‘ตำรวจ’ ทวงคืนเอกราช ‘การเมือง’ ขวางปฏิรูป

‘ตำรวจ’ ทวงคืนเอกราช  ‘การเมือง’ ขวางปฏิรูป

"คนที่มาเล่นการเมือง อยากมีอำนาจ ถ้าใครยอมสูญเสียอำนาจ น่าจะขาดคุณสมบัติของการเป็นนักการเมือง" อุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ

KEY

POINTS

  • คนในวงการสีกากีทั้งในและนอกราชการตำแหน่งสูงออกมาขับเคลื่อนแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ
  • ตัด นายกฯ ออกจาก ประธาน ก.ตร ป้องกันล้วงลูกแต่งตั้งตำรวจตั้งแต่ระดับ ผบ.ตร.ลงไป
  • พล.ต.ท.อำนวย ขออนุโมทนาสาธุ  หากทำได้ เพราะข้าราชการประจำ ตกอยู่ในอุ้งมือของนักการเมือง

 

“ขอนายกฯ มาดื่มกาแฟที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดือนละครั้ง จะไม่ได้เชียวหรือ” 

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ส่งผลให้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่เพิ่งประกาศบังคับใช้ได้ไม่ถึง 2 ปี (16 ต.ค.2565) เป็นกฎหมายปฏิรูปตำรวจ แต่เหมือนไม่ได้ปฏิรูปจริง กำลังจะถูกแก้ไข 

โดยความพยายามของคนในวงการสีกากี เป็นตำรวจในและนอกราชการตำแหน่งสูงออกมาขับเคลื่อนแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว หวังปลดล็อกองค์กร ให้พ้นบ่วงฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งระดับ ผบ.ตร. ลงไป ต้นตอกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว

ภายใต้สมาคมตำรวจ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชมรมพนักงานสอบสวน เช่น พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ พร้อมยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อให้ครบ 10,000 คน เพื่อผลักดันเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

โดยประเด็นน่าจับตา อาทิ แก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) โดยประธาน ก.ตร.ต้องมาจากการคัดเลือกกันเอง ที่ไม่ใช่“นายกฯ” ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง หวังตัดอำนาจแทรกแซงการแต่งตั้ง-โยกย้าย ให้นายกฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกับการเมืองเท่านั้น

จัดตั้งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ กองบัญชาการ (ก.ตร.บช.) กำกับดูแลการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจภายในอำนาจของกองบัญชาการนั้นๆ ปรับปรุงกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ให้มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการพิจารณาคดีวินัย การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน การวินิจฉัยข้อกฎหมาย และฟื้นแท่งงานสอบสวน เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลสายงานสอบสวน

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 เปิดเผยว่า ประเด็นที่ไม่ให้นายกฯมายุ่งกับองค์กรตำรวจ ถูกต้องที่สุดแล้ว เพียงแต่จะทำได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ครั้งที่ตนนั่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ถามว่าทำไมในขณะนั้นถึงไม่ทำ ก็เพราะมันทำไม่ได้ และหากไปฝืน ดื้อดึง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติจะไม่ผ่านทั้งฉบับ ก็ต้องยอมเสียอย่างเพื่อให้ได้บางอย่าง ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

"เขาพูดกันว่า คนที่มาเล่นการเมือง อยากมีอำนาจ ถ้าใครยอมสูญเสียอำนาจ น่าจะขาดคุณสมบัติของการเป็นนักการเมือง เมื่อฝ่ายการเมืองคิดกันแบบนี้ ก็ทำลำบาก ซึ่งความจริงแล้วในขณะนั้น ก็ไม่ให้นายกฯ เป็นประธาน ก.ตร. นั่นคือร่างกฎหมายเดิม ที่ผมต่อสู้มาตลอด เพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำ แต่ในความเป็นจริงทำได้หรือไม่ ก็แค่นั้นเอง"

“หากทำได้ ผมก็ขออนุโมทนาสาธุ เพราะข้าราชการประจำ ที่เป็นข้าราชการในกระบวนการยุติธรรม ยังอยู่ในอุ้งมือของนักการเมือง ก็ขาดหลักความยุติธรรมไปแล้ว” พล.ต.ท.อำนวย กล่าวและว่า

ข้าราชการที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ควรมีอิสระปราศจากการแทรกแซงฝ่ายการเมือง หากดูข้าราชการประจำอื่น กต.ร.ของตำรวจ คนที่สูงที่สุดในประเทศไทยมานั่งเป็นหัวโต๊ะ ก็คือนายกฯ ขณะที่องค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระหมดแล้ว 

เช่น คณะกรรมกรรมการตุลาการ ที่มีประธานศาลฎีกามานั่งเป็นหัวโต๊ะ คณะกรรมการอัยการ ก็มีการสรรหาและเลือกกันมาภายใน จะเลือกคนที่อาวุโสที่เกษียณแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่นักการเมือง

“แต่ของตำรวจ เอานายกฯมานั่ง บางสมัยก็เป็นรองนายกฯ มานั่ง บางครั้งก็เป็นรองฯเฉลิม(ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) รองฯป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หรือรองฯสุเทพ(สุเทพ เทือกสุบรรณ) ต่อไปจะเป็นรองฯอะไรอีก ผมก็ไม่รู้ มันก็เลยไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น จะแต่งตั้ง ผบ.ตร.ต้องมาจากนายกฯเป็นคนเลือก แบบนี้มันก็จบแล้ว”

“ดังนั้น การแก้ไข พ.ร.บตำรวจ 2565 โดยการไม่ให้นายกฯ มานั่งเป็นประธาน ก.ตร. ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ” พล.ต.ท.อำนวย ระบุ

สอดคล้องกับ วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ ยอมรับว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 เกิดขึ้นในยุค พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนั้น ร่างกฎหมายเข้าไปอยู่ในสภาฯ แก้ไขกันเยอะมาก แช่ไว้ 1 ปี มีประมาณ 10 ประเด็นแก้ไขกัน

ยอมรับว่า ถ้าจะแก้ ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องแก้ ยิ่งถ้าเพื่อป้องกันการแทรกแซงด้วยแล้ว ไม่ใช่แก้เฉพาะตำแหน่งประธาน ก.ตร.จุดเดียว คนเราถ้าจะแทรกแซง มันก็แทรกได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเอาใครมาเป็น

“ใช้ของเดิมที่ประกาศใช้อยู่ตอนนี้ แล้วแก้บางจุด โดยเฉพาะที่เกิดการประนีประนอมกันในสภาฯ เพื่อให้มันผ่านๆ ไป ก็กลับไปทบทวนจุดเหล่านั้น ส่วนจะเป็นประเด็นใด ผมจำไม่ได้ แต่มันเยอะมาก ใช้เวลาเป็นวันที่จะพูดหมด” นายวิษณุ กล่าว

ปฐมบทการปฏิรูปตำรวจ เริ่มขึ้นยุครัฐประหาร 2549 และปี 2550 มีการศึกษาทำความเข้าใจ 1. โครงสร้าง ศูนย์รวมอำนาจ 2. ปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล ที่ไม่มีระบบคุณธรรม 3. เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงาน 4. งบประมาณ ซึ่งเป็นบรรทัดฐาน แต่ไม่ได้นำมาแก้ไข ใน พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 บังคับใช้ในปัจจุบัน

ดังนั้น หาก“องค์กรตำรวจ” เปรียบเหมือนแหล่งแสวงหาอำนาจ ฝ่ายการเมืองก็คงไม่ยอมปล่อยมือง่ายๆ