สภาฯ ปลุก ‘อำนาจเรียก’ คืนดาบ "กรรมาธิการ"

สภาฯ ปลุก ‘อำนาจเรียก’ คืนดาบ "กรรมาธิการ"

หลังสภาฯรับหลักการ ร่างกม.อำนาจเรียก "กมธ." ต้องจับตาการคืนอำนาจ ที่เป็นเหมือน "ดาบ" ให้ "กรรมาธิการ" ได้ตรวจสอบบุคคล-เอกสาร สิ่งที่เพิ่มคือ การเอาผิดจริยธรรม "นายกฯ-รมต." ที่ไม่ให้ความร่วมมือ

KEY

POINTS

Key Point :

  • สภาฯ รับหลักการ ร่างกม.อำนาจเรียกกรรมาธิการ ด้วยมติเอกฉันท์
  • สิ่งที่ตามมา คือ การพิจารณารายละเอียด ซึ่งเนื้อหา คือ การคืนอำนาจให้ "กรรมาธิการ" เรียกบุคคล เอกสาร มาตรวจสอบความโปร่งใส
  • หลังจากที่ อำนาจเรียกนี้ ถูกริบไป หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ว่า คำสั่งเรียก ตามกฎหมายปี2554 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ2560
  • การคืนอำนาจเรียก บุคคล-เอกสาร มาตรวจสอบ ครั้งนี้ ต้องจับตาว่าจะกลายเป็นกลไกทำลายล้างกันทางการเมืองหรือไม่
  • เมื่อยามนี้ "ก้าวไกล" เป็นฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล "เพื่อไทย" และทั้ง2พรรคล้วนชิงการนำกันอยู่

 

สส.รัฐบาล และฝ่ายค้าน จับมือยื่นร่างกฎหมาย “คำสั่งเรียก” เพื่อหวังคืนดาบให้กับ “กรรมาธิการ” มีอำนาจตรวจสอบ “ฝ่ายบริหาร-หน่วยงานราชการ” ได้จริง ไม่ใช่มีแค่ชื่อ แต่ทำอะไรไม่ได้

คราวการประชุมสภาฯ เมื่อ 24 ก.ค. สภาลงมติเอกฉันท์ รับหลักการของ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ....  3 ฉบับ ซึ่งเสนอโดย “สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง” สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย และ “รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีราชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอในนามของ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และ “ทิสรัตน์ เลาหพล” สส.กทม. พรรคก้าวไกล เสนอในนามของ “พรรคก้าวไกล” 

สาระสำคัญ เพื่อให้ “กรรมาธิการ” สามารถเรียกบุคคล เอกสาร มาตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่ตั้งข้อสงสัย หรือมีปัญหาการทำงานที่ไม่โปร่งใส  ทำงานไม่ตรงไปตรงมา

สภาฯ ปลุก ‘อำนาจเรียก’ คืนดาบ \"กรรมาธิการ\" เหตุผลที่ต้องยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้สภาฯ พิจารณา เพื่อต้องการนำมาใช้แทน “กฎหมายฉบับเดิม” คือ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554  ที่แม้มีสถานะบังคับใช้ แต่ไม่มีใครกล้านำมาใช้

เพราะเกรงว่าจะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2563 ลงวันที่ 7 ต.ค.2563 ที่ชี้ว่า บทบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้ ในส่วนของบทลงโทษขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ที่ผ่านมา “กรรมาธิการ” ใช้วิธีออกจดหมายเชิญเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ด้วยสถานะของ “กฎหมายคำสั่งเรียก ปี2554” ที่ไร้บทลงโทษ ทำให้ในบางประเด็นที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย บุคคลที่ถูกเชิญ หรือหน่วยงานที่ถูกเรียกเอกสารมาตรวจสอบ มีทางบ่ายเบี่ยง ไม่ให้ความร่วมมือ

ปัญหาที่ว่านั้น เป็นปัญหาต่อการตรวจสอบรัฐบาล ที่ทำให้สภาฯชุดที่ผ่านมาไม่สามารถใช้กลไก “กรรมาธิการ” ตรวจสอบรัฐบาล “คสช.” ได้เต็มที่ ทั้งในแง่ของการทำงาน และความชอบธรรม

เฉพาะตัวของ “ผู้นำรัฐบาล” ทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตนายกฯ  ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่ หรือ กรณี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” อดีตรองนายกฯ ที่มีปัญหา “ถือครองนาฬิกาหรู”  ผ่าน กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ชุดที่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส” จากพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน รวมถึงการตรวจสอบความไม่โปร่งใสในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด-19 การจัดซื้อวัคซีนที่มีปัญหา

สภาฯ ปลุก ‘อำนาจเรียก’ คืนดาบ \"กรรมาธิการ\"

ทั้งนี้ การทำหมัน “คำสั่งเรียก” เมื่อปี 2563 จุดเริ่มคือ เพื่อปกป้อง “พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร” ที่ถูกฝ่ายค้านตรวจสอบ ด้วยกลไก “กรรมาธิการ” รุกไล่

แน่นอนว่า ฝ่ายค้านเองวางเป้าหมายเพื่อ “ดิสเครดิตทางการเมือง” แต่ “พรรคพลังประชารัฐ” โดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เห็นว่ามีช่องที่จะตัดแขน-ขาของ “ฝ่ายค้าน” จึงยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ให้ชี้ว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกรรมาธิการ ปี2554 นั้น มีบทที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 ที่ให้อำนาจ “กรรมาธิการ” แค่ “เรียกเอกสารจากบุคคล หรือเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริง” ไม่ใช่ให้อำนาจ “ออกคำสั่งเรียก” 

ขณะเดียวกัน “รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129” กำหนดบทบัญญัติเพื่อสนับสนุนการทำงานของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาในเรื่องที่สอบหาข้อเท็จจริง หรือเรื่องที่ศึกษา แต่ไม่ใช่เป็น “มาตรการเชิงบังคับ” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง 

โดยเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียก ปี2554 มาตรา 5 มาตรา 8 มาตรา 13 นั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 เมื่อ 7 ต.ค.2563

ทำให้ยุครัฐบาล “คสช.”  พบว่า กลไกตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผ่าน “กรรมาธิการ” ถูกแช่แข็งไปด้วย แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล “ก้าวไกล” ถือธงนำเป็นฝ่ายค้าน และมีบทบาทนั่ง “ประธานกรรมาธิการ” หลายคณะ เห็นนส่วนที่เป็นปัญหา และต้องการทลายกำแพง จึงชง “ร่างกฎหมายอำนาจเรียกฯ” ให้สภาพิจารณา หวังคืนดาบให้ “กรรมาธิการ” ได้ฟัน “ฝ่ายบริหาร” 

สภาฯ ปลุก ‘อำนาจเรียก’ คืนดาบ \"กรรมาธิการ\" แน่นอนว่าในสาระสำคัญของร่างกฎหมาย “ก้าวไกล” คือ “ให้อำนาจเรียก” แทนการ “ออกคำสั่งเรียก" และ เปลี่ยนบทลงโทษทางอาญา เป็น “การลงโทษทางวินัย” ถือว่า คิดมาดี เพื่อเป็นข้อยกเว้นไม่ให้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2563

นอกจากนั้นแล้ว ยังคิดเพิ่มเพื่อทำให้ “ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความคม” คือ ขยายการตรวจสอบไปยัง “หน่วยงาน ภาคเอกชน” ในฐานะ คู่สัมปทานของรัฐ จากเดิมที่ขีดเส้นให้เฉพาะ “หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจเท่านั้น” 

อย่างไรก็ดีในสาระของร่างที่เสนอต่อสภาฯ และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญขณะนี้ มีประเด็นที่ต้องจับตา ถึงการ “เอาผิด” ที่โยงถึง “นายกฯ และ รัฐมนตรี” ด้วย 

เช่น ในฉบับของ “พรรคภูมิใจไทย” กำหนดให้ กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ส่งเอกสาร ข้อเท็จจริง นายกฯ หรือรัฐมนตรีที่กำกับหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาฯ หรือ วุฒิสภา โดยแถลงหรือชี้แจงเหตุผลในที่ประชุมสภาฯ และในกรณีที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีไม่สั่งการให้ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือ แสดงความเห็น โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม

สภาฯ ปลุก ‘อำนาจเรียก’ คืนดาบ \"กรรมาธิการ\" ขณะที่ฉบับของ “รังสิมันต์” เขียนบทให้ “เอาผิดจริยธรรม” นายกฯ และ รัฐมนตรี  ที่ ไม่มาแถลงข้อเท็จจริง ไม่มาแสดงความเห็น ไม่ส่งเอกสาร ตามที่เรียก โดยไม่มีเหตุอันสมมควร ให้​อำนาจ “ประธานกรรมาธิการ” รายงานไปยัง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม

ทั้งนี้ต้องติดตามบทสรุปการทำร่างกฎหมาย ที่ “กรรมาธิการ” ร่วมออกแบบ เพื่อคืนอำนาจตรวจสอบ จะออกมาหน้าตาแบบไหน 

ท้ายสุดแล้ว ร่างกฎหมายอำนาจเรียก ฉบับใหม่ จะมีฤทธิ์มีเดช ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของงาน  “กรรมาธิการ” ในการตรวจสอบ “รัฐบาล” หรือ มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือห้ำหั่นกันทางการเมือง กันแน่.