‘ค่ายส้ม’ พ่ายเลือก สว. เดินเกมต่อ ‘โละสภาสูง’ ?
น่าสนใจว่า “ค่ายสีส้ม” ปัจจุบันกำลังถูกฝ่ายอนุรักษนิยม “รุก” จนสุดขอบกระดาน ล่าสุดการพ่ายแพ้เลือกตั้งสภาฯสูงอีก จะเดินเกมแก้หมากนี้อย่างไร ต้องติดตาม
KEY
POINTS
- กกต.ยังคงไม่ประกาศผลการเลือก สว.อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา
- ประธาน กกต.อ้างว่า ต้องดำเนินการในส่วนเกี่ยวข้องทุกอย่างให้แล้วเสร็จก่อน จึงประกาศผลได้
- รายงานข่าวจากสำนักงานเลขาฯวุฒิสภา ส่งสัญญาณให้ สว.ชุดเดิมเก็บของ รอรับ สว.ชุดใหม่ 7 ก.ค.
- กกต.เผยยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ 614 คำร้อง เสาะหาหลักฐานปม “ฮั้ว-บล็อกโหวต”
- ครหาหนักปม “เลขาฯ กกต.” เคยเป็นอดีตคณะทำงาน “นักเลือกตั้ง” บางกลุ่ม อาจทำ “ตราชั่ง” เอียง
- จับตา “ค่ายส้ม” พ่ายแพ้ศึกนี้ เดินเกมปลุกกระแส “โละสภาฯสูง”
ครบ 5 วันตามกำหนดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” จะต้องพักไว้ ก่อนประกาศผลการเลือก สว.2567 อย่างเป็นทางการ และอย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า กกต.ยังไม่ประกาศผลในวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา
โดย “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ยังดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบคำร้องคุณสมบัติของผู้สมัคร สว.ไม่แล้วเสร็จ จะประกาศต่อเมื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แนวเรื่องต่าง ๆ แล้วเสร็จ
“อย่าใช้คำว่าเลื่อน แต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ จึงจะมีการประกาศรับรอง สว.” เป็นคำยืนยันจากประธาน กกต.
สำหรับการเลือก สว.2567 เป็นการเลือกครั้งประวัติศาสตร์จากภาคประชาชนนับตั้งแต่ปี 2554 (ในยุคที่มีทั้ง สว.เลือกตั้ง และ สว.สรรหา) บรรยากาศที่ผ่านมาราว 2-3 เดือนนับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.เลือก สว.ขึ้นมา เต็มไปด้วยความคึกคัก
แบ่งฐานเสียงออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ “กลุ่มบ้านใหญ่” ที่มี “นักเลือกตั้ง” แอบสนับสนุนอย่างลับ ๆ “กลุ่มข้าราชการ-นักวิชาการ” ที่มีคอนเนกชั่นกับ “ขั้วอนุรักษนิยมเดิม” และ “กลุ่มหัวก้าวหน้า” ที่มีเจตนารมณ์ชัดเจนประกาศเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรื้อโครงสร้างองค์กรอิสระ
โดยใน 3 กลุ่มนี้ “กลุ่มบ้านใหญ่” เข้าวินมากที่สุด โดยเฉพาะ “บ้านใหญ่อีสานใต้” ของ “ค่ายน้ำเงิน” ที่กวาด สว.เข้าสภาฯสูงได้เกินครึ่ง
ว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ “กลุ่มบ้านใหญ่” ได้รับชัยชนะครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากบรรดา “หัวก้าวหน้า” ที่พยายามจะแก้ไขระเบียบแนะนำตัวเลือก สว.จนสุดท้ายศาลปกครองมีคำสั่งให้แก้ไขระเบียบดังกล่าว “เปิดช่อง” ให้แนะนำตัวได้อย่างเสรี
ส่งผลให้ “กลุ่มบ้านใหญ่” สบช่อง นัดรวมตัวผู้สมัครตามโรงแรมต่าง ๆ เพื่อ “นัดแนะ-บล็อกโหวต” ตามที่ปรากฏเป็นข่าว และจากปากคำให้สัมภาษณ์ของ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.ไปก่อนหน้านี้
สำหรับการ “ฮั้ว-บล็อกโหวต” หลังมีการแก้ไขระเบียบแนะนำตัวเลือก สว.นั้น ถ้าไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ “ชัดเจน” ว่า มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จะไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย
ดังนั้นจึงเป็น “งานยาก” สำหรับ กกต. ที่มีจำนวนบุคลากรอาจไม่มากเพียงพอ แม้จะรับรู้ได้จาก “สายข่าว” แต่การไล่ตาม “เส้นทางเงิน” เป็นไปด้วยความลำบาก
โดยในการเลือก สว.ครั้งล่าสุดนี้ มีคำร้องเข้ามายัง กกต.อย่างน้อย 614 เรื่อง เป็นคำร้องกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร 65% กรณีการเลือกไม่สุจริต 14% เช่น การให้ทรัพย์สินตามมาตรา 77 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. การจ้างลงสมัคร การเรียกรับให้ทรัพย์สินแลกคะแนน การฮั้ว บล็อกโหวต เป็นต้น และที่เหลือคือเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ
ขณะที่ไทม์ไลน์การเลือก สว.ครั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกระดับประเทศเมื่อ 26 มิ.ย.ไปแล้ว และ กกต.แถลงผลเมื่อ 27 มิ.ย. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องให้ กกต.พักไว้ก่อน 5 วันเป็นต้นไปถึงจะประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ นั่นคือหลังจาก 3 ก.ค.เป็นต้นไป
ส่งผลให้ กกต.ยังคง “ยื้อ” ที่จะประกาศผลการเลือก สว.อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 3 ก.ค. โดยอ้างว่า ยังตรวจสอบคำร้องและคุณสมบัติไม่เสร็จ คาดว่าจะประกาศผลทางการได้ในช่วงสัปดาห์หน้า
สอดคล้องกับรายงานข่าวจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่า ได้ส่งสัญญาณให้ สว.ชุดรักษาการ เริ่มเก็บของ เพื่อเตรียมเปิดลงทะเบียนให้กับ สว.ชุดใหม่ ในวันที่ 7 ก.ค.นี้
ประเด็นที่น่าสนใจ ทำไม กกต.จะต้องทอดเวลาออกไป ในเมื่อตามกฎหมายแล้ว สามารถ “รับรอง” ไปก่อนแล้ว “สอย” ทีหลังได้นั้น
เป็นเรื่องของการตรวจสอบประเด็นการทำให้การเลือก สว.ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือพูดภาษาชาวบ้านคือสอบปม “ฮั้ว-บล็อกโหวต”
ส่วนที่ กกต.ยังตรวจสอบอยู่ตอนนี้คือประเด็น “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม” ของผู้สมัคร สว. ซึ่งเป็นคำร้องที่ถูกร้องเข้ามาเยอะที่สุดโดยเฉพาะกรณี “ผู้สมัคร” อาจมีคุณสมบัติหรือประสบการณ์ไม่ตรงกับกลุ่มอาชีพที่ลงสมัคร เป็นต้น
ที่ผ่านมามีผู้สมัครหลายคน ถูกขุดคุ้ยประวัติว่า อาจไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการลงสมัครในกลุ่มอาชีพนั้น ๆ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ มีผู้สมัคร สว.จาก จ.บุรีรัมย์ ในกลุ่มที่ 16 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา ได้คะแนน 54 คะแนน โดยในเอกสารแนะนำตัว ระบุประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ คือการเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาวุโส พ.ศ.2527-2547 แต่เมื่อขุดคุ้ยไปเรื่อย ๆ พบว่า บุคคลรายนี้เคยเป็น “คนขับรถ” ให้กับบุคคลในตระกูลการเมืองชื่อดังย่านอีสานใต้เสียอย่างนั้น เป็นต้น
ทว่า สิ่งที่อาจทำให้สังคมคลางแคลงใจ อาจเป็นเพราะมีผู้สมัครบางกลุ่ม ที่ค่อนข้างมี “ดีกรี” ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบประเด็น “ฮั้ว-บล็อกโหวต” พร้อมออกมาแฉว่า เลขาธิการ กกต.คนปัจจุบัน ในอดีตเคยเป็นคณะทำงานให้กับ “นักเลือกตั้ง” บางกลุ่ม จึงอาจไม่ “เป็นกลาง” ในการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ก็เป็นไปได้ โดยขณะนี้ยังไม่มีการชี้แจงหรือตอบโต้จากเลขาธิการ กกต.แต่อย่างใด
ข้ามฟากมาที่ “ค่ายสีส้ม” ไม่ถึงฝั่งฝันตามเป้าหมายการเลือก สว.ครั้งนี้ หลัง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ปลุกประชาชนผ่านแคมเปญ “เสียงอิสระ” ให้เข้าเลือก สว.ภาคประชาชน เข้าไปคานอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยม แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ รื้อโครงสร้างองค์กรอิสระ มาตั้งแต่เดือน มี.ค.ทว่ากลับพ่ายแพ้ไป โดยมี สว.เข้าสภาฯไปน่าจะไม่ถึง 20 คน
เริ่มปัดฝุ่นแคมเปญ “โละสภาฯสูง” ซึ่งเป็นแนวคิดเดิมตั้งแต่สมัย “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กลับมาอีกครั้ง โดยล่าสุดเมื่อ 3 ก.ค. “ปิยบุตร” ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวสายสภาฯ ยืนยันว่า ไทยทดลองใช้ระบบ 2 สภาฯ มากว่า 90 ปีแล้ว ไม่ตอบโจทย์ พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบว่า ทำไมไทยควรมีแค่ “สภาฯเดี่ยว”
น่าสนใจว่า “ค่ายสีส้ม” ปัจจุบันกำลังถูกฝ่ายอนุรักษนิยม “รุก” จนสุดขอบกระดาน มีทั้งคดียุบพรรคค้ำคอ ถูกตบหลังชิงเหลี่ยมเลือกตั้งนายก อบจ. จนตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครในหลายจังหวัด บรรดา “งูเห่า” เริ่มเดินเกมเข้าหาฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ
ล่าสุดการพ่ายแพ้เลือกตั้งสภาฯสูงอีก จะเดินเกมแก้หมากนี้อย่างไร ต้องติดตาม