'ก้าวไกล' ยื่นญัตติ ขอรัฐสภา ผ่านคำถามประชามติแก้รธน.แบบไม่มีเงื่อนไข

'ก้าวไกล' ยื่นญัตติ ขอรัฐสภา ผ่านคำถามประชามติแก้รธน.แบบไม่มีเงื่อนไข

"ก้าวไกล"ยื่นญัตติ ขอ มติ"รัฐสภา" ผ่านคำถามประชามติ แก้รธน.ไร้เงื่อนไข ชี้ คำถามของรัฐบาล เสี่ยงได้เสียงไม่เอกภาพ - เป็นปัญหาทางกฎหมาย

ที่รัฐสภา  พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบการทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”

โดยนายพริษฐ์  กล่าวว่าเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตติดังกล่าว เพราะกังวลต่อคำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด ที่ระบุว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์”  นั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดและไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการตั้งเงื่อนไขดังกล่าวอาจมีปัญหาเชิงกฎหมาย และ ทำให้คนที่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขไม่แก้หมวด 1 หมวด2  ลงคะแนนเห็นชอบโดยไม่เป็นเอกภาพ

"คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีเสนอเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันได้ เพราะในเมื่อเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญคือการออกแบบกติกาการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง การปิดกั้นข้อเสนอจากประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 อาจเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ถูกมองว่าสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง" นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์  กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ารัฐบาลมีจุดยืนที่ต่างกับพรรคก้าวไกลในประเด็นของหมวด 1 และหมวด 2 แต่หากรัฐบาลเลือกใช้คำถามประชามติตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ และประชามติผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ขั้นตอนถัดรัฐบาลสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขได้ว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวด ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งสอดคล้องกับรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเข้าสู่รัฐสภา

"การเลือกคำถามประชามติที่พรรคก้าวไกลเสนอในวันนี้ จะทำให้รัฐบาลยังคงเลือกที่จะล็อกหมวด 1 และหมวด 2 ได้เช่นเดิมตามจุดยืนของรัฐบาล แต่จะช่วยลดความเสี่ยงที่ประชามติรอบแรกจะไม่ผ่าน"  นายพริษฐ์ กล่าว.