ศึก‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ พท. - พปชร. ฐานเสียง-สส.รุมต้าน จับตาปมดัน‘ไร่ละพัน’

ศึก‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ พท. - พปชร. ฐานเสียง-สส.รุมต้าน  จับตาปมดัน‘ไร่ละพัน’

ศึก‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ เพื่อไทย - พลังประชารัฐ ฐานเสียง-สส.รุมต้าน จับตาปมดัน‘ไร่ละพัน’ ส่อเค้าล่มปมเปิดช่องทุจริต ล็อกสเปกราคา-คุณภาพปุ๋ย

KEY

POINTS

  • ศึก "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่าง รัฐบาล กับ สส.เพื่อไทย เนื่องจากเกษตรกรไม่เห็นด้วยหากต้องยกเลิกโครงการ "ไร่ละพัน" เพื่อมาใช้ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" แทน
  • ปฏิกิริยาของ สส.เพื่อไทย สะท้อนชัดเจนว่าไม่เอาด้วยกับนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทำให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ ต้องรับหน้าแทน
  • ทว่าแรงต้านมีสูงจนอาจจะทำให้ "เพื่อไทย" สูญเสียคะแนนนิยม ทำให้มีแนวโน้มสูงที่รัฐบาลจะยอมถอยกลับไปใช้โครงการ "ไร่ละพัน"

เจอแรงต้านจนส่อเค้าต้องล้ม สำหรับโครงการ ปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปแล้ว พร้อมอนุมัติวงเงินในการดำเนินโครงการ 29,980 ล้านบาท

“ปุ๋ยคนละครึ่ง” เป็นโครงการที่มีเป้าหมาย สนับสนุนการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตข้าวให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

โดยเกษตรกรจะได้รับเงินอุดหนุนไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ตีเป็นตัวเลขกลมๆ ในหนึ่งครัวเรือนจะได้รับเงินอุดหนุน “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อหนึ่งฤดูกาลผลิต โดยเกษตรกรต้องลงทะเบียนก่อนจะเข้าร่วมโครงการ

แม้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะอธิบายว่า “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทดแทนโครงการไร่ละพัน แต่รูปแบบการช่วยเหลือเกษตรกรคล้ายคลึงกัน ด้วยการลดจำนวนเงินในการช่วยเหลือน้อยลง จึงถูกต้องข้อสังเกตว่า “ไร่ละพัน” ก็อาจมีอันเจอหางเลขตามไปด้วย

สำหรับ “ไร่ละพัน” เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรซื้อปัจจัยการผลิต ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ต่อหนึ่งฤดูกาลผลิต โดยหนึ่งครัวเรือนจะได้รับเงิน 20,000 ต่อหนึ่งฤดูกาลผลิต ใช้งบประมาณ 57,000 ล้านบาทต่อปี

จุดต่างของ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” กับ “ไร่ละพัน” นอกจากจำนวนเงินจะมีส่วนต่างกันที่ 500 บาทต่อไร่แล้ว รูปแบบการช่วยเหลือแตกต่างกันสุดขั้ว 

“ปุ๋ยคนละครึ่ง” เกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อไปซื้อปุ๋ยมาใช้ในการเกษตร โดยรัฐจะออกให้ 500 บาทต่อไร่ เกษตรกรออกเอง 500 บาทต่อไร่

ส่วน “ไร่ละพัน” เงินจะถึงมือเกษตรกรโดยตรง ซึ่งได้รับสูงสุด 20,000 บาทต่อครัวเรือน การบริหารจัดการเงินในการซื้อปุ๋ย หรือผลิตภัณฑ์อื่นในการเกษตร จึงขึ้นอยู่กับตัวเกษตรกร โดยไม่มีหลักเกณฑ์อื่นมาผูกมัด

จุดแข็งของ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เงินจะไม่ถึงมือเกษตรกรโดยตรง การซื้อปุ๋ยจะต้องแบ่งกันจ่ายระหว่างรัฐกับเกษตรกร หากมองในมิติของการบริหารงบประมาณ อาจตอบโจทย์รัฐบาล เพราะสามารถควบคุมดูแลให้เกษตรกรนำเงินมาซื้อปุ๋ยจริงๆ โดยไม่นำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น

จุดอ่อนคือการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต โดยเฉพาะคุณภาพของปุ๋ย หากมีการล็อกสเปกปุ๋ยที่ไม่ได้คุณภาพ นำมามัดมือชกบังคับให้เกษตรกรซื้อ อาจจะไม่ตอบโจทย์การเพาะปลูก แถมมีกระแสข่าว “ไอ้โม่ง” ศึกษาจุดอ่อน จนเริ่มมองเห็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์

จุดแข็งของ “ไร่ละพัน” เกษตรกรสามารถเลือกซื้อปุ๋ยด้วยตัวเองได้ ปิดช่องการทุจริต เนื่องจากจะไม่มีการล็อกสเปกเจ้าใดเจ้าหนึ่งซื้อปุ๋ยมาขายให้กับเกษตรกร

จุดอ่อนอยู่ที่รัฐจะไม่สามารถควบคุมดูแลให้เกษตรกรนำเงินมาซื้อปุ๋ยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าอาจจะมีเกษตรกรนำเงินที่ได้มาซื้อปุ๋ย แต่อาจจะแบ่งจ่ายนำไปใช้สอยด้านอื่น

เมื่อจุดแข็ง-จุดอ่อนของ ปุ๋ยคนละครึ่ง-ไร่ละพัน ต่างกันคนละขั้ว แรงหนุน-แรงต้าน จากเกษตรกรจึงเกิดขึ้น โดยสะท้อนผ่าน สส. ในพื้นที่ โดยเฉพาะ สส.เพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล

ที่สำคัญเกษตรกรที่ต่อต้านหนัก ผ่านเสียงสะท้อนจาก สส.เพื่อไทย อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากมีเกษตรกรปลูกข้าวจำนวนมาก 

เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรไม่เห็นด้วยกับ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ชื่นชอบ “ไร่ละพัน” จนยกตัวอย่าง “รัฐบาลลุงตู่” ดีกว่า “รัฐบาลเศรษฐา” ให้ สส.เพื่อไทย ในพื้นที่รับฟัง

เช่นเดียวกับ สส.เพื่อไทย ในการประชุมพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการสะท้อนปัญหา “ปุ๋ยคนละครึ่ง” กระทบต่อฐานเสียง “เพื่อไทย” ซัดกันแรงถึงขั้น ทำไมถึงต้องเอาใจ “ร.อ.ธรรมนัส” ให้ดำเนินโครงการดังกล่าว จนอาจจะส่งผลต่อแต้มการเมืองของ “เพื่อไทย”

แม้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพยายามชี้แจงว่า “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ไม่เกี่ยวกับ “ไร่ละพัน” แต่กลับไม่มี สส. เชื่อตามคำชี้แจง

แม้จะระยะหลัง จะมีกระแสข่าวว่า “V1 บ้านจันทร์” จะเป็นคนกดปุ่มให้ “เบอร์หนึ่งเกษตรฯ” ปฏิบัติการโครงการดังกล่าว โดยให้ช่วยกันคนละไม้ละมือกับ “เบอร์หนึ่งการค้า” แต่ท้ายสุดอาจจะทานกระแสต้านไม่อยู่​

ตามไทม์ไลน์ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” อาจจะเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนในวันที่ 15 ก.ค.2567ที่ผ่านมา แต่ด้วยแรงเสียดทานทางการเมืองสูงทำให้ต้องเลื่อนออกไปก่อน และมีแนวโน้มที่จะต้องยกเลิกโครงการ ถอยไปใช้ “ไร่ละพัน” ซึ่งถือกำเนิดในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนเดิม

โดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ โยนเผือกร้อนให้ “ธรรมนัส” พิจารณาด้วยตัวเองว่า จะเดินหน้าโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” หรือไม่ ซึ่งยังไม่มีกำหนดการตายตัวว่า จะต้องมีความชัดเจนภายในเวลาใด

แต่หากต้องล้มเลิก “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ย่อมสะท้อนภาพ “ปุ๋ยการเมือง” เพราะโดนแรงต้านอย่างหนักจากเกษตรกร ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียงของ “เพื่อไทย” และสะท้อนการช่วยเหลือเกษตรกรที่มักจะชื่นชอบที่เม็ดเงินถึงมือโดยตรง ไม่ต้องอ้อมค้อมจนอาจจะเปิดช่องให้เกิดการทุจริต

ที่สำคัญสะท้อนให้เห็นว่า “สส.เพื่อไทย” ยังพอมีพลังในการต่อต้านโครงการของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะกระทบต่อแต้มการเมือง ยิ่งเป็นยี่ห้อ “ธรรมนัส” แล้ว แรงต้านอาจจะมีมากเป็นพิเศษ

หลังจากนี้ ต้องจับตาว่าทางลงของ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” จะจบลงอย่างไร “ธรรมนัส” จะยอมถอยจริง หรือแค่สับขาหลอก แต่การันตีได้ว่าหาก “ไร่ละพัน” ถูกยกเลิกโครงการ “สส.เพื่อไทย” เตรียมเปิดศึกกับ “ธรรมนัส-พลังประชารัฐ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้