าจะมีการประกาศรับรองผล และเริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังการประชุมวุฒิสภานัดแรก

ชื่อที่ออกมาต้องบอกว่า มีเซอร์ไพรส์ โดยเฉพาะ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขยของทักษิณ ชินวัตร สอบตกอย่างเหลือเชื่อ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีข่าววางตัวให้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่เสียด้วยซ้ำ

แน่นอนว่า การที่ “สมชาย” ไม่ผ่านเข้าสู่สภาสูง นอกจากจะสั่นสะเทือนถึง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” รวมถึงเกมอำนาจหลังจากนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลับกันเมื่อส่องรายชื่อ สว.รอบนี้ แค่เริ่มต้นก็เริ่มส่งสัญญาณไปถึง “กระดานการเมือง” รวมถึงแต้มต่อรองที่อาจเปลี่ยนไปหลังจากนี้ 

หลายฝ่ายประเมินเป็นเสียงเดียวกันรายชื่อ สว.รอบนี้ ชัดเจนว่า เกินครึ่งแวดล้อมไปด้วยพลพรรคที่มีความแอบอิงแนบชิด กับ “นายใหญ่-นายรอง”  รวมถึงบรรดา “ซุ้มบ้านใหญ่” สายสีน้ำเงิน

ไล่เลียงดูแล้ว สว.สายน้ำเงิน มีจำนวนถึง 123 คน คิดเป็น 61.50% สายสีส้ม 18 คน คิดเป็น 9% สายสีแดง 12คน คิดเป็น 6% นายทุน 8คน คิดเป็น 4% เขียวในป่า 7คน คิดเป็น 3.50%

โดยเฉพาะ สว.ในสายบุรีรัมย์ที่มีมากที่สุดถึง 14 คน 1. มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีต ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์

2. อภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ (พี่ชายของไตรเทพ งามกมล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย)

3. พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์

4. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สมัย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

 

‘น้ำเงิน’ ยึดสภาสูง 61% เกมพลิกกระดาน สะเทือน ‘บ้านจันทร์ฯ’- สกัดแผนส้ม

5. ฤชุ แก้วลาย เป็นสัตวแพทย์ที่คลินิกสัตว์ประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

6. ปวีณา สาระรัมย์ อาชีพเกษตรกรรม (ทำนา)

7. จตุพร เรียงเงิน ข้อมูลระบุว่ามีอาชีพรับจ้าง

8. วรรษมนต์ คุณแสน ทำอาชีพช่างเสริมสวยมาเป็นเวลา 15 ปี

9. พรเพิ่ม ทองศรี หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

10. ปราณีต เกรัมย์ นักกีฬาฟุตบอลอาวุโส พ.ศ. 2527-2547 (อดีตคนขับรถ ชัย ชิดชอบ)

11. ประไม หอมเทียน เป็นกรรมการหมู่บ้าน กรรมการกองทุนต่างๆ ในชุมชนและหมู่บ้าน เป็นผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ต.สำโรงใหม่ ได้รับรางวัลอาสาพัฒนาชุมชนดีเด่นจังหวัดปี 2566 เป็นจิตอาสา และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มใกล้ชิดสีน้ำเงิน อาทิ “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตประธานคณะที่ปรึกษารมว.มหาดไทย และเป็นเพื่อนรัก “มท.หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล

ในส่วนของ “แม่ทัพเกรียง” นั้น หากจับจังหวะดีๆ เริ่มเห็นสัญญาณขยับมาตั้งแต่ที่ “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนนายใหญ่บ้านจันทร์ฯ ตกรอบเข้าชิงระดับประเทศ 

เวลานั้นมีการประเมินว่า งานนี้อาจมี  “เกมพลิก” แถมมีคนหยิบชิ้นปลามันไปกิน  และก็เป็นไปตามคาดเมื่อ  “บิ๊กเกรียง” ได้คะแนนมาเป็นลำดับหนึ่งของกลุ่มด้วยคะแนน 40 คะแนน ขณะที่การเลือกระดับประเทศ ในรอบเลือกไขว้ “บิ๊กเกรียง” ยังได้คะแนนนำโด่งเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มด้วยคะแนน 75 คะแนน 

รวมถึงวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีต ผวจ.อ่างทอง คนใกล้ชิด สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล 

นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล อดีต สว.อยุธยา และน้องชาย สมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.อยุธยา เป็นต้น
 

‘น้ำเงิน’ ยึดสภาสูง 61% เกมพลิกกระดาน สะเทือน ‘บ้านจันทร์ฯ’- สกัดแผนส้ม

 

 

“บ้านจันทร์ฯ”เพลี่ยงพล้ำ สภาสูงศึกวัดพลัง

ต้องจับตาต่อไปทีละช็อต โดยเฉพาะตำแหน่ง “ประธานวุฒิสภา” ที่จะกุมบังเหียนเป็น “รองประธานรัฐสภา” ตามกฎหมาย ก่อนหน้านี้มีการคาดหมาย และบางกระแสถึงขั้นฟันธงว่า หวยจะไปออกที่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” แต่เมื่อกระสุนพลาดเป้า “สมชาย” พลาดตั๋วสภาสูง

นั่นหมายถึง อำนาจต่อรองระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่มี “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” อยู่ในสมการ อาจมีอันต้องเปลี่ยนไปจากสมการเดิม ในเมื่อ “สีน้ำเงิน” ผงาดสภาสูง ไม่ต่างจากชื่อประธานวุฒิสภาคนใหม่ ที่มีการจับตาไปที่หลายชื่อที่เป็นสายตรงนายใหญ่-บ้านใหญ่ อาทิ  “บิ๊กเกรียง” ที่เป็นเพื่อนรัก มท.หนู 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลคงต้องขึ้นอยู่กับการจัดสรรอำนาจภายในระหว่างพี่น้อง “2น.สีน้ำเงิน” หลังจากนี้

ยังไม่นับรองประธานวุฒิสภาอีก 2 คนที่เหลือ ที่จะเป็นการช่วงชิงกันระหว่าง สว.ที่มาจากสายต่างๆ

‘น้ำเงิน’ ยึดสภาสูง 61% เกมพลิกกระดาน สะเทือน ‘บ้านจันทร์ฯ’- สกัดแผนส้ม

ยิ่งไปกว่านั้น อย่างที่รู้กันฝ่ายไหนยึดสภาสูงได้ ก็ย่อมถือแต้มต่อรองฝ่ายนิติบัญญัติไว้ในมือ อย่าลืมว่า สว.ชุดนี้ยังมีอำนาจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณา “ร่างกฎหมาย” ทั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ที่จะต้องให้ความเห็นชอบในด่านสุดท้าย

สำหรับกฎหมายประเภทอื่น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้มติของทั้งสองสภา ให้ความเห็นชอบคะแนนด้วย

เช่นนี้ต้องจับตา บรรดา “กฎหมายเรือธง” ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เตรียมเสนอเข้าสู่สภา ท่ามกลาง “เกมวัดพลัง” ที่สะท้อนภาพออกมาเป็นระยะ 

ยกตัวอย่าง “กฎหมายกัญชา” เรือธงสีน้ำเงิน ที่ก่อนหน้านี้เจอเกมหักดิบลามเป็นวิวาทะพรรคร่วมรัฐบาล ถึงขั้น “อนุทิน” หัวหน้าพรรค ประกาศกร้าว “ถูกหักหลัง” 

หรือแม้แต่กฎหมายเรือธงของ “พรรคแกนนำ ”  รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ที่น่าจะได้เห็นภาพเกมวัดพลังทั้งใน “สภาล่าง” และ “สภาสูง” ต้องลุ้นว่าจะมีเกมหักดิบอะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้หรือไม่

“67เสียง” เดดล็อกแก้รัฐธรรมนูญ

อีกอำนาจของสภาสูงชุดนี้ ที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้การประชุมร่วมของสองสภา โดยนอกจากจะต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งแล้ว ในวาระที่หนึ่งและสาม ยังต้องใช้เสียงของ สว. อย่างน้อยหนึ่งในสาม ร่วมเห็นชอบด้วย

เท่ากับว่า หากมี สว. ชุดใหม่ 200 คนจะต้องได้เสียง สว.ที่เห็นชอบ อย่างน้อย 67 เสียง

ฉะนั้นเมื่อฝั่งหนึ่งฝั่งใดกุมอำนาจสภาฯสูงแน่นอนว่า ย่อมถือแต้มต่อรองไว้ในมือ 

“องค์กรอิสระ” หมากลับตัวใหม่ 

อีกหนึ่งหมากลับที่ต้องจับตาคือ นั่นคือ สว.ชุดนี้จะยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้ความเห็นชอบตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น อัยการสูงสุด

โดยเฉพาะในยามที่บรรดาคดีความของ “บิ๊กเนมการเมือง” ที่คั่งค้างอยู่ในองค์กรต่างๆ เหล่านี้โฟกัสไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่สามารถ “ชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง”ได้เลยทีเดียว

แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า องค์กรอิสระบางองค์กรอยู่ในสภาวะ “ปลา 2 น้ำ” ปัจจุบันยังคงหลงเหลือ “สายตรง” ที่ได้รับแรงหนุนจาก “อำนาจเก่า” ทำหน้าที่คานอำนาจอยู่

ต้องจับตาเกมดุลอำนาจหลังจากนี้ที่อาจไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ “สภาสูง” และ “สภาล่าง”  หากแต่ยังหมายรวมไปถึงอำนาจนอกสภา 

‘น้ำเงิน’ ยึดสภาสูง 61% เกมพลิกกระดาน สะเทือน ‘บ้านจันทร์ฯ’- สกัดแผนส้ม

โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี “คดียุบพรรค” จากกรณี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และอดีต รมว.คมนาคม ถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมิชอบ

รวมถึงคดี “จริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากคดีดังกล่าว ที่ยังค้างคาอยู่ในเวลานี้

ก่อนหน้านี้มีข่าวมาเป็นระยะ “คีย์แมนสีน้ำเงิน” พยายามสายตรงหาเบอร์ใหญ่ตึกไทยคู่ฟ้า  รวมถึงบ้านจันทร์ฯ เพื่อเคลียร์ทางสะดวก แต่ดูเหมือนจะไม่มีสัญญาณตอบรับจากปลายทาง  จนมีการจับตาว่าผลพวงจากคดีดังกล่าว อาจทำให้ภูมิใจไทยมี “แต้มต่อรอง” ลดลง 

บางกระแสถึงขั้นตีความไปไกลถึง “ฉากทัศน์สีน้ำเงิน” ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งอาจเกิด “เกมพลิกกระดาน”

ถึงเวลานี้แม้บรรดา “คีย์แมนสีน้ำเงิน” จะยังคงเชื่อว่าโอกาสรอดยุบพรรคยังมีสูง ไม่มีผลต่อแรงสั่นคลอนในขั้วรัฐบาลอย่างแน่นอน   แต่ในเชิงอำนาจแล้วการถือแต้มต่อใน “สภาสูง” ณ ปัจจุบันทำไปทำมาอาจเป็น “เกมตลบหลัง” เพื่อเพิ่มแต้มต่อรองให้มีมากขึ้น  

ไม่ต่างจากฝั่งผู้มีอำนาจบางคนที่อาจต้องขบคิดปรับแผน “แก้เกมใหม่” หลังจากนี้ !! 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์