‘เครื่องบินรบ’ โจทย์ใหญ่ ‘เศรษฐา’ เกมถ่วงดุลมหาอำนาจ

‘เครื่องบินรบ’ โจทย์ใหญ่ ‘เศรษฐา’ เกมถ่วงดุลมหาอำนาจ

ความต้องการของ"สหรัฐฯ" ที่ส่งผ่านทางทูตมาถึง "รัฐบาลไทย" แม้ไม่ถึงกับกดดัน แต่จะไม่ใส่ใจก็ไม่ได้ เพราะทางการทูต รัฐบาลไทยต้องมีคำตอบ ขึ้นอยู่กับว่าคำตอบจะออกมาทิศทางใด

KEY

POINTS

  • ทอ.ไทย ทยอยปลดประจำการเครื่องบินขับไล่ F-16 สหรัฐฯ ในปี 2571-2575
  • รมว.กลาโหม ลงนามเตรียมนำเรือดำน้ำจีนเข้าคณะรัฐมนตรี และจะเดินทางมาถึงไทยปี 2571
  • การจัดซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ของ ทอ.ไทย หากF-16 สหรัฐฯ ไม่ได้รับเลือก  ย่อมส่งผลต่อยุทธศาสตร์ทางการเมืองโลก

 

ไม่รู้ว่าใครกดดันมากกว่ากันระหว่าง“รัฐบาลไทย-สหรัฐฯ”ที่สะท้อนออกมา ผ่านโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ หลังทูตสหรัฐฯทำหนังสือถึง“เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ขอให้พิจารณาซื้อเครื่องบิน F-16 block 70 ของ บริษัท Lockheed Martin โดยให้เหตุผลเหมาะกับศักยภาพของ ทอ.ไทย

ขณะที่ “สุทิน คลังแสง”รมว.กลาโหม ลงนามเตรียมนำเรือดำน้ำจีนเข้าคณะรัฐมนตรีขออนุมัติแก้ไขสัญญาเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ พร้อมขยายกรอบเวลา  คาดว่าเรือดำน้ำลำแรกของจีน จะเดินทางมาถึงไทยปี 2571

เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ย ทอ.ไทย ทยอยปลดประจำการเครื่องบินขับไล่ F-16 สหรัฐฯ หลังมีอายุใช้งานมาอย่างยาวนานในปี 2571 จะเหลือ F-16 เพียงฝูงเดียว และจะปลดประจำการทั้งหมดปี 2575 ลำพังเพียงเครื่องบินขับไล่ Gripen 1 ฝูง 11 เครื่อง ไม่เพียงพอดูแลอธิปไตย โดยเฉพาะด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออก

ปัจจุบัน ทอ.ไทย คัดเลือกแบบเครื่องบินรบฝูงใหม่ จัดซื้อในงบประมาณประจำปี 2568 จำนวน 4 เครื่อง วงเงิน 19,000 ล้านบาท เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายระหว่าง 2 ตัวเลือกที่เข้าตามเงื่อนไขความต้องการ คือ Gripen E/F ของบริษัท SABB สวีเดน และ F-16 block 70 ของบริษัท Lockheed Martin สหรัฐฯ

แน่นอนว่า หาก F-16 สหรัฐฯ ไม่ได้รับเลือกในรอบนี้ ย่อมส่งผลต่อยุทธศาสตร์ทางการเมืองโลก แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สหรัฐฯกำลังแข่งขยายอิทธิพลกับจีน เพราะเรือดำน้ำจีนและ Gripen เริ่มทยอยเดินทางถึงไทยปี 2571 ส่วนยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯนอกจากไม่มีทยอยเข้ามาแล้ว และ F-16 ที่ ทอ.ไทยมีอยู่เตรียมปลดประจำการ

ส่งผลต่ออัตราส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ มีประจำการในกองทัพไทย เมื่อเทียบกับชาติอื่นจากเดิม 1 ต่อ 1 จะกลายเป็น 2 ต่อ 1 และอนาคตมีแนวโน้มจะเป็น 3 ต่อ1 และ 4 ต่อ 1 ตามลำดับ

หากมองในมุมนัยการเมือง กรณีทูตสหรัฐฯ เข้าพบ “สุทิน” ควบคู่ไปกับการทำหนังสือถึง “เศรษฐา” ย่อมหวังผลให้ ทอ.ไทย เลือกแบบเครื่องบินขับไล่ตามนโยบายของรัฐบาล แต่ในทางกระบวนการกฎหมายให้อำนาจ ทอ.ไทย คัดเลือกแบบ ให้ตอบโจทย์ความต้องการภายในกองทัพ และความพร้อมรบเป็นหลัก

โดย ทอ.ไทย ให้ความสำคัญและคำนึงถึงงบประมาณที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด หากจัดหาเครื่องบินรบที่ดี มีคุณภาพ ต้องใช้งบประมาณสูง น่าจะเป็นไปได้ยาก จึงหวังเลือกแบบเครื่องบินที่มีสมรรถนะ ทอ.รับได้ และจัดหาได้ครบตามความต้องการในกรอบวงเงิน

Link หรือเครือข่ายการรับส่งข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) ที่กองทัพทั่วโลกใช้งาน เชื่อมต่อระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ 3 เหล่าทัพ ตามนโยบาย สุทิน รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน เช่น ก้าวไกล ให้ความสำคัญประเด็นนี้ในเวทีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568

เพราะที่ผ่านมาแม้ ทอ.ไทย มี F-16 ประจำการในกองบินต่างๆ แต่ไม่มี Link-16 ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การซ่อมบำรุง เพียงแค่สหรัฐฯไม่ส่งอะไหล่ เจ้าหน้าที่มาซ่อมบำรุง ก็ไม่สามารถนำ F-16 ขึ้นบินปฏิบัติภารกิจได้

จนมีคำพูดที่ว่า “ทอ.ไทยมี F-16 ประจำการอยู่ก็จริง แต่ไร้ซึ่งอำนาจความเป็นเจ้าของ เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ ไม่มีความเป็นอิสระ ใช้ Link แต่ละครั้งต้องขออนุญาตสหรัฐฯ เพราะต้องใช้รหัสผ่าน”

แต่รอบนี้ตามคำบอกกล่าวของสุทิน ทาง ทูตสหรัฐฯ เสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ ทั้งให้เงินกู้จนจบโครงการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านซ่อมบำรุงตามความต้องการ ทอ.ไทย

“ก็คุยกันอยู่ ซึ่งทางทูตสหรัฐฯ บอกว่าเชื่อมได้ และเขาก็เสนอเรื่องนี้เช่นกัน เขายืนยันว่าระบบลิงก์ของเขาสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องบินรบที่ ทอ. มีอยู่ได้ ซึ่งเขาโฆษณาว่ามีความทันสมัย มีสมรรถนะเมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นอื่นแล้ว ของเขาดีกว่าและเหมาะที่สุดในยุคนี้” สุทิน ระบุ

ทว่า ความต้องการของสหรัฐฯ ส่งผ่านมายังรัฐบาลไทย แม้ไม่ถึงกับกดดัน แต่จะไม่ใส่ใจก็ไม่ได้ เพราะทางการทูต รัฐบาลไทยต้องมีคำตอบ จะตอบรับ หรือปฏิเสธ หรือให้คำตอบแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ต้องแสดงออกมาให้ชัดเจน นับเป็นเรื่องน่าหนักใจของนายกฯเศรษฐา

ตามหลักการ กระบวนการคัดเลือกแบบเครื่องบินรบ แม้จะอยู่ในอำนาจ ทอ. แต่หากรัฐบาลเทน้ำหนักการเมืองระหว่างประเทศ อีกทั้ง นายกฯเศรษฐา ยังมีนโยบายจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับ หากสหรัฐฯยื่นข้อเสนอที่ตรงใจ

แต่หากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ทำให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี เพราะแรงกดดันทั้งหมดจะพุ่งไปที่ ทอ. หากมีปัจจัยภายนอกเข้ามาส่งผลต่อการคัดเลือกแบบเครื่องบินรบ ไม่เป็นไปตามความต้องการแท้จริง ที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องความพร้อมรบเป็นอันดับหนึ่ง ทอ.จะตกที่นั่งลำบาก

ดังนั้นเชื่อว่า “นายกฯเศรษฐา” คงมีทางออกที่ทำให้ทุกฝ่ายวิน-วิน รักษาความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานมิตรประเทศ ในขณะ ทอ.ไทย ได้เครื่องบินรบตรงความต้องการ

เว้นแต่กรณี สหรัฐฯ ใจป้ำ ยก Link-16 ให้ ทอ.ไทย เป็นเอกเทศ พร้อมหั่นราคา F-16 block 70 ให้อยู่ในกรอบงบประมาณ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์เหนือกว่าคู่แข่ง