ผช.รมต.กต.ยันรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องคดี ‘ก้าวไกล’ ย้ำค้านยุบพรรคการเมือง
ผช.รมต.กต.โต้ “ไอลอว์” บิดเบือนสวนทางข้อเท็จจริง ยันรัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องฟ้องคดียุบพรรคก้าวไกล พร้อมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง
วันที่ 6 ส.ค. 2567 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่ไอลอว์ (iLaw) โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหารัฐบาลกรณีการยื่นหนังสือตอบสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ถึงการยุบพรรคก้าวไกล และโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นการนำเสนอที่สรุปรวบแบบ “ไม่ตรงกับเนื้อหา” และ “ไม่ตรงกับความเป็นจริง” เป็นพาดหัวตามภาพประกอบเพื่อชี้นำ และสร้างความเข้าใจผิดจากข้อเท็จจริงในองค์รวมของเนื้อหาในหนังสือจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ซึ่งหนังสือของไทย ที่เป็นการตอบคำถามตามข้อร้องเรียนของกลไกพิเศษ เกี่ยวกับกระบวนการที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 และการยื่นคำร้องของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยคำชี้แจงที่ส่งไป เป็นข้อเท็จจริง และสถานะของคดี ณ วันที่ตอบข้อร้องเรียน รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังยืนยันว่า รัฐบาลไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องยุบพรรคก้าวไกล และไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ หนังสือของไทยฉบับนี้ ได้ระบุเกี่ยวกับกำหนดการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2567 โดยไม่มีการคาดเดา หรือ Prejudge เท่านั้น ซึ่งภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินแล้ว กลไกพิเศษ ยังสามารถส่งข้อร้องเรียน หรือข้อซักถามเพิ่มเติมได้
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมา มีการยุบพรรคการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ ฯลฯ ซึ่งการยุบพรรคที่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้เสียงของประชาชนไม่ถูกสะท้อนตามความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ อำนาจการยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ประชาชนไทยให้การรับรองผ่านการออกเสียงประชามติ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
"ไอลอว์" เผยรัฐบาลแจงยูเอ็นคดียุบก้าวไกล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไอลอว์ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่บทความถึงกรณีเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ส่งข้อแสดงความกังวลถึงรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสินในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตอบกลับเป็นข้อชี้แจงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2567 โดยชี้ว่า รัฐบาลไทยตอบกลับความกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าการใช้ข้อกฎหมายยื่นยุบพรรคก้าวไกลโดย กกต. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
ขณะเดียวกับความกังวลว่าการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ รัฐบาลไทยระบุว่าการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของชาติสำหรับประชาชนคนไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีไว้สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จึงมีบทลงโทษที่รุนแรงหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว