ศึกแก้ข้อบังคับวุฒิสภา ซ่อนปม ‘เร่งเกม’ล็อก‘ปธ.กมธ.’

ศึกแก้ข้อบังคับวุฒิสภา ซ่อนปม ‘เร่งเกม’ล็อก‘ปธ.กมธ.’

วุฒิสภา เปิดศึกรอบสอง ปมแบ่งเค้ก ประธาน กมธ. ว่ากันว่า "ก๊วนน้ำเงิน" ต้องการปิดเกมเร็ว ดันผ่าน3วาระรวด เพื่อฮุบ "กมธ.เกรดเอ" ขณะที่กลุ่มสีขาวขอสู้ ทว่าเกมนี้ สว.เสียงข้างมากยังได้เปรียบที่เสียงโหวต

KEY

POINTS

Key Point :

  • ศึกประลองกำลัง ใน "วุฒิสภา" ยกสอง กำลังจะเริ่มขึ้น ในประเด็นการแย่ง "เค้กโควตาประธานกรรมาธิการ"
  • ส่อเค้าให้เห็นการต่อสู้ ผ่านการยื่นแก้ไขข้อบังคับวุฒิสภา
  • ขณะนี้มี 3 กลุ่มสว. ที่เสนอข้อบังคับที่แก้ไขให้ "วุฒิสภา" พิจารณา
  • การช่วงชิงประธานกรรมาธิการ "เกรดเอ" ว่ากันว่า "ก๊วนน้ำเงิน" ต้องการยึดไว้ทั้งหมด 
  • ขณะที่ "สว.สีขาว" พยายามขอเกลี่ย เห็นจากการขอเพิ่มจำนวน "คณะกรรมาธิกาาร"
  • เกมตัดเกม เรื่องนี้คือ ความพยายามชงเร็ว และให้จบเร็ว ผ่านกระบวนพิจารณาแบบ 3วาระรวดที่ "ก๊วนน้ำเงิน" ต้องการดันให้ผ่าน
  • พร้อมกับเตรียมใช้เสียงข้างมาก พาไป หากไม่เดินตามเกม ข้อบังคับที่แก้ไขจากกลุ่มอื่น พร้อมจะใช้เสียงข้างมาก "คว่ำ"

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “วุฒิสภา” ที่มาตามบทถาวรของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่สร้างกลไกการได้มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ และมีระบบกลั่นกรอง ผ่านการเลือกกันเอง 3 ระดับ ไม่สามารถทำให้ “สว. 200 คน” ปราศจากการอิงแอบกับ “ฝ่ายการเมือง” ได้ 100%

อีกทั้ง ยังพบรายละเอียดว่า 200 คนที่ผ่านเข้ามานั้น มีปูมหลังที่ใกล้ชิดกับ “นักการเมือง” ทั้งระดับชาติ-ท้องถิ่น และสภาสูงชุดที่ผ่านมา

ทำให้ “สว.” ที่เปรียบเป็น “ปลาหลายๆ น้ำ” ถูกจับตาถึงการทำงาน อย่างไรที่จะสร้างความเป็นเอกภาพ

ภาพแรก ที่ผ่านพ้นไปคือ การเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธาน ที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า 200 สว.ชุดใหม่นี้ ถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 

คือ “กลุ่มสีน้ำเงิน” เป็นกลุ่มใหญ่สุด มีสมาชิกจำนวน 159 คน “กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่” นำโดย “นันทนา นันทวโรภาส” มีสมาชิก 19 คน และ “กลุ่มสว.สีขาว” นำโดย “นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” ที่มีสมาชิกในกลุ่ม 13 คน และ 1 กลุ่มเล็ก คือ “สว.สายอิสระ” มีประมาณ 9 คน

ศึกแก้ข้อบังคับวุฒิสภา ซ่อนปม ‘เร่งเกม’ล็อก‘ปธ.กมธ.’ รอบแรก มีการควบคุมเสียงไว้แบบเบ็ดเสร็จ และเห็นชัดเจนว่าแต่ละกลุ่ม มีความเป็นเอกภาพภายในสูง

ภาพต่อมา ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ การแบ่งเค้ก ตำแหน่ง ประธานกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญประจำวุฒิสภา

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การยกร่าง "ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาใหม่” ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดกรอบการทำงานของวุฒิสมาชิก ทั้งในการประชุมวุฒิสภา และการประชุมในกรรมาธิการ

ล่าสุด สว. 3 ใน 4 กลุ่ม แสดงเจตจำนงที่จะเสนอร่างข้อบังคับให้เหมาะสมกับเป้าหมายการทำงาน โดย “นพ.เปรมศักดิ์” เป็นคณะแรกที่ยื่นญัตติขอแก้ไขข้อบังคับ 

ศึกแก้ข้อบังคับวุฒิสภา ซ่อนปม ‘เร่งเกม’ล็อก‘ปธ.กมธ.’ สาระสำคัญ คือ ให้มีจำนวนคณะ กมธ. 28 คณะ โดยได้ยื่นเนื้อหาต่อ “มงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภาแล้ว เมื่อ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหวังให้เป็นสารตั้งต้นให้ เกิดเป็น “วาระ” ที่สามารถออกหนังสือนัดประชุม ในวันที่ 2 ส.ค. นี้ได้

ต่อมาคือ ข้อบังคับของ “สว.พันธุ์ใหม่” ที่อยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็นที่เตรียมเสนอภายในสัปดาห์นี้

อีกฉบับของ “สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม” ตัวแทน “ก๊วนสีน้ำเงิน” ที่ยกร่างเนื้อหาแล้วเสร็จ กำหนดให้มี กมธ. 23 คณะ + 3 คณะวิสามัญ ขณะนี้มีผู้รับรองครบแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่น เพราะมีประเด็นพ่วงท้ายที่ต้องการได้ “คำมั่น” ว่าที่ประชุมวุฒิสภาเอาด้วย คือ “การพิจารณาข้อบังคับแบบผ่าน 3 วาระรวด” ด้วยกมธ.เต็มสภา

ศึกแก้ข้อบังคับวุฒิสภา ซ่อนปม ‘เร่งเกม’ล็อก‘ปธ.กมธ.’ การนัดประชุมวุฒิสภา ตามข่าววงในที่ระบุว่า จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ส.ค. ข้อเท็จจริงคือ “ประธานวุฒิสภา” ยังไม่ออกหนังสือนัด ดังนั้นจึงไม่มีการประชุมวุฒิสภาเกิดขึ้น เหตุผลไม่ใช่อยู่ที่ว่า “วาระไม่มี” แต่มาจากความเห็นแย้งภายใน ที่เกิดจาก “ประเด็นพ่วง” ของ “ก๊วนสีน้ำเงิน”

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา หากผลออกมาลงตัว การนัดประชุมจะเดินหน้าอย่างราบรื่นในวันที่ 5 ส.ค. นี้ 

หากผลเจรจายังติดขัด อาจเห็นการออกฤทธิ์ของ “สว.สีน้ำเงิน” ที่เตรียม “โหวตคว่ำ” ร่างข้อบังคับของกลุ่มอื่น

กับประเด็น “วาระพ่วงท้าย” ของ ก๊วนสีน้ำเงิน “สว.สรชาติ” เอ่ยปากยอมรับว่า ความต้องการ 3 วาระรวด เพื่อให้มีกติกาและกลไกการทำงานของวุฒิสภาออกมาใช้อย่างรวดเร็ว 

พร้อมกับยืนยันว่า การปรับสัดส่วนคณะกมธ. ให้เหลือ 23 คณะ คำนึงถึงจำนวน สว.ที่มี 200 คน ซึ่งเหมาะสมมากกว่าฉบับของ “กลุ่มสว.สีขาว” ที่เสนอให้มี 28 คณะ เพราะการกำหนดให้มี กมธ.มากเกินไป จำนวน สว.200 คน ย่อมไม่เพียงพอที่จะตั้ง กมธ.ได้ครบทุกคณะ

เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นใน สว.ชุดที่ผ่านมา ซึ่งสรชาติเคยนั่งเป็นที่ปรึกษา “กมธ.แก้จน” และรู้เห็นบรรยากาศเป็นอย่างดี ที่บางคณะต้องขอให้ สว.ลาออก และย้ายไปอยู่อีกคณะ เพื่อให้สามารถตั้งเป็น “คณะกมธ.” ที่มีจำนวนเพียงพอเดินงานได้ตามข้อบังคับ

“การเขียนข้อบังคับ ทั้งการลดจำนวนคณะกรรมาธิการ และปรับสัดส่วน กมธ.ประจำคณะ ให้เหลือ 9-17 คน ถูกคิดไว้เป็นอย่างดี” สว.สรชาติ ระบุ

ทว่า ความน่าสนใจเรื่องนี้ อยู่ที่การเร่งรัดผ่านข้อบังคับ 3 วาระรวด ทั้งที่ สว.ยังมือใหม่ และไม่เข้าใจระบบพิจารณาตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ

เมื่อดูในรายละเอียดของจำนวน กมธ. ที่ “สรชาติ-เปรมศักดิ์” เสนอ มีประเด็นที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยในขอบเขตของงาน ภายใต้ “คณะกมธ.” แต่ในเหตุผลที่จำนวนคณะกมธ.ไม่เท่ากัน คือ การแบ่งโควตาประธาน กมธ. ที่ “เปรมศักดิ์” ต้องการขอแบ่งมาจาก “ก๊วนน้ำเงิน” ที่จอง “กมธ.เกรดเอ”

ว่ากันว่า “สรชาติ” ที่ออกตัวดันประเด็น 3 วาระรวด เพื่อหวัง “จบงาน” ให้เร็ว ท่ามกลางกระแสล็อกเก้าอี้ประธานกมธ.ไว้ให้อยู่ในสายมากที่สุด ดังนั้น หากทอดเวลาการทำข้อบังคับการประชุมใหม่ให้เนิ่นนานไป “สว.กลุ่มอื่น”อาจรู้แกว และก่อหวอดต่อต้าน จนทำให้ ผิดแผนได้

กับประเด็นการ “บล็อกโควตาประธานกมธ.” ยังมีประเด็นพ่วงของ “โควตากมธ.เกรดเอ” ที่สว.กลุ่มอื่นเริ่มรู้ และเห็นว่า “เขาจัดสรรไว้ให้พวกพ้องจนเต็มแล้ว” จนกลายเป็นที่ค่อนแคะว่า อาจได้ “คนที่ไม่ตรงกับงาน” ซึ่งส่อว่าจะเป็นปัญหาในการทำงาน ในฐานะตัวแทนกลุ่มอาชีพ

ศึกแก้ข้อบังคับวุฒิสภา ซ่อนปม ‘เร่งเกม’ล็อก‘ปธ.กมธ.’ ในสถานการณ์การเมืองที่ “ประชาชน” คาดหวังต่อการทำงานของ “วุฒิสภา” หากพบการ “บล็อก” ไม่ให้ “สว.” นำเสนอความคิด มุมมองที่หลากหลาย ท้ายสุดอาจกลายเป็นคำถามที่นำไปสู่คำตอบว่า “วุฒิสภามีไว้ทำไม?”.