ส่องเสียง ‘สว.ส้มอิสระ’ แพ้น็อกเกมสภา ?

ส่องเสียง ‘สว.ส้มอิสระ’ แพ้น็อกเกมสภา ?

สว.ประชาชน ที่ฝ่าด่านจัดตั้ง เข้าสภาสูงได้ มีเพียง 15% สัดส่วนเท่านี้ ย่อมดันวาระเปลี่ยนประเทศไปยาก เพราะเกมนิติบัญญัติต้องใช้เสียงข้างมากเอาชนะกัน

KEY

POINTS

Key Point :

  • การประกาศผลรับรอง 200สว. จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพื่อให้ กลไกนิติบัญญัติได้เดินหน้าเต็มระบบ
  • ผลการเลือกสว.จากภูมิหลังของ 200สว. เห็นชัดว่า ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายบ้านใหญ่ เกิน70% ส่วน สว.ประชาชน ฝ่าด่านจัดตั้งมาได้แค่ 15%
  • เมื่อ สว.ประชาชน เข้ามาได้น้อย ย่อมกระทบต่อการเข็นวาระงานเปลี่ยนประเทศ
  • จับตา 3 วาระทั้งแก้รธน.-แก้กฎหมาย-ตั้งองค์กรอิสระ ที่สัดส่วนเสียง สว. ต้องใช้ข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง
  • หาก สว.ประชาชน ต้องการเปลี่ยน 3 วาระนั้นต้องเดินแบบมีกลยุทธ และใช้การทำงานเชิงรุก 
  • หรือใช้การขับเคลื่อนนอกสภา ให้ประชาชนเป็นฐานพิงหลัง

การเลือก “สว.” ชุดใหม่ ที่นับเป็นชุดที่ 13 ของการเมืองไทย แม้ขณะนี้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) จะยังไม่ประกาศรับรองผู้ที่ได้รับเลือก 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คน แต่เชื่อว่าคงรออีกไม่นาน และจะมี “สว.” เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ

สำหรับ “สว.”ชุดใหม่ที่กำลังเข้ามา เมื่อเช็ก ประวัติ-ภูมิหลังทางการเมืองของแต่ละคน พอแยกแยะได้ว่า มาจากแม่น้ำคนละสาย และหลากหลายอุดมการณ์ความคิด

หากจำแนก “สี สว.” แบบคร่าวๆ อาจได้ภาพเป็น “สายสีน้ำเงิน” ที่อิงกับจังหวัด และฐาน “บ้านใหญ่ทางการเมือง” ที่นับว่ามีจำนวนเป็นเสียงข้างมากเกินครึ่งของสภาสูง หรือคิดเป็น 70% ขณะที่ “สายสีส้ม-อิสระ” มีสัดส่วนอยู่ที่ 15% ส่วนอีกกลุ่มอาจจับมัดรวม ได้จาก “สายหลากสี - สายกลาง” ที่มีสัดส่วนประมาณ 15%

จากสัดส่วนที่แยกแบบคร่าวๆ อาจทำนายอนาคตของการเมืองในสภาสูงได้ว่า วาระเปลี่ยนประเทศตามกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยป่าวประกาศนั้น อาจขับเคลื่อนลำบาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ หากเรื่องที่ต้องการทำนั้น “ขาใหญ่” ของสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ

ส่องเสียง ‘สว.ส้มอิสระ’ แพ้น็อกเกมสภา ? เพราะเกมการเอาชนะกันใน “ฝ่ายนิติบัญญัติ” จำเป็นต้องใช้ “เสียงข้างมาก”

ดังนั้นเมื่อ “เครือข่ายเปลี่ยนประเทศ” ที่เอาชนะด่านจัดตั้ง และเตรียมตัวเป็น “สว.ชุดที่ 13” ได้เพียง 15% จึงบอกได้ว่า ตัวเลขเท่านี้ อาจไม่สามารถเอาชนะงานในสภาฯ ได้

ต่อประเด็นนี้ “อังคณา นีลไพจิตร” ว่าที่ สว. กลุ่มประชาสังคม สายอิสระ ยอมรับว่า ในจุดยืนที่มีความเห็นในทำนองเดียวกันของกลุ่มผู้ที่รอการรับรองเป็น สว. อาจขับเคลื่อนในวุฒิสภาได้ยาก ทั้งประเด็นประชามติ ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงวาระกฎหมายอื่นๆ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. นั้นจะมีความอิสระเป็นกลาง และนับถือตัวเอง ไม่ทำตามการชักจูงของใคร

ขณะเดียวกัน การเดินเกมในสภา “กลุ่มสว.อิสระ” จำเป็นต้องเดินแบบมีกลยุทธ์ เหมือนที่ “ก้าวไกล” ฐานะฝ่ายค้านในสภาฯ ยึดปฏิบัติ คือการทำงานเชิงรุก

ส่องเสียง ‘สว.ส้มอิสระ’ แพ้น็อกเกมสภา ? เรื่องนี้ “อังคณา” บอกว่า การทำงานในสภาสูงต้องใช้การพูดคุย โดยหวังถึงภาพการทำงานร่วมกันในอนาคต แม้ว่าความพยายามพูดคุยที่มีมาตั้งแต่การเลือกระดับประเทศ จะไม่ค่อยมีใครยอมพูดคุย

“วันเลือกระดับประเทศ ได้เข้าไปคุยกับคนที่มีคะแนนสูงๆ เพื่อขอคะแนนบ้าง และมีบางคนที่เข้าไปคุยในประเด็นประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แต่พบว่าไม่มีใครยอมคุยด้วย” อังคณา ระบุไว้

เมื่อพิจารณากลไกของ “สภาสูง” ต่อการทำงานที่มีผลต่อฉากทัศน์การเมือง ถูกไฮไลต์ใน 3 เรื่อง คือ

1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2.การแก้ไขกฎหมายที่สัมพันธ์กับวาระเปลี่ยนประเทศ

และ 3.การลงมติเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระ

จะเห็นได้ว่า มีเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจน ในรัฐธรรมนูญ 2560 และกติกาที่เกี่ยวข้องว่า “สว.” ต้องเข้ามามีส่วนร่วม และกำหนดคะแนนเสียงไว้เป็นเกณฑ์ชี้ขาด

โดยวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เขียนให้ สว.มีบทบาท ใน 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ วาระรับหลักการ และวาระเห็นชอบทั้งฉบับ ซึ่งกำหนด “เกณฑ์ผ่าน” คือได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และในจำนวนนั้น ต้องมีเสียงสว.เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสว.ที่มีอยู่ในวุฒิสภา หรือ 67 เสียงจากสว.ที่มี 200 คน

ดังนั้น เมื่อดูจาก สว.สายส้มอิสระที่ฝ่าด่านจัดตั้งเข้าสภาสูงมาได้ที่ 15% หรือ ประมาณ 30 คนแล้ว วาระ “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ของประชาชน” ย่อมเป็นงานที่ไม่ง่าย หรือ อาจเป็นงานที่เป็นไปไม่ได้เลย หาก “ฝ่ายการเมืองบ้านใหญ่” ที่มี “สว.เป็นสภาสาขา” ไม่เอาด้วย

ส่องเสียง ‘สว.ส้มอิสระ’ แพ้น็อกเกมสภา ? ต่อมาคือ การโหวตร่างกฎหมายหรือ แก้ไขร่างกฎหมาย แน่นอนว่าประเด็นนี้ “พรรคก้าวไกล” มีเจตนาจะผลักดันร่างกฎหมายหลายฉบับ เพื่อเปลี่ยนประเทศให้ก้าวหน้า ตามกระบวนการแล้ว แม้ผ่าน “สภาฯ” มาได้ ต้องเข้าสู่การพิจารณาของ “วุฒิสภา” ฐานะสภากลั่นกรอง ซึ่ง “สว.” มีสิท​ธิเห็นต่าง มีสิทธิ์แก้ไขได้

ดังนั้น ประเด็นนี้ “สว.ที่เป็นคนของสายน้ำเงิน” อาจจะสนับสนุนหรือเตะตัดขา เพื่อถ่วงวาระกฎหมายก้าวหน้าได้ เพราะกำหนดเกณฑ์ผ่าน ไว้ที่ “เสียงข้างมาก” ของผู้ลงมติ

สุดท้าย คือ วาระของการเห็นชอบ “กรรมการองค์กรอิสระ” ที่ในปี 2567 นี้ จะมีถึง 12 คนเข้าสู่กระบวนการเห็นชอบของ “วุฒิสภา” ตามกติกาและการปฏิบัติของ “สว.” ชุดที่ผ่านมา เมื่อได้รายชื่อ จากกรรมการสรรหาแล้ว วุฒิสภาต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ถูกเสนอชื่อ ก่อนจะนำรายงานเข้าวุฒิสภาและขอมติเห็นชอบ โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของ สว.ทั้งหมดที่มีอยู่ หรือ 100 เสียงขึ้นไป

ดังนั้นตามที่มีความต้องการ “เปลี่ยนผ่านจากขั้วหนึ่งไปสู่อีกขั้วหนึ่ง”ในองค์กรอิสระ ลำพัง 30 เสียงของ สว.ส้มอิสระ ย่อมทำอะไรไม่ได้หาก “เสียงส่วนใหญ่”ที่มีเกินครึ่งของสภาสูง ไม่เอาด้วย

ส่องเสียง ‘สว.ส้มอิสระ’ แพ้น็อกเกมสภา ? จะเห็นได้ว่า วาระการต่อสู้ของ “ตัวแทนประชาชน” ภายใต้อุดมการณ์ที่ต้องการให้มี “สว.ประชาชน” เพื่อเปลี่ยนประเทศ หากว่าตามกติกาแล้ว “สว.สายส้มอิสระ” อาจจะแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น และอาจถูกปรามาสได้ว่า เป็นเพียง “ไม้ประดับ”

ทว่า เกมต่อสู้ทางการเมืองตามยุทธศาสตร์ “เครือข่ายก้าวหน้า-เปลี่ยนประเทศ” คงไม่ยอมแพ้ หรือหยุดแค่ในกลไกของสภาฯ เพราะพวกเขายังมีกลเกมสำคัญ คือผลักดันให้เป็น “วาระประชาชน” เพื่อใช้เป็นฐานเสริมพลังไว้ต่อกรกับ “สว.สายบ้านใหญ่”ในอนาคต.