‘นันทนา นันทวโรภาส’ สว.พันธุ์ใหม่ สายสีส้ม ภารกิจแก้ รธน. รื้อที่มาสภาสูง

‘นันทนา นันทวโรภาส’ สว.พันธุ์ใหม่ สายสีส้ม ภารกิจแก้ รธน. รื้อที่มาสภาสูง

“นันทนา นันทวโรภาส” ฝ่าด่านโหดตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดจนมาถึงระดับประเทศ ได้รับเลือกเป็น สว. ในรอบสุดท้าย ติดอันดับ 9 จำนวน 33 คะแนน ในกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชนและผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ

KEY

POINTS

  • “นันทนา นันทวโรภาส” เป็น สว. ติดอันดับ 9 จำนวน 33 คะแนน ในกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชนและผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม จากทั้งหมด 20 กลุ่ม
  • ลงสมัคร สว.เพื่อเข้าไปในรัฐสภายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 
  • ช็อกผลโหวต สว.20 กลุ่ม อันดับ 1-6 ได้คะแนนสูงจนน่าตกใจ
  • นิยามกติกาเลือก สว.ครั้งนี้เป็นการรวม "บ้านยักษ์" จากบ้านใหญ่หลายจังหวัด
  • รัฐธรรมนูญออกแบบให้กติกาเลือก สว.ต้อง "หักหลัง" ผู้สมัครด้วยกันเอง
  • ประกาศตัวเป็น สว.พันธุ์ใหม่ สายสีส้ม พร้อมรับใช้ประชาชน
  • ภารกิจแรกของ สว.ต้องรื้อที่มาของ สว. ถ้าโหวตแพ้พร้อมฟ้องประชาชน

“บทบาทของ สว.ชุดปัจจุบัน ที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน ถือเป็นจุดต่ำสุดของความเป็น สว. ดิฉันเรียกว่า สว.ที่เป็นมะเร็งของสังคม คือ นอกจากไม่ได้เป็นส่วนที่ประโยชน์ร่างกายแล้ว เนื้อร้ายนี้ยังทำลายร่างกาย และสังคมทั้งสังคม ดังนั้น ถ้าเรามีโอกาสได้เป็น สว.ก็จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงกฎกติกา ที่จะได้มาซึ่ง สว.”

 รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ผู้บุกเบิกหลักสูตรสื่อสารการเมืองของประเทศไทย คือ 1 ในว่าที่ สว.ชุดใหม่ 200 คน ระบุผ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงความตั้งใจในการก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาของเธอ

“นันทนา” เป็นผู้สมัคร สว.จากกรุุงเทพฯ ที่ฝ่าด่านโหดตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดจนมาถึงระดับประเทศ ได้รับเสียงโหวตจากผู้สมัคร 33 คะแนนในรอบสุดท้าย รอบเลือกไขว้ อันดับ 9 จำนวน 33 คะแนน ในกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชนและผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ

วิสัยทัศน์ที่เธอประกาศไว้แต่ต้นคือ ตั้งใจสมัคร สว.เพื่อต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็น สว.ที่รับใช้ประชาชน

แม้“นันทนา”จะมาถึงจุดหมาย แต่เธอก็ตั้งคำถามถึงกติกาในการเข้าสู่สภาสูงด้วยความผิดหวัง

สลดใจกติกาเลือก สว.ได้จัดตั้ง

โดยเธอชี้ให้เห็นว่า มาถึงวันที่เลือก สว.รอบสุดท้ายระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 และนับผลโหวตลากยาวจนถึงเช้ามืดวันที่ 27 มิ.ย. 2567 เธอซึ่งเป็นทั้งผู้สมัครและผู้เลือกเพื่อน สว.ด้วยกันเองบอกว่า “กติกาวิปริตมากๆ มันไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ได้คิดว่าจะมีการล็อกโหวตขนาดนี้ ที่เข้ามาได้ทุกกลุ่มอาชีพ เป็นแผง 1-6 ขนาดนี้”

“พอเข้ามาเห็นการเลือก ก็ยิ่งรู้สึกสลดใจว่า ไอ้วิธีการนี้แหละ มันคือวิธีการไม่ได้คนที่มีคุณภาพ เข้ามาอยู่แล้ว เราต้องรีบเข้าไปเปลี่ยนกติกาทั้งหมดให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนค่ะ”

‘นันทนา นันทวโรภาส’ สว.พันธุ์ใหม่ สายสีส้ม ภารกิจแก้ รธน. รื้อที่มาสภาสูง

บรรยากาศเลือก สว.รอบสุดท้ายนันทนาระบุว่า “ดิฉันเป็นสื่อมวลชนเจอชาวนา ก็อึ้งไปเลย เจอนักกีฬาก็ไม่รู้จักอีก สุดท้ายวิธีคิดตั้งต้นจากกลุ่มต่างๆ โดยจะให้มาไขว้เลือกกันมันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะเขาไม่รู้จักกันค่ะ เมื่อไม่รู้จักกันจะเลือกกันได้ยังไง สุดท้ายเราได้ สว.จัดตั้ง ไม่ใช่ สว.ตัวแทนกลุ่มอาชีพ วิธีคิดแบบนี้ต้องเลิก ต้องเปลี่ยนวิธีการเลือกโดยเร็ว”

“เราไปดูได้เลยลำดับที่ 1-6 จะเป็นลำดับที่ได้คะแนนสูงปรี๊ด พอเป็น 7-10 คะแนนจะแตกต่างกันลงมาค่อนข้างต่ำ มีสูงกับมีต่ำ ตรงกลางไม่มี”

นันทนา ระบุถึงความแปลกประหลาดของผลโหวต 20 กลุ่มอาชีพที่ได้ว่าที่ สว.หน้าใหม่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้เป็น สว.ได้เพียง 10 คน และมีบัญชีสำรองอีกกลุ่มละ 5 คนเท่านั้น

เลือก สว.บ้านยักษ์ รวมอิทธิพลบ้านใหญ่

ถามถึงผลการเลือก สว. 200 คน สื่อชี้ไปในทางเดียวกันว่าเป็น สว.สายสีน้ำเงิน บ้านใหญ่ในหลายจังหวัด "นันทนา" ตอบทันทีว่า “ไม่น่าจะเรียกว่าบ้านใหญ่นะคะ น่าจะเรียกว่า บ้านยักษ์ค่ะ คือ ทั้งหมดรวมทั้งประเทศ คือบรรดาบ้านใหญ่ทั้งหลายมาแพ็ค รวมกัน บ้านใหญ่แต่ละจังหวัดที่มีอิทธิพลอำนาจในพื้นที่มารวมกัน 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ”

“76 จังหวัดเกิดจากกลุ่มบ้านใหญ่ ในแต่ละพื้นที่แล้วมารวมเป็นบ้านยักษ์ สุดท้ายก็คือบ้านยักษ์ที่สามารถที่จะกำหนดกลุ่มคนที่จะได้ในแต่ละสายอาชีพ 20สาย กำหนดได้หมดเลย มันก็เป็นผลจากระดับท้องถิ่นบ้านใหญ่ ไล่มาจนถึงระดับประเทศกลายเป็นบ้านยักษ์ แล้วบ้านยักษ์สามารถกำหนดตัวของผู้ที่จะผ่านเข้ามาทั้งหมด มันจึงจะเป็นระบบที่จัดตั้งมาอย่างเป็นระบบ แล้วได้ผลมากที่สุด”

“ดิฉันก็ชื่นชม จ.บุรีรัมย์ มี สว.มากที่สุดในประเทศไทย ก็แปลว่ามีคนมีความรู้สึกความสามารถทางนิติบัญญัติอยู่มากที่สุดในประเทศไทย ที่ จ.บุรีรัมย์ ดิฉันไม่ได้ด้อยค่าอะไร เพียงแต่นึกว่า อ๋อ...กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่ศูนย์กลางของความเจริญ ความรู้ต่อไปแล้วจากนี้ไปแล้ว มันก็ย้ายไปอยู่ศูนย์กลาง จ.บุรีรัมย์ไปแล้ว”

‘นันทนา นันทวโรภาส’ สว.พันธุ์ใหม่ สายสีส้ม ภารกิจแก้ รธน. รื้อที่มาสภาสูง

กติกา สว.โหดเหี้ยมเปิดดีลหักหลังกันเอง

ผลคะแนนที่ออกมาแบบแปลกประหลาด ทำให้เธอตั้งฉายาการเลือก สว.ครั้งนี้ว่า เป็นกติกาที่ “โหดเหี้ยม หักหลัง ฮั้วสมบูรณ์”

“กติกานี้ คือเกมโชว์ที่จะได้คนที่โหด แล้วก็กล้า แล้วก็เสี่ยง แล้วก็กล้าที่จะหักหลัง แล้วกล้าที่จะเอาชนะ เพื่อที่จะไปเอารางวัลใหญ่”

“ถ้าเราเข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้สมัคร 10 คน แล้วผู้สมัคร 10 คนนี้ จะเป็นผู้รอด 5 คนไปเข้าสู่รอบไขว้ ในตอนบ่าย รอบเช้าเลือกกันเอง มี 2 คะแนน เขาจะคัดเอา 5 คนแล้ว 5 คนนี้จะได้ไปต่อรอบบ่าย ถามว่าโดยธรรมชาติของคนเขาจะให้อีก 1 คะแนนกับคนที่เขาคิดว่าโดดเด่นหรือไม่ ดังนั้น รอบนี้จะเป็นรอบสกัดจุดแข็ง คือ พยายามเอาคนที่โดดเด่นออกไปก่อน ไม่ให้คะแนนเขา อันนี้โหดมาก”

ส่วนรอบหักหลังคือรอบสุดท้ายของระดับประเทศ คือ การเลือกแบบไขว้ ตรงนี้ผู้สมัครจะมี 4 โหวต เพื่อไปเลือกคนกลุ่มอื่น กลุ่มละ 1 โหวต แต่จะเลือกตัวเราเองไม่ได้เหมือนรอบก่อน แต่มี 4 โหวตไปแลกกับ 4 กลุ่ม เราก็จะได้ 4 คะแนน ถือว่าเป็นการแลกแบบสมบูรณ์ แต่ถ้าทุกคนได้ 4 คะแนนเท่านั้น ผลลัพธ์คือไม่มีใครเข้ารอบ แต่จะต้องจับสลากหาผู้ได้เป็น สว.

"นันทนา" ชี้ว่าเป็นอุบายของ “ซือแป๋” ผู้ออกแบบกติกาเลือก สว. 20 กลุ่มอาชีพที่พิสดารที่สุดในโลก เพราะได้วางกลวิธีอันแยบยลให้หักหลังเพื่อนผู้สมัครด้วยกันเองอย่างเลือดเย็นที่สุด

“สมมติดิฉันไปเปิดดีล 4 ดีล คือ 1-2-3-4 แล้วดิฉันจะได้มา 4 แล้วดิฉันโหวตคืนไป 4 แต่ดิฉันไปเปิดอีก 1 ดีล อีก 4 โหวต คราวนี้ดิฉันจะไปหักหลังสมบูรณ์ คือ ดิฉันไม่มีโหวตเหลือไปแลกกับเขาแล้ว แต่หลอกเขาว่าดิฉันจะให้เขา 1-2-3-4 แล้วเขาก็จะให้เรา”

“เท่ากับว่า ดิฉันไปหลอกคนมา 4 คน จาก 4 คนที่แลกจริง กับอีก 4 คนที่หลอก กลายเป็น 8 คะแนน ดังนั้น คนที่หักหลังจะได้เข้ารอบ มันต้องหักหลังกันขนาดนั้น แล้วคนจำนวนมากก็ทำ มีคนจำนวนมากที่ทำ ก็ไปยืนด่ากันหลังจากที่ผลออกมา เพราะว่า คะแนนมันรู้ไงคะว่าใครเลือกใคร ใครไม่เลือกใคร รอบที่เรียกว่าหักหลัง ค่อนข้างรุนแรง มีคนจำนวนหนึ่งออกมาแล้วด่าทอ โวยวาย เพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกคนเข้ามาด้วยกันหักหลัง”

แปลกใจ สว.คะแนนท็อปนั่งนิ่ง 

เมื่อถามว่า ว่าที่ สว.ที่คะแนนสูงๆ ขอคะแนนเสียงกับเพื่อน สว.หรือไม่ "นันทนา" ตอบว่า "ไม่เลยค่ะ ทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย เขาไม่คุยกับใครเลยค่ะ เขาคุยกันเอง  คือดิฉันจะพยายามไปคุยกับเขานะคะ เพราะว่าดิฉันรอบเช้าช็อกกับตัวเลข ยังช็อกอยู่ และอยากจะไปคุยกับเขา เหมือนกับว่า โห..เก่งจังเลยนะคะ ยินดีด้วยนะคะ เขาไม่คุยกับดิฉันเลยค่ะ เขายิ้มแล้วเขาไปเลยค่ะ หันหน้าไปคุยกับเพื่อนเขา แล้วเขาไม่ยอมสบตากับเราอีก"

"เขานั่งกันเงียบๆ คุยกันเองแล้วก็อยู่ๆ คะแนนก็ออกมาแบบนี้ ซึ่งอยู่ๆ มันมหัศจรรย์ไงคะ เหมือนกับเชื่อมจิตไปหรือเปล่า สามารถที่จะออกมาแต่ละกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม 6 อันดับแรกเป็นกลุ่มเป็นก้อนมาแบบนี้ ดิฉันว่าต้องมีการเชื่อมจิตอะไรกันค่ะ"

"นันทนา" บอกว่า การที่ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญต้องการให้ สว.ไม่มาจากสภาผัวสภาเมีย หรือป้องกันการถูกฝ่ายการเมืองครอบงำนั้น วิธีการคิดแบบนี้เป็นการดูถูกประชาชน เพราะหากผู้ได้เป็น สว.ทำหน้าที่ไม่ดี ผลสุุดท้ายประชาชนก็จะลงโทษผ่านบัตรเลือกตั้ง ดังนั้น การได้มาซึ่ง สว.ควรมาจากประชาชนโดยตรง

ค้านคว่ำกระดานเลือก สว.ให้สอยเป็นกรณีไป

อย่างไรก็ตาม "นันทนา" ไม่เห็นด้วย ที่จะให้การเลือกครั้งนี้เป็นโมฆะ แต่ควรจะประกาศรับรอง คนที่เข้ามาโดยวิธีปกติและสุจริต หากพบว่ามีผู้สมัครคนใดที่ทุจริตก็ดำเนินการเป็นกรณีไป

“ประชาชนรอคอย สว.ชุดใหม่ แล้วอยู่ๆ ก็มีบางคนใช้วิธีไม่ปกติ ไม่สุจริตเข้ามาแล้วล้มกระดานทั้งหมดอันนี้ ประชาชนเป็นฝ่ายเสียหาย แล้วผู้สมัครที่เขาเข้ามาแล้วเขาได้คะแนนบริสุทธิ์ เขาก็ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรให้การเลือกครั้งนี้เป็นโมฆะ แต่ควรจะประกาศรับรอง คนที่เข้ามาโดยวิธีปกติและสุจริต แล้วถ้าเผื่อค้นพบว่ามีผู้สมัครคนใดที่ทุจริตก็ไปดำเนินการเป็นกรณีๆ”

“ถ้าล้มกระดานมันจะเข้าทาง สว.ชุดเดิม ซึ่งจะรักษาการยาว การรักษาการที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับประชาชน มันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่ต้องถึงขั้นล้มกระดาน อย่างน้อยที่สุด สว.ชุดนี้ไม่ได้ดีอย่างที่ประชาชนคาดหวัง 100% แต่มันก็ไม่แย่ขนาด คสช.จิ้มมาทั้งคณะ”

"ดิฉันคิดว่า การสืบสวนแล้วการเสาะหาหลักฐาน  มันไม่น่าจะยาก คะแนนมันขึ้นมาเป็นปึกเป็นแผ่น แล้วมันก็มาเป็นสามารถที่จะระบุได้เลยว่าใครจะขึ้นมาได้เลย ได้เป็น สว.ตรงนี้คะแนน มันขึ้นมาเป็นแผ่นๆ แบบน่าตกใจมาก ถ้าสืบสวนกันจริงๆ ไม่ต้องมีใบเสร็จก็จะเห็น"

‘นันทนา นันทวโรภาส’ สว.พันธุ์ใหม่ สายสีส้ม ภารกิจแก้ รธน. รื้อที่มาสภาสูง

ปลงประมุขสภาสูง ไม่พ้นคนสีน้ำเงิน

เมื่อถามถึงการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ อาจได้ประมุขสภาสูงสายสีน้ำเงินมีเงาคน จ.บุรีรัมย์อยู่ฉากหลัง “ว่าที่ สว.สายสีส้ม” บอกว่า กลุ่มสายแข็งทีจะส่งคนเข้าประกวดแล้วน่าจะได้รับเสียงโหวตเลือกเป็นประธานวุฒิสภามาจากสีอะไร ก็คงจะชัดเจนแล้ว เพราะมาเป็นปึกเป็นแผ่นขนาดนี้

“ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจส่งใครก็ได้เข้ามาเป็นประธานวุฒิสภา อย่างน้อยให้คำนึงถึงประชาชนว่า ประชาชนเขาก็ยังมองว่า วุฒิสภากินเงินเดือนของเขา การจะมีใครก็ตามมาดำรงตำแหน่ง ควรพิจารณาถึงความรู้ความสามารถ เหมาะสม ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งตรงนี้ ประชาชนเขาดูอยู่ว่าถ้าเอาคนที่เพียงเพราะมาจากกลุ่มเดียวกัน แล้วมาตอบแทนกัน และอาจไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ประชาชนคงรับไม่ได้”

“ถ้าประชาชนมีความรู้สึกหมดหวังกับตัวผู้นำ ตัวประธานวุฒิสภา การทำหน้าที่ สว. ประชาชนจะไม่ให้การสนับสนุน แล้วจะเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้”

ส่วนจะหารือกันในหมู่เพื่อน สว.สายอิสระ เพื่อชิงตัวประธานวุฒิสภาหรือไม่ "นันทนา" บอกว่า “ประชาธิปไตยสุดท้ายแล้วมันก็คือจำนวนนับ มันคือเชิงปริมาณ เราก็รู้ว่ามีคนคุณภาพเข้าไป แต่ก็ไม่มาก เวลาลงมติก็ต้องใช้เสียงข้างมากอยู่ดี เราจะฝืนว่า เราเสียงข้างน้อย เราจะสู้ก็สู้ได้ในระดับหนึ่ง ส่งตัวแทนขึ้นไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราก็มีสปิริต ก็มีคนคุณภาพเหมาะสม แต่สุดท้ายเมื่อลงมติก็จะแพ้”

ภารกิจด่วนแก้ รธน.รื้อกติกาเลือก สว.

ภารกิจแรกที่ท้าทาย คือการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนกติกา สว.ทันที ขณะที่จำนวนเสียงอาจไม่ถึง 1 ใน 3 ของ สว. นันทนา ยอมรับว่า “กลุ่มคนที่เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ สว.พันธุ์ใหม่ แม้จะได้จำนวนน้อยอาจไม่ถึง 30 เสียง ก็หนักใจว่าจะสามารถไปผลักดันสิ่งที่ประชาชนต้องการได้แค่ไหน แต่เราจะสื่อสาร ถึงแม้ประชาชนจะยังไม่ได้ในสิ่งที่คาดหวังตั้งความหวัง แต่เราจะสื่อสารว่าทำไม มันจึงไม่ไปถึงจุดนั้น ประชาชนต้องได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”

เธอยังยืนยันว่า “สิ่งแรกที่จะต้องรีบเข้าไปทำ ในบรรดา สว.ที่ได้รับการรับรองแล้ว เข้าไปเปลี่ยนกติกาการได้มาซึ่ง สว.เลย”

“นันทนา” ย้ำว่า “คนที่ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การได้มาซึ่ง สว. ดิฉันต้องบอกว่าพอเถอะค่ะ ครั้งเดียวก็เกินพอ ให้เป็นครั้งแรก ครั้งเดียว ครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าเราเคยมีการเลือก สว.วิปริต ขนาดนี้ อย่าได้เกิดขึ้นอีกเลย”

ประกาศตัวเป็น สว.สีส้ม ยึดประชาชน

"นันทนา" ยังชี้ช่องโหว่ของกติการเลือก สว.ครั้งนี้ที่เปิดให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์ ถึงจุดยืนอุดมการณ์ จึงมอง่าเป็นกติกาที่ล้มเหลว คนที่เข้ามาได้แต่บอกตัวเองในอดีตเป็นใคร โดยไม่ต้องรู้จักกับอนาคต

"ต้องบอกว่าในอดีตฉันเป็นใคร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเลือกไปทำไม รู้แต่อดีต ไม่รู้ว่าเขาเข้าไปแล้วจะไปตั้งใจมีอุดมการณ์ทำอะไร"

เมื่อถามว่า นิยามตัวตนของเธอ เป็น สว.สายสีส้มหรือไม่ ว่าที่ สว.สายสื่อ ตอบทันทีว่า “ดิฉันเป็น สว.สีส้ม สีส้มในที่นี้ หมายถึง สว.ที่เป็นเสรีนิยมก้าวหน้า มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แล้วก็มีประชาชนเป็นศูนย์กลางทำหน้าที่ในการที่จะไปผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ดิฉันคิดว่าดิฉันเป็น สว.สีส้ม เพราะว่ามันคือสีแห่งความหวังของประชาชนค่ะ”

“ถ้าบอกว่าสีส้มคือ สีของเสรีนิยม ที่ก้าวหน้า ดิฉันเป็นสีนี้ แต่ดิฉันจะบอกตัวดิฉันเองว่า ดิฉันเป็น สว.พันธุ์ใหม่”

  ‘นันทนา นันทวโรภาส’ สว.พันธุ์ใหม่ สายสีส้ม ภารกิจแก้ รธน. รื้อที่มาสภาสูง

ส่วนจุดยืน "นันทนา" ย้ำว่า ไม่เคยเปลี่ยนไปเป็นอนุรักษ์ เพราะเป็นเสรีนิยมก้าวหน้ามาโดยตลอดทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็จะส่งเสียงมาโดยตลอด เพราะส่วนตัวจะมองว่าประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจ ประชาชนต้องเป็นผู้ทรงพลังอำนาจมากที่สุด

"นันทนา" ยังย้ำว่า สว.พันธุ์ใหม่จะมีอยู่ราวประมาณ 30 คนบวกลบ และคาดว่ากลุ่มนี้จะเป็น สว.ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งจะเรียก สว.พันธุ์ใหม่ ก็ได้

“ถ้าเราเป็น สว.พันธุ์ใหม่ ประชาชนต้องการอะไร เราก็จะโหวตตามนั้น ก็จะสนับสนุนสภาผู้แทนราษฎรให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้สำเร็จ เรื่ององค์กรอิสระจะเป็นอำนาจใหญ่ของ สว. ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต. ประชาชนอยากได้คนแบบไหน สว.พันธุ์ใหม่จะโหวตให้ได้ตามที่ประชาชนต้องการ”