ปิดฉาก 4 ปี ‘ก้าวไกล’ ปรากฏการณ์ 'แลนด์สไลด์สีส้ม'

ปิดฉาก 4 ปี ‘ก้าวไกล’ ปรากฏการณ์ 'แลนด์สไลด์สีส้ม'

บทบาทของพรรคก้าวไกลในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสร้างแรงปรากฏการณ์ทางสังคม - การเมือง ได้อย่างแหลมคม และร้อนแรง แม้ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” จะพยายามหยุดความเคลื่อนไหว ก็ไม่อาจทำได้สะดวกนัก

KEY

POINTS

  • ย้อนเหตุการณ์สำคัญ 4 ปี “ก้าวไกล” สร้างปรากฏการณ์สะเทือนสังคม-การเมือง
  • อภิปรายเดือดในสภาฯ “รัฐมนตรีแป้ง-ไอโอ-เครือข่ายทุนบ้านป่าฯ” ภาพจำ “ด้อมส้ม”
  • ลุยรื้อโครงสร้างการเมืองเก่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ ส.ส.ร.เลือกตั้ง 100%
  • นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง พ่วงคดี ม.112 สร้างบรรทัดฐานใหม่
  • ปักธงเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ประเดิมสนามแรกเลือกตั้งนายก อบจ.
  • จับตา “พรรคส้ม” หลังจากนี้ยังกล้า “เดินแรง” อีกหรือไม่

“+ก้าวไกล” ก่อร่างสร้างมาได้ราว 4 ปีเศษ สร้างปรากฏการณ์ทางสังคม ส่งแรงสะเทือนไปยังภาคการเมืองได้อย่างมหาศาลในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

โดยเฉพาะกรณีการ “ชักธงรบ” รื้อโครงสร้างการเมือง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนนำไปสู่การยื่นคำร้อง “ยุบพรรค

เส้นทางของ “ก้าวไกล” จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี “อนาคตใหม่” ยานพาหนะคันแรกที่นำโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ศาสดาสีส้ม พร้อมพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่ง ก่อตั้งเมื่อปี 2561 ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ปี 2562 จนพา สส.เข้าสภาฯ 81 คน สร้างสีสันในทางการเมืองเป็นอย่างมาก ด้วยความสดใหม่ และอุดมการณ์ชัดเจน ทำให้เกิดแรงต้านขึ้นจาก “นักเลือกตั้ง” และถูก “ฝ่ายอนุรักษนิยม” จับตามองเป็นพิเศษ

สุดท้าย “อนาคตใหม่” หยุดอายุไว้อยู่ที่ 1 ปี 343 วัน เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรค” และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 15 ปี กรณี “ธนาธร” ปล่อยกู้ให้พรรคตัวเอง 192 ล้านบาท โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ก็เคยถูกร้องยุบพรรค ในคดีกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมคบคิด “อิลลูมินาติ” มาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง

สส.สีส้ม บางส่วนแตกฉานซ่านเซ็น บางส่วนเป็น “งูเห่า” ไปอยู่ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล สส.ที่ยังเหลืออยู่ อพยพไป “ยานพาหนะคันที่ 2” นั่นคือ “พรรคผึ้งหลวง” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “ก้าวไกล” ในเวลาต่อมา

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นักธุรกิจหนุ่ม ก้าวขึ้นมานำทัพเป็น “หัวหน้าพรรคคนที่ 2” ดัน “ชัยธวัช ตุลาธน” 1 ใน 3 “กลุ่มเพื่อนเอก” นั่งเลขาธิการพรรค คุมงานหลังบ้าน

ในช่วงการทำงานในสภาฯ สมัยแรก คาบเกี่ยวระหว่าง “อนาคตใหม่-ก้าวไกล” สร้างแรงกระเพื่อมแก่แวดวงการเมืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” แบบไม่สน “หน้าอินทร์-หน้าพรหม” ขุดสารพัดเรื่องราวฉาวโฉ่ใต้พรมออกมาซัดรัฐบาลจนชะงัด แต่พ่ายแพ้ “เสียงข้างมาก” ไม่อาจหยุดยั้งรัฐบาลชุดก่อนได้

เริ่มจากยุค “อนาคตใหม่” ที่โปรยยาเสน่ห์ใส่ “คนรุ่นใหม่” หลายล้านคน หวังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทย ก็สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง จนแม้แต่ “ผบ.ทบ.” ขณะนั้น ต้องออกมาจัดเวทีกิจกรรมโต้แย้ง สวนกลับไปอย่างเจ็บแสบ เรียกพวกเขาว่าเป็น “ซ้ายจัดดัดจริต” มาแล้ว ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นในสมรภูมิการเมืองไทยมาก่อน

สุดท้ายในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนยุบพรรคอนาคตใหม่ มีกระแสข่าวสะพัดว่า 2 หัวหอกสีส้ม พยายามต่อสายดีล “บิ๊กทหาร” เพื่อขอเจรจาไม่ให้ยุบพรรค แลกกับการหยุดเคลื่อนไหวบางอย่างก็ตาม แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันที่แน่นอนว่า ได้มีการพบกันตามกระแสข่าวจริงหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงที่เห็นในเวลาต่อมาคือ “อนาคตใหม่” ถูกยุบพรรค

หลังจาก “อนาคตใหม่” ถูกยุบ “ก้าวไกล” ยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบายแทบจะทุกเรื่อง สร้างความโดดเด่นในเวทีสภาฯ โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่หลายเรื่องยังคงถูกพูดถึงในปัจจุบัน 

ไม่ว่าจะเป็นกรณี “รัฐมนตรีแป้ง” ที่สร้างวาทกรรมในตำนาน “มันคือแป้ง” คาสภาฯ จนเป็นมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตถึงปัจจุบัน กรณี “ไอโอ” ของฝ่ายทหารที่มีการขุดแชตไลน์ออกมาแฉกลางสภาฯ จนชาวเน็ตแห่เข้าไลน์ดังกล่าวไปป่วน จนไลน์ต้องปิดไป

 หรือแม้แต่การขุดประเด็น “เครือข่ายบ้านป่าฯ” โดยเป็นการร่วมมือระหว่าง “กลุ่มทุน-บิ๊กลายพราง-นักเลือกตั้ง” ร่วมกันแบ่งปันผลประโยชน์ให้พรรคพวกตัวเอง จน สส.ก้าวไกล บางคนถูกฟ้องร้องขึ้นศาล บางคนคดียาวเป็นหางว่าว

ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เกิดปรากฏการณ์ทางสังคม ก่อกำเนิด “ม็อบราษฎร” ขึ้นมาระหว่างปี 2562-2564 เคลื่อนไหวบนท้องถนน โดยมี สส.ก้าวไกล บางคนหนุนหลัง-ช่วยเหลือประกันตัวแกนนำ ทำให้สังคมมองภาพ “ม็อบ-ก้าวไกล” เป็นเนื้อเดียวกันแบบแยกไม่ออก 

แม้ว่า “แกนนำพรรค” จะออกมาปฏิเสธความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นสิทธิของ สส.ที่จะไปเคลื่อนไหวกับมวลชนก็ตาม โดยการเคลื่อนไหวในสภาฯ ของ “ก้าวไกล” และนอกสภาฯ ของ “ม็อบราษฎร” ส่งผลให้การพูด “ทะลุเพดาน” กระจายวงกว้างไป และสร้างมายด์เซต “รุ่นสู่รุ่น” ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่จนมาถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลชุดก่อนยุบสภาฯ และจัดการเลือกตั้งในปี 2566 “ลุงคนกลาง-คนเล็ก” เกษียณตัวเองทางการเมือง เหลือแค่ “พี่ใหญ่” ที่ยังไม่ลงจากหลังเสือ ทำให้ “ก้าวไกล” ชูมอตโต้ “มีลุงไม่มีเรา” หาเสียงได้ชะงัดนัก 

ในที่สุดก็คว้าชัยได้ สส.เข้าสภาฯ อันดับ 1 เป็นครั้งแรก 151 ที่นั่ง ยัดเยียดความปราชัยครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งให้ “เพื่อไทย” ที่ได้ 141 ที่นั่ง

ในช่วงเวลา 4 ปีเศษที่ผ่านมา “ก้าวไกล” พัฒนาตัวเองไปค่อนข้างไกลโข จากพรรคอันดับ 2 ในสภาฯในการเลือกตั้งปี 2562 มาเป็นพรรคอันดับ 1 ของสภาฯ ในการเลือกตั้งปี 2566 

แม้ว่าจะถูกขัดขวางมิให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เมื่อ “เพื่อไทย” ขับไสไล่ส่งออกไป ก่อนเบนเข็มไป “ปฏิญาณช็อกมินต์” จับมือกับขั้วรัฐบาลเดิม จัดตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” ขึ้นมาแทนก็ตาม แต่การกระทำนั้นยิ่งสร้างแรงแค้นให้กับ “ด้อมส้ม” จำนวนมาก สร้างเรตติ้งให้ “ก้าวไกล” เพิ่มมากขึ้นไปอีก

หลังจาก “เพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารแผ่นดินมาได้ราวเกือบ 1 ปี “ก้าวไกล” ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกขาหนึ่งก็รับมอบ “ภารกิจใหม่” นั่นคือการจัดสรรบุคคลลงชิงเก้าอี้ผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศแทน “คณะก้าวหน้า” ที่จะเดินหน้าภารกิจ “ปักธงความคิด” ทั่วประเทศอย่างเดียวแทน

อย่างไรก็ดี “คณะก้าวหน้า” ได้เบนเข็มมาทำภารกิจใหญ่ชั่วคราว คือ การรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือก สว.ในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีบุคคลที่ลงสมัครรับเลือก สว.หลายคนที่ถูกโยงว่าเป็น “เครือข่ายสีส้ม” แต่สุดท้าย “พ่ายแพ้ยับเยิน” จากเทคนิคชั้นเซียนของ “บ้านใหญ่อีสานใต้” พา “สว.สีน้ำเงิน” เข้าสภาฯกว่า 150 คน ในขณะที่ สว.สีส้ม ได้ไปเพียง 20 คนเท่านั้น

โดยภารกิจนี้ของ “ก้าวไกล” ว่ากันว่ามี “ติ่ง” ศรายุทธ ใจหลัก ผอ.พรรคก้าวไกล 1 ใน 3 “กลุ่มเพื่อนเอก” คุมงานหลังม่าน โดยงานแรกคือ การสรรหาคนชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ทั่วประเทศ เบื้องต้นหามาได้แล้ว 6 ชื่อ และจะประเดิมการต่อสู้แรกในการชิงเก้าอี้นายก อบจ.ราชบุรี 1 ก.ย.นี้

ส่วนภารกิจหลักของ “ก้าวไกล” คือ การลุยทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในสภาฯ ซึ่งต้องดำเนินการโดย ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 100% รวมถึงการ “นิรโทษกรรม” คดีทางการเมืองทั้งหมด ในส่วนคดีตามมาตรา 112 นั้น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยังไม่มีการเคาะอย่างเป็นทางการว่าจะทำอย่างไร แต่ “ก้าวไกล” ออกตัวแรงแล้วว่า อยากให้หมายรวมคดีนี้ไว้ในการนิรโทษกรรมด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกัน “ก้าวไกล” เผชิญคดีความในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ 3 คดีด้วยกัน คดีแรกคือ กรณีการถือครองหุ้น “ไอทีวี” ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ตอนศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ได้สั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ทำให้พรรคต้องดัน “ชัยธวัช ตุลาธน” ขึ้นมาเป็นแม่ทัพคนที่ 3 แต่สุดท้ายได้วินิจฉัยว่า “พิธา” ถือครองหุ้นไอทีวีจริง แต่มิใช่หุ้นสื่อตามรัฐธรรมนูญ จึงได้คืนตำแหน่ง สส.แก่พิธาอีกครั้ง

คดีต่อมาคือ การออกนโยบายหาเสียงช่วงเลือกตั้ง 2566 เข้าข่ายใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า “ก้าวไกล-พิธา” กระทำผิดจริง และสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าวโดยทันที

ผลของคดีข้างต้นทำให้เกิดคดีที่ 3 ขึ้นมาคือ กรณีกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกล ปฏิปักษ์หรือล้มล้างการปกครองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) (2) ซึ่ง “ก้าวไกล” พยายามต่อสู้มาโดยตลอดว่า เป็นคนละเรื่องกัน ไม่อาจนำคำวินิจฉัยคดีที่ 2 มาใช้ได้ 

นอกจากนี้กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) ยังมิชอบด้วยกฎหมาย แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าคดีเป็นข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานข้อเท็จจริงเพียงพอวินิจฉัยได้ จึงงดการไต่สวน และกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย "ยุบพรรค" เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งหมดคือ บทบาทของพรรคก้าวไกลในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสร้างแรงปรากฏการณ์ทางสังคม-การเมือง ได้อย่างแหลมคม และร้อนแรง แม้ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” จะพยายามหยุดความเคลื่อนไหว ก็ไม่อาจทำได้สะดวกนัก

ดังนั้น ต่อจากนี้ “พรรคส้ม” จะยังกล้า "เดินแรง" เช่นเดิมอีกหรือไม่ต้องรอดูกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์