คารม โวย อย่ากล่าวหา พรรคฯ อยู่เบื้องหลัง เลือก สว. แพ้แล้วอ้างสู้เงินไม่ได้

คารม โวย อย่ากล่าวหา พรรคฯ อยู่เบื้องหลัง เลือก สว. แพ้แล้วอ้างสู้เงินไม่ได้

“คารม” ชี้ ปมกล่าวหา คัดเลือก สว. มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง อย่าพูดลอยๆ สวน คนแพ้อย่าตีโพยตีพาย สู้เงินไม่ได้ ถ้าจะโทษต้องโทษ รธน. ระบุ โหวตนายกฯ ไม่ได้ ฝ่ายการเมืองจะมาเอาประโยชน์อะไร ยิ่งแบ่งสี ยิ่งขัดแย้ง

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยถึงกรณีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งได้ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็น สว.ครบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการคัดเลือกว่า การที่จะกล่าวหาว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังสนับสนุนผู้ผ่านการคัดเลือก สว. ต้องดูข้อเท็จจริงไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ จนทำให้ระบบเสียหาย ทั้งนี้ ผู้ที่ลงเลือกสรร สว. ทุกคนทำตามกฎระเบียบของ กกต. เมื่อไม่ได้รับเลือกสรร ขออย่าตีโพยตีพาย ต้องยอมรับผลการคัดสรร 

นายคารม กล่าวว่า จากการเลือก สว. รอบสุดท้ายเมื่อวันที่  28 มิถุนายน 2567 และขณะนี้รอให้กกต. รับรองผล บางคนลงสมัครแล้วไม่ได้รับเลือกสรร ก็มาพูดว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี  พูดว่าระบบไม่ดี พอได้รับเลือกก็อ้างว่า เป็น สว. ฝั่งประชาธิปไตย  ทั้งที่ก็มาจากกฎหมายเดียวกัน ซึ่งตนเองจำได้ว่า ในยุคที่สมาชิกวุฒิสภาให้มีการเลือกในแต่ละจังหวัด ก็ถูกล่าวหาว่าเป็นสภาผัวเมีย จริงๆ  การเลือกตั้ง สส.หรือ สว. ทุกระดับ ก็มาจากกฎหมายแม่บท คือรัฐธรรมนูญทั้งนั้น ถ้าจะโทษก็ต้องโทษรัฐธรรมนูญ คนที่เขากล้าลงสมัครในกลุ่มอาชีพต่างๆ เขาต้องศึกษา ต้องดูว่าเขามีเพื่อน มีคนรู้จักพอที่จะเลือกเขาหรือไม่เพราะวิธีการเลือกก็คือเลือกในกลุ่มตัวเอง และเลือกไขว้กัน กรณีที่ระเบียบว่าไม่ให้เลือกตัวเอง เขาก็ไม่เลือกได้ เพราะถ้าเขาเห็นว่า เขาไม่น่าจะได้รับเลือก เขาอาจลงคะแนนให้คนอื่น หรือคนที่รู้จักก็ได้  เพื่อให้คนนั้นได้รับการคัดสรรเป็น สว.

“สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ ไม่มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองจะมาเอาประโยชน์อะไร แทบมองไม่ออก ส่วนหน้าที่ในการที่กลั่นกรองกฎหมาย ก็คือหลักการของสภาสูงเหมือนกันทั่วโลก และกฎหมายก็ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน    วุฒิสภาไม่ได้มีอำนาจโดยตรง และกฎหมายก็ต้องใช้บังคับกับคนทั้งประเทศ การที่มีการกล่าวหาสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ทั้งที่เข้ามาใหม่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน ดูจะไม่เป็นธรรมกับสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่เลย  หรือจะให้สมาชิกวุฒิสภาชุดเดิมอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งมีการมาแบ่งว่าสมาชิกวุฒิสภามีฝ่ายประชาธิปไตย แบ่งเป็น สว. สีส้ม   สีน้ำเงิน สีแดง ยิ่งทำให้ภาพความขัดแย้งไม่เลือนหายไป การแบ่งสีแบ่งข้างไม่เห็นจะมีประโยชน์ต่อบ้านเมืองตรงไหน พอจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม กลับมาบอกว่าไม่ควรแบ่งข้างแบ่งสี เราควรก้าวข้ามความขัดแย้งได้แล้ว สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ ก็เข้ามาตามกติกาที่เขียนไว้ทั้งนั้น อย่าเลือกเฉพาะที่ตนเองได้ประโยชน์ พอชนะจะบอกว่าสู้ทุกกติกา แต่พอแพ้บอกว่าสู้เงินไม่ได้กติกาไม่เอื้อ“ นายคารม  กล่าว