พับแผน ‘ปลดล็อกกัญชา’ จังหวะรัฐบาล(ไม่)หวานเจี๊ยบ?
มติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.67 "เห็นชอบ" คืนกัญชาสู่ยาเสพติด พับแผนเรือธงสีน้ำเงิน "ปลดล็อกกัญชา" ลุ้น“คณะกรรมการป.ป.ส.” ด่านสุดท้ายปลายเดือนนี้ เช็กสัญญาณพรรคร่วมรัฐบาล "หวานเจี๊ยบ !?"
KEY
POINTS
- มติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.67 "เห็นชอบ" คืนกัญชาสู่ยาเสพติด ลุ้น “คณะกรรมการ ป.ป.ส.” ด่านสุดท้ายปลายเดือนนี้
- เช็กเสียงพรรคร่วมรัฐบาล พับแผน "เรือธงน้ำเงิน? " ดันปลดล็อก
- สัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล หนูหวานเจี๊ยบ!! ไม่ปะทะ?
“ในส่วนของผมเองนั้น ยืนยันว่าจะโหวตโนแน่นอน” จุดยืน “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กรณีนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ยังคงสะท้อนภาพ “เกมวัดพลัง” ในขั้วรัฐบาล ระหว่าง“เพื่อไทย”และ “ภูมิใจไทย” ที่ปรากฏออกมาอีกระลอก
ลำดับไทม์ไลน์ “กัญชาชนวนร้อน” ไล่เรียงตั้งแต่ วันที่ 5 ก.ค.67 ที่ผ่านมา คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษมีมติเสียงข้างมาก “เห็นชอบ”(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. … ที่กำหนดให้กัญชา และกัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เพื่อเป็นข้อเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนจัดทำกฎหมายลูก อนุญาตปลูก และใช้ทันประกาศ 1 ม.ค.2568
วันที่ 8 ก.ค.67 กลุ่มผู้คัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด นำโดย "ประสิทธิ์ชัย หนูนวล" เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่นข้อเรียกร้องในการตั้งคณะกรรมการร่วมฯเพื่อกำหนดกระบวนการศึกษาวิจัยใน 4 ประเด็นสำคัญ
พร้อมยืนยันว่า กัญชาไม่ได้ร้ายแรงกว่าบุหรี่ และแอลกอฮอล์ รวมถึงไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคจิตเวช หรือทำลายสมองเด็ก เรียกร้องให้ควบคุมโดยใช้ “พ.ร.บ.กัญชา” แต่ถ้าพบว่าร้ายแรงกว่า ก็ให้นำไปควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติดตามเดิม
วันที่ 10 ก.ค.67 พรรคภูมิใจไทยแจงหมายกำหนดการ “ไชยชนก ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นำทีมกรรมการบริหาร และสส.พรรคแถลงจุดยืนพรรคภูมิใจไทยคัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
หลังจากนี้ ยังต้องจับตาการประชุม “คณะกรรมการป.ป.ส.” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในช่วงปลายเดือนนี้ซึ่งจะชี้ขาดเป็นด่านสุดท้าย
เช็กเสียง “คณะกรรมการป.ป.ส.” ระดับ “รัฐมนตรี” ดูแล้ว ฝั่ง “ภูมิใจไทย” มีเสียงในมือ 3 เสียงคือ รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.ศึกษาธิการ
ส่วนอีก 5 เสียง จะเป็นในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธาน รวมถึงรัฐมนตรี “พรรคร่วมรัฐบาล” ประกอบด้วย รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พรรคชาติไทยพัฒนา) รมว.ยุติธรรม(พรรคประชาชาติ) รมว.สาธารณสุข(พรรคเพื่อไทย) รมว.อุตสาหกรรม(พรรครวมไทยสร้างชาติ)
ที่เหลือจะเป็นในส่วนของปลัดกระทรวง อธิบดี อัยการ และผู้นำเหล่าทัพ เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมต้องจับตาผลโหวตในวันดังกล่าว เพราะแม้แต่ตัว “อนุทิน” เองยังยอมรับว่า “โหวตก็แพ้ เพราะมีแค่ 3-4 เสียง แม้แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะเห็นด้วยหรือไม่?”
ที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันโดยทั่วว่า นโยบาย “ปลดล็อกกัญชา” ออกจากการเป็นยาเสพติด ถือเป็นเรือธงลำดับต้นๆ ซึ่ง “ค่ายสีน้ำเงิน” ประโคมโหมโรงมาตั้งแต่ในวันที่ “พรรคภูมิใจไทย”อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยในรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แต่แท้งคาสภาฯ ในวาระสอง จนกระทั่งยุบสภาฯ ในท้ายที่สุด
มาในยุค “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” ภูมิใจไทยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล วาดฝันเข็นเรือธงสีน้ำเงิน ด้วยการออกพ.ร.บ.กัญชา อีกรอบ
แถมทวงความจำ ไปถึงวันจับมือร่วมรัฐบาล
“เวลาเจรจาเรื่องการเมืองต่างๆ ต้องสนับสนุนนโยบายของพรรคร่วมทุกพรรคอยู่แล้ว” อนุทิน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67
ทว่า ท่าทีจากฝั่ง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข พยายามอธิบายเหตุผลการคืนกัญชาเป็นยาเสพติด แทนที่จะออกเป็น พ.ร.บ.ว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 เป็นระยะเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ถือเป็นกฎหมายหลัก และต้องมีกฎหมายลูกตามมา ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี
แต่เนื่องจากว่า เราออกกฏหมายรอง หรือพ.ร.บ.ไม่เสร็จ เพราะการเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น กฎหมายไม่ผ่านจึงจบ ไม่ทันเวลา และสามารถต่อได้อีก 1 ปี โดยจะครบกำหนดวันที่ 9 ธ.ค.67 นี้ ดังนั้น เมื่อทำไม่ทันแล้วจึงต้องรีบออกประกาศมายับยั้ง
แม้ “สมศักดิ์” จะพยายามย้ำว่า การคืนกัญชาสู่ยาเสพติด ยังไม่ปิดประตูตายในการ “ปลดล็อกกัญชา” ในอนาคต โดยเฉพาะการเสนอร่างพ.ร.บ.เข้าสู่สภาฯ ที่ยังคงทำได้หลังจากนี้
แต่เมื่อเกมกลับตาลปัตรเช่นนี้ ต้องติดตามดูว่า เมื่อนโยบาย “ปลดล็อกกัญชา” ซึ่งถือเป็นนโยบายเรือธงของ “ค่ายสีน้ำเงิน” ถูกพับ โดยพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน จะส่งผลไปถึงจังหวะก้าวย่างในการ “เดินหมาก” ต่างๆ ในขั้วรัฐบาลหรือไม่อย่างไร
โดยเฉพาะเกมสภาที่จำต้องอาศัยเสียงโหวตซึ่งกัน และกันทั้งใน "สภาล่าง" และ "สภาสูง"
ถึงที่สุดสัมพันธ์รัฐบาลจะยัง “หวานเจี๊ยบ” เหมือนอย่างที่ “อนุทิน” เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งเกิดวิวาทะกัญชา ระหว่าง "2 กระทรวง 2 พรรค"
“ถ้าท่านเศรษฐาอยู่ไม่ได้ อนุทินก็อยู่ไม่ได้ ท่านพ้นนายกฯ ผมก็พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเหมือนกัน โดยคุณลักษณะของผม ก็หนูหวานเจี๊ยบ! ไม่ปะทะ ไม่ขัดแย้งเป็นคาแรกเตอร์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว”
ที่สุดจะเป็นอย่างที่อนุทินพูด หรือมี “ปัจจัยแทรกซ้อน” อะไรหรือไม่ หลังจากนี้ต้องติดตาม!
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์