'ชัยธวัช' ชูปฏิรูประบบงบประมาณ 5 มิติ ชี้ ทํางบแบบเดิม ไม่ตอบโจทย์ประเทศ
“ชัยธวัช” ชูปฏิรูประบบงบประมาณ คํานึง 5 มิติ เครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจ-การพัฒนาประเทศ ชี้ ทํางบแบบเดิม ไม่ตอบโจทย์ประเทศ
วันที่ 3 ส.ค.67 ที่ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมนาโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ครั้งที่ 5 เพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า เราอยากเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ รวมถึงประชาชน คิดถึงการปลดล็อคระบบงบประมาณของประเทศ ยกเครื่องปฏิรูปครั้งใหญ่ให้เร็วที่สุดในอนาคต โดยเราจะใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอ การปฏิรูประบบงบประมาณ และการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ตอบโจทย์ในแต่ละเรื่อง
นายชัยธวัช กล่าวว่า การดำเนินนโยบายสาธารณะ ต้องทำอย่างน้อย 3 เรื่องคือ
1.คน คือบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบาย
2.กฎ คือระเบียบ ซึ่งเป็นบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ทั้งการออกและแก้กฏหมาย แม้ว่างบประมาณจะนำเสนอจากฝ่ายบริหาร แต่ผู้อนุมัติคือรัฐสภา ในฐานะสถาบันการเมืองที่ประชาชนเลือกมา
3.งบ ซึ่งก็คืองบประมาณ
นายชัยธวัช กล่าวว่า เวลาพูดถึงงบประมาณรัฐบาล หลายคนนึกถึงค่าใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของเครื่องจักรในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคน คิดถึงการจัดสรรงบประมาณในอย่างน้อย 5 มิติ ได้แก่
1.มิติความคุ้มค่า เพราะงบประมาณมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้น การใช้งบต้องตอบโจทย์ความคุ้มค่า ซึ่งที่ผ่านมา เราเห็นว่ามีการจัดสรรที่ไม่คุ้มค่า เพราะมีการตั้งธง และประมาณการต้นทุนโครงต่ำกว่าความจริง ซึ่งเห็นได้ในการจัดทําโครงสร้างพื้นฐานหลายเรื่อง ที่ไม่คุ้มค่าจนถูกปล่อยร้าง ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ตามที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น
2.มิติที่ทำให้ประเทศพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ไม่ใช่การจัดสรรงบแบบเดิมๆ ตามความเคยชิน ปีที่แล้วเสนอยังไง ปีนี้ก็เสนออย่างนั้น โดยไม่มียุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น ระบบงบประมาณที่ดี ควรตอบโจทย์ความท้าทายในแต่ละด้าน ทั้งการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรม การแก้ไขปัญหาฝุ่น pm 2.5 หรือความผันผวนของภูมิอากาศ
3.มิติเสริมพลังให้กับสังคม เพราะในสภาพที่มีความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในแง่โอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องเสริมพลังให้กับภาคส่วน ที่ยังขาดโอกาสยกระดับตัวเอง ซึ่งต้องทำให้เป็นระบบต่อเนื่อง ไม่คิดแทนประชาชนทุกเรื่อง เพราะสิ่งที่เราเห็นในงบปี 67 และปี 68 ไม่มีความเป็นระบบแต่อย่างใด
4.มิติเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการบริหารให้เรามีพื้นที่การคลังเพียงพอ ที่จะรองรับสถานการณ์ที่โลกปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง เพราะเราไม่ทราบว่าจะเกิดวิกฤติอะไรในอนาคตแบบฉับพลัน ดังนั้น เราต้องมีสมดุลและความพร้อมในการเผชิญความไม่แน่นอนของโลก
5.มิติสร้างความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบงบประมาณส่วนหนึ่ง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง ทั้งระหว่างรัฐมนตรีกับ ส.ส. หรือฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ เพื่อสร้างฐานการเมืองในพื้นที่ สร้างระบบที่เราเรียกว่าบ้านใหญ่
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า เวทีวันนี้ไม่ใช่การวิจารณ์รัฐบาล แต่ชวนคิดถึงอนาคต ยกเครื่องว่าเราจำเป็นต้องยกเครื่องระบบงบประมาณ ด้วยความเชื่อว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการทำหน้าที่ของ ส.ส. รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาธิปไตยของเรา ตอบโจทย์สังคมและประชาชนมากขึ้น