ส่องฉาก(ไม่)จบ ศึก‘ตำรวจ’ ‘กิตติ์รัฐ’ อิงกฎหมาย ไม่กลัวพ่าย

ส่องฉาก(ไม่)จบ ศึก‘ตำรวจ’ ‘กิตติ์รัฐ’ อิงกฎหมาย ไม่กลัวพ่าย

“การพิจารณาจะเลือก รองผบ.ตร. หรือจเรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ต้องเคารพการตัดสินใจของท่านนายกฯ บางทีอาวุโสต่ำกว่า อาจจะถูกเลือกมาก็ได้ เราจะคิดว่า เราต้องเป็นเบอร์หนึ่งนะ มันไม่ใช่”

ศึกใหญ่ฟัดใหญ่ใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างบาดแผลลึกให้ “องค์กรสีกากี” การแย่งชิงอำนาจครั้งนี้ส่อเค้ายังไม่จบลงง่ายๆ แม้จะผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) จะยืนยันคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่ง “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ขณะดำรงตำแหน่งรักษาการ ผบ.ตร. เป็นคนลงนามคำสั่ง กระทำถูกต้องตามขั้นตอน

ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ทำให้ต้องรอลุ้นผลการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ว่าการดำเนินการของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กระทำถูกต้องหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าศึกใหญ่ฟัดใหญ่ มีตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นเดิมพัน บางคนต้องการวางแผงอำนาจ เพื่อประคับประคองตัวเองหลังพ้นจากตำแหน่ง บางคนต้องการขึ้นสู่จุดสูงสุด เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเอง

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เปิดใจให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวี ช่อง 22 ถึงภารกิจร้อน ในขั้นตอนกระบวนการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ที่ต้องเดินหน้าต่อ เพราะเป็นไฟล์ตบังคับ

แม้ตลอดการสัมภาษณ์จะไม่เอ่ยชื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แม้แต่คำเดียว โดยใช้คำว่า “ผู้ถูกกล่าวหา”แทน แต่ทุกคำพูดส่งนัยสำคัญถึงคู่กรณี โดยอธิบายถึงขัั้นตอนต่างๆ ที่ยึดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยืนยันว่าสิ่งที่ได้พิจารณาจากรายงานพนักงานสอบสวน และพิจารณาจากรายงานต้องหาคดีอาญาของผู้ถูกกล่าวหาด้วย การพิจารณาเรื่องทางวินัย เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมาย โดยเฉพาะความผิดที่ต้องหาคดีอาญา เราต้องไปดูพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งคดี ถึงจะนำมาพิจารณาว่าเราจะดำเนินการทางวินัย ในระดับใด

อย่างไรก็ตาม กฎหมายตำรวจปี 2565 เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นใหม่ มีมาตรา 120 วรรคท้ายขึ้นมา โดยเฉพาะการดำเนินการทางวินัย ซึ่งการตีความตามหลักของกฎหมาย เราต้องตีความแยกออกจากกัน แต่ต้องไม่ทำให้กฎหมายมาตราใดที่เกี่ยวพันกัน ด้อยค่าลงไป

ส่วนมาตรา 120 วรรคท้าย เป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกดำเนินการทางวินัย อาจจะสมควรให้ออก หรือให้พักราชการ ซึ่งวินัยร้ายแรงบัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องอะไรบ้าง

สำหรับมาตรา 131 เป็นกรณีที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาวินัยร้ายแรง หรือต้องหาคดีอาญา หรือถูกฟ้องคดี ดังนั้นเมื่อเข้าองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง ก็ย่อมเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา ที่จะดูว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำลักษณะใด ตามมาตราใด

“ผมอยากจะเรียนว่าการตีความในกฎหมายของตำรวจ มาตรา 131 เป็นการใช้อำนาจ และดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาโดยแท้ โดยมาตรา 119 ได้บอกไว้ว่าเป็นเรื่องของกรรมการวินัยร้ายแรง ซึ่งต้องตั้งกรรมการสอบสวน จะไปผูกพัน กับพัก หรือให้ออกราชการไว้ก่อน ซึ่งมาตรา 131”

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ อธิบายต่อว่า ในกรณีนี้ที่ผมได้ออกคำสั่ง ผู้ถูกกล่าวหาถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และต้องหาคดีอาญาด้วย จากการที่เราได้พิจารณาข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย พฤติการณ์ ประกอบกับความร้ายแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการกระทำผิดที่กระทำเป็นกลุ่ม คดีอาญาฟอกเงิน พัวพันพนันออนไลน์ เป็นการฝ่าฝืนนโยบายของรัฐบาล การที่เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ด้วยแล้ว ต้องรักษากฎหมายเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างกับประชาชน หากกระทำผิดเสียเอง เราจะหาความเชื่อมั่นที่ไหน อันนี้เป็นเหตุผลประกอบการพิจารณา พฤติการณ์บางอย่าง อาจเป็นปัญหาต่อการสอบสวนได้ จึงต้องให้ออกราชการไว้ก่อน

ขณะเดียวกันมาตรา 120 วรรคท้าย เป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจของกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งกฎหมายบัญญัติชัดเจนว่า มีเรื่องอะไรบ้าง บางเรื่องไม่ใช่ต้องหาคดีอาญา ก็ไม่จำเป็นต้องให้พักหรือให้ออก แต่ระหว่างนั้นหากผู้ต้องหาเข้ามาแทรกแซงหรือวุ่นวายกับกรรมการสอบสวนวินัย คณะกรรมการก็อาจจะใช้มาตรา 120 วรรคท้าย เสนอแนะกับผู้ออกคำสั่งให้พัก หรือให้ออกราชการได้

ส่วนการออกจากราชการบัญญัติไว้ในมาตรา 140 ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะต้องนำความกราบบังคมทูล ว่าข้าราชการตำรวจชั้นยศ พล.ต.อ.ให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากราชการ นับจากวันให้ออกราชการไว้ก่อน แสดงว่าการออกจากราชการมีผลแล้ว

“แต่พอมาตรา 142 วรรคสอง การให้พักหรือออกราชการ ระดับ พล.ต.ท. และ พล.ต.ต. ให้นายกฯ นำความกราบบังคมทูล เพื่อให้พระกรุณาทราบเฉยๆ ต่างจากมาตรา 140 ซึ่งเป็นแค่กระบวนการขั้นตอน หรือกระบวนการหลังจากผู้นั้นมีคำสั่งให้ออกราชการไว้แล้ว”

อย่างไรก็ตามกรณีการให้ออกจากราชการของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต้องเรียนว่าในความรู้สึกตน ท่านยังเป็น รอง ผบ.ตร. เราให้เกียรติกัน แต่อยู่ที่กระบวนการพิสูจน์ตัวตนกับพิสูจน์ความจริงออกมาเป็นเช่นไรก็ว่ากันไป แต่ถ้าในทางกฎหมายก็ต้องยืนยันว่า ไม่ได้อยู่ในสถานะของตำรวจ

ทั้งนี้เนื่องจาก มาตรา 131 ที่ใช้อ้างอิง ออกราชการไว้ก่อนซึ่งผูกพันกับมาตรา 133 วงเล็บ 4 ก็คือออกราชการต่อเมื่อวงเล็บ 4 คือถูกให้ออกราชการตามมาตรา 131 นั่นคือออกราชการแล้ว

ส่วนกรณีมาตรา 131 มีการเอาตำรวจออกจากราชการแล้วกี่คน พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ บอกว่า ถ้าข้อมูลไม่ผิด 70 กว่าราย ทั้งตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงและไล่ออกราชการไว้ก่อน ซึ่งมีข้อคิดอันหนึ่งที่อยากจะบอกว่า การตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงและออกราชการไว้ก่อนนั้น เป็นการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งต้องรอ 120 วรรคท้ายทุกเรื่องเนี่ย 

หนึ่งถ้าตำรวจที่ไปกระทำกับผู้อื่น หรือพี่น้องประชาชนในขณะรุนแรง แล้วก็ต้องหาคดีอาญา เช่น ทะเลาะวิวาทกัน แล้วก็ยิงเค้าตาย แล้วหลบหนี เราต้องรอไหมว่าคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เสนอแนะมาว่า หนีไปเดือนนึงแล้ว หนีไปสองเดือนแล้ว กรรมการบอกให้ออกไว้ก่อน 

"แสดงว่าตั้งแต่แรกไปฆ่าคนตาย ไปค้ายาเสพติด วินาทีที่ทำผิดวันแรก จนผ่านไปเดือนสองเดือนก็ยังได้เงินเดือนนะ ยังได้ค่าตอบแทนนะ ควรเอาภาษีประชาชนไปเสียให้ตำรวจเหล่านั้นไหม อันนี้แค่เปรียบเทียบนะครับผมไม่ได้ว่าใครนะ"

เมื่อถามว่า ขณะนี้กระบวนการสุดท้ายอยู่ที่ ก.พ.ค.ตร. คิดว่าเรื่องนี้จะจบหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ อธิบายว่า ไม่ว่าข้าราชการตำรวจจะชั้นยศอะไร ถ้ากระทำผิดวินัย และเข้าองค์ประกอบ ก็เป็นสิทธิของผู้ที่ถูกพักหรือให้ออกราชการ จะอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นใหม่ เทียบเป็นศาลชั้นต้น ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิอยู่

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา เมื่อ ก.พ.ค.ตร.ได้วินิจฉัยแล้ว ถือว่าถึงที่สุด จะแก้อะไรก็ไม่ได้แล้ว ต้องถือปฏิบัติตามนั้น แต่หากไม่เป็นคุณต่อผู้ถูกให้พัก หรือออกราชการ ก็สามารถใช้สิทธิที่ศาลปกครองสูงสุดได้อีกชั้นหนึ่ง”

เมื่อถามว่า ส่วนตัวอยากให้ปัญหาความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจบลงอย่างไร พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยอมรับว่า “เรื่องนี้กระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างมาก ผมไม่คิดเรื่องความขัดแย้ง ผมคิดเรื่องการทำงานก่อน แต่เมื่อเกิดขึ้น เราต้องเดินหน้าต่อไป เราจะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ แม้จะเกิดปัญหาในองค์กร เราก็ต้องทำให้เพื่อประชาชน ไม่ใช่เราทิ้งทุกอย่าง แล้วมาแก้ปัญหาเรื่องนี้"

“ตอนเป็นรักษาการ ผบ.ตร. ผมออกคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน ทุกอย่างจึงต้องดำเนินการตามกระบวนการ ถ้าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรงจริง ก็ต้องถูกลงโทษตามมาตรฐานทางวินัย แต่ถ้าไม่ผิดวินัยเลย หรือผิดวินัยธรรมดา ก็ปรับไปลงโทษตามสถานโทษนั้น แล้วกลับเข้ารับราชการได้เหมือนเดิม ถ้ารันให้เป็นตามกระบวนการ ผมคิดว่าไม่มีอะไร”

“ส่วนเรื่องของการให้ออกราชการไว้ก่อน ก็เป็นเรื่องการร้องอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ถ้าจะจบก็ต้องดูตรงนั้นก่อน ว่าจะวินิจฉัยออกมาเช่นไร ถ้าวินิจฉัยออกมาว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง หรือควรแก้ไขอย่างไร สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องปฏิบัติตาม หากออกว่าไม่เป็นคุณสำหรับผู้ให้ออกราชการ ก็ต้องไปร้องศาลปกครอง เราจะเอาความรู้สึกว่า เดี๋ยวเราต้องถอนนะ เดี๋ยวเราต้องแก้นะ มันเป็นการทำแล้วอาจจะเกิดความเสียหายในหลายด้าน ผมเองตอนนี้ไม่ได้เป็นรักษาการ ผบ.ตร. ไม่มีหน้าที่ตรงนั้น เป็นหน้าที่ของท่าน ผบ.ตร.”

เมื่อถามว่า หากผลการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. เป็นคุณกับผู้ถูกกล่าวหา เราไม่กลัวว่าจะต้องเป็นผู้ถูกกล่าวหาเสียเองใช่หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ตอบว่า “ผมไม่กลัว เราไม่ได้กังวล เพราะการใช้อำนาจรักษาการ ผบ.ตร.เราพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และไม่มีใครมายุยงส่งเสริม แล้วไม่มีใครมาหลอกเรา เราใช้เวลาพิจารณากว่าครึ่งเดือน เราไม่มีเจตนาพิเศษอะไร สกัดแข้ง สกัดขาอะไร”

“การพิจารณาจะเลือก รองผบ.ตร. หรือจเรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ต้องเคารพการตัดสินใจของท่านนายกฯ บางทีอาวุโสต่ำกว่า อาจจะถูกเลือกมาก็ได้ เราจะคิดว่า เราต้องเป็นเบอร์หนึ่งนะ มันไม่ใช่”

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ทิ้งท้ายว่า “ผมมั่นใจในตัวเอง ตามพื้นฐานของความสุจริต ดังนั้นก็พร้อมรับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็อยากให้ตำรวจทุกคนหยุดคิดเรื่องนี้ ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ขอให้ตำรวจมุ่งหน้าทำหน้าที่ของตัวเอง อย่าหยุด อย่าสะดุด ทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้าเราเอาเวลามาวิจารณ์ว่า คนนี้จะชนะ คนนี้จะแพ้ คนนี้จะติดคุก ผมว่าจะทำให้เราเสียเวลา”