ยุบ 'ก้าวไกล' 30 สส.เสี่ยงร่วง 'ก๊กส้ม' กู้เรตติ้ง 'เลือกตั้งซ่อม'
กรณี "พรรคก้าวไกล" ถูกยุบพรรค จะมี 44 สส.ในช่วงที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอขอแก้ไข ม.112 มีจำนวน 44 คน แต่มี สส.ถึง 30 คนที่ยังมีสถานะอยู่ในสภาฯ เสี่ยงถูกตัดสิทธิในข้อหา “จริยธรรมร้ายแรง”
KEY
POINTS
- คีย์แมนของพรรคก้าวไกลมองลึกๆ คดียุบพรรคก้าวไกลโอกาส 50 ต่อ 50 ออกได้ทั้ง "หัว" และ "ก้อย"
- สส.พรรคก้าวไกลที่เป็น กก.บห.จะไม่ลาออก สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเลื่อนลำดับ สส.ใหม่ขึ้นมาแทน
- หากศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล จะมีสส.บัญชีรายชื่อถูกตัดสิทธิทางการเมือง จำนวน 5 คน สส.ของปีกพรรคก้าวไกล จะเหลือยอด 143 คน
- เขต 1 จ.พิษณุโลก ฐานเสียงเดิมของ "ก้าวไกล" จะเป็นการช่วงชิง สส.ในการเลือกตั้งซ่อม หลังเกิดการยุบพรรคก้าวไกล
- ลุ้น 30 สส.ก๊กก้าวไกลส่อถูกตัดสิทธิตลอดชีพหาก ป.ป.ช.เกิดฟันจริยธรรมร้ายแรงหลังคดียุบพรรค
ฟังกระแสในหมู่ "คีย์แมน" พรรคก้าวไกล พรรคที่ชนะด้วย "พลังกระแสส้ม" หัวคะแนนธรรมชาติ กวาด สส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร มากที่สุด 151 สส. ขุนพลพรรคเฉดส้ม ยังคงเชื่อว่า "พรรคก้าวไกล" จะไม่ถูกยุบพรรค ซึ่งเป็นการมองในมุมบวก
แต่ก็มีเสียงในหมู่คีย์แมนของพรรคมองลึกๆว่า โอกาสไม่รอดอยู่ที่ 50 ต่อ 50 คือออกได้ทั้ง "หัว" และ "ก้อย"
อย่างไรก็ตาม หากมองบทเรียนในอดีต คดียุบพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามของชนชั้นนำ โอกาสที่จะไม่ถูกยุบพรรคนั้น แทบเหลือน้อย
ตรวจดูรายชื่อ สส.พรรคก้าวไกล ในปัจจุบัน เหลืออยู่ 148 คน เพราะพรรคได้มีมติขับ 2 สส. คือ วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส. ปราจีนบุรี และไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กทม. พ้นพรรค ขณะที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก ถูกขับพ้นพรรคก้าวไกล เพื่อรักษาเก้าอี้รองประธานสภาฯ คนที่ 1
นับถอยหลังอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ วันที่ 7 ส.ค. 2567 "พรรคก้าวไกล" จะได้รู้ผลคำวินิจฉัยคดียุบพรรค ซึ่งมีเพียง สองคำตอบเท่านั้น คือ "ยุบพรรค" หรือ "ยกคำร้อง"
เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกส่งมาวินิจฉัย 2 ข้อกล่าวหา 1.กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หากที่สุดมีมติไม่ว่าจะเสียงข้างมาก หรือเอกฉันท์ให้ยุบพรรค ก็จะมีผลทำให้พรรคก้าวไกลต้องอวสานลง ขณะที่ กรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในช่วงเหตุแห่งการกระทำความผิดจะต้องถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง
ตรวจสอบรายชื่อ กรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในช่วงปี 2563-2566 พบว่ามี สส.ที่อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคขณะนั้น สส.บัญชีรายชื่อ 2.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคขณะนั้น สส.บัญชีรายชื่อ 3.ปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ สส.พิษณุโลก (ปัจจุบันถูกขับพ้นพรรค)
4.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก 5.สุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนปีกแรงงาน 6.อภิชาต ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนกรรมการบริหารพรรค ที่ไม่ได้เป็น สส.ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคกลาง
ในจำนวนนี้ แกนนำพรรคได้ประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า ถ้าเกิดยุบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้น บรรดา สส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคและถูกเสี่ยงตัดสิทธิทางการเมือง จะยึดโมเดลสมัยพรรคอนาคตใหม่ คือ จะไม่ลาออก สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเลื่อนลำดับ สส.ใหม่ขึ้นมาแทน
เท่ากับว่า สส.บัญชีรายชื่อที่มีสถานะเสี่ยงถูกตัดสิทธิทางการเมือง จำนวน 5 คน จะถูกติดโทษแบน ทำให้ สส.พรรคก้าวไกล จะเหลือยอด 143 คน
จำนวน 143 คน จะต้องไปหาพรรคการเมืองใหม่เข้าสังกัดภายในระยะเวลาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ยุบ-เลิกพรรคการเมือง
จะเหลือเพียง 1 สส. ที่ จังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมขึ้นใหม่ แน่นอนว่าพรรคการเมืองแถวสามจะต้องส่งตัวตายตัวแทนลงสู้ศึกเลือกตั้งซ่อม เพื่อรักษาที่มั่นเดิม
แม้ "ปดิพัทธ์" ตัวจะอยู่พรรคเป็นธรรม แต่ใจนั้นมีเลือดพรรคเฉดส้มอยู่เต็มเปี่ยม
นั่นหมายความว่ายุทธศาสตร์ "ก๊กก้าวไกล" จะไม่ปล่อยให้เขต 1 พิษณุโลกหลุดลอยไปยังก๊กขั้วตรงข้าม
ศึกเลือกตั้งซ่อมเพียงเขตเดียว แต่ก็ต้องพิสูจน์ด้วยว่าคะแนนนิยมของ "ก๊กก้าวไกล" จะลดลงหรือเพิ่มขึ้น
ต้องยอมรับว่า จ.พิษณุโลก เป็นการต่อสู้กันหนักระหว่าง "เพื่อไทย" กับ "ก้าวไกล"
"พรรคเพื่อไทย" ได้คะแนนพรรคมากที่สุด 123,613 คะแนน ขณะที่พรรคก้าวไกล ตามมาที่สองได้ 123,037 คะแนน
แต่เมื่อโฟกัสสนามแบ่งเขต ใน เขต 1 พิษณุโลก "หมออ๋อง" ชนะแบบลอยลำในการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป 14 พ.ค. 2566
"ปดิพัทธ์" ลงสมัคร สส.พรรคก้าวไกล ได้อันดับ 1 ชนะแบบแลนด์สไลด์ 40,842 คะแนน
อันดับ 2 อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ พรรคพลังประชารัฐ 19,096 คะแนน
อันดับ 3 ณัฐทรัชต์ ชามพูนท พรรคเพื่อไทย 18,180 คะแนน
เขต 1 จ.พิษณุโลก มีโอกาสสูงที่ "พรรคก้าวไกล" จะรักษาฐานที่มั่นเดิมไว้ได้ และต้องลุ้นคู่แข่งก๊กตรงข้ามจะหลีกทางให้กันเพื่อไม่ให้มีการตัดแต้มหรือไม่
ในจำนวน สส. 143 คน "ก๊กก้าวไกล" หากเกิดต้องหาสังกัดพรรคใหม่ ยังต้องลุ้นอีกว่า จะมีพรรคการเมืองใดในสภาฯ ช้อนตัวหรือกวาด สส.พรรคส้มเข้าไปสังกัดหรือไม่ เพื่อต่อยอดในการต่อรองเก้าอี้ในการร่วมรัฐบาลหรือพลิกขั้วการเมืองในอนาคต
ขณะที่แกนนำพรรคก้าวไกลมองว่า ถ้ามีการช้อนตัว สส.ของอดีตพรรคก้าวไกลไป แน่นอนว่าบทสรุปสุดท้ายคือ จบชีวิตทางการเมือง หากลงเลือกตั้งอีก จะสอบตกทั้งหมด และการคัดกรองคนเข้าสังกัดพรรคก้าวไกลล่าสุดนั้นก็คัดกรองคนได้เข้มข้นกว่าสมัย "พรรคอนาคตใหม่"
"ถ้าจะมีแหกคอกไปบ้าง แบบคิดว่าเป็นสมัยเดียวก็พออยากได้เงินมากกว่าก็มีจำนวนน้อยมาก" แกนนำพรรคก้าวไกลในปัจจุบันระบุ
ส่วนดาบสองในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น ที่ส่ง "ดาบ" ฟันต่อในเรื่องจริยธรรมร้ายแรง โดยมีเคส"พรรณิการ์ วานิช" อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่เคยถูกพิษสงข้อกล่าวหานี้ ถึงขั้นหมดสิทธิมีตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
คดีนี้จะเดินได้ต่อเมื่อ "พรรคก้าวไกล" ถูกยุบพรรค ซึ่งมี 44 สส.ในช่วงที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอขอแก้ไข ม.112 มีจำนวน 44 คน แต่มี สส.ถึง 30 คนที่ยังมีสถานะอยู่ในสภาฯ
คดีฟันจริยธรรม สส.พรรคก้าวไกล น่าจะใช้เวลาตัดสินอีกยาว เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ยังไม่ได้เรียก สส.แต่ละคนเข้าไปไต่สวน
30 สส.ที่ถูกเสี่ยงขึ้นเขียง ป.ป.ช.นั้นมี สส.บัญชีรายชื่อ 21 คนและ สส.แบบแบ่งเขต 9 คน
ในจำนวน สส.เขต ถ้ามีการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลกในก่อนหน้านั้นหลังยุบพรรค ก็จะเหลือ สส.เขตก๊กก้าวไกลเพียง 8 คนที่ยังคงถูกไต่สวนใน ป.ป.ช.
"ก๊กก้าวไกล" ก็คงต้องลุ้นระทึกกันต่อไปว่า สส.เขตที่อยู่ในข่ายข้อกล่าวหา "จริยธรรมร้ายแรง" จะกระเด็นพ้นสภาฯ ลามไปถึงเลือกตั้งซ่อมใหม่หรือไม่
อีกทั้งถ้าเกิดเลือกตั้งซ่อมก่อนสภาฯ หมดวาระ ยังถือเป็นการวัด "เรตติ้ง" ของ "ก๊กส้ม"ด้วยว่าจะยังครองใจประชาชนอยู่หรือไม่