2 ฉากทัศน์ ‘เศรษฐา’ รอด-ร่วง รอดเดินหน้าปรับ ครม.- เปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล

2 ฉากทัศน์ ‘เศรษฐา’ รอด-ร่วง รอดเดินหน้าปรับ ครม.- เปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล ร่วงเลือกนายกฯ คนใหม่ จาก 6 แคนดิเดต 5 พรรค
KEY
POINTS
- 14 ส.ค.67 สิ้นสุดการรอคอย 84 วัน คดีคุณสมบัติรัฐมนตรีของ "เศรษฐา ทวีสิน" กรณีแต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" ดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ
- แนวทางคำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีเพียง 2 แนวทาง 1.มีความผิดต้องพ้นจากเก้าอี้นายกฯ 2.ไม่มีความผิดดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ
- แต่ไม่ว่าคำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะออกมาในแนวทางใด สิ่งที่น่าสนใจคือ การเมืองจะเดินไปในทิศทางใด
วันที่ 14 ส.ค.2567 เวลา 15.00 น. สิ้นสุด 84 วันที่รอลุ้น หลัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดชี้ชะตา “เศรษฐา ทวีสิน” ว่าจะยังได้ไปต่อในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” หรือไม่ จากคดีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จาก “ตราบาป” ปมคดีถุงขนม 2 ล้านบาท
โดยศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยว่า “เศรษฐา” เข้าข่ายความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
คำร้องดังกล่าว “เศรษฐา-บิ๊กรัฐบาล” ไม่ทันได้ตั้งตัว มารู้อีกทีตอนคำร้องดังกล่าวไปถึงมือฝ่ายธุรการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ปฏิบัติการของ “กลุ่ม 40 อดีตสว.” รวดเร็ว จนถูกตั้งข้อสงสัยว่า “บิ๊กเนม” คนใดอยู่เบื้องหลัง
แม้ “บิ๊กเพื่อไทย” จะแก้เกมด้วยการส่งสัญญาณให้ “พิชิต” ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม โดยมีมือกฎหมายแนะนำว่า หาก “พิชิต” ลาออก อาจจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของกลุ่ม 40 อดีต สว. ไว้พิจารณา
ทว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีมติ ไม่เป็นตามที่มือกฎหมายคาดการณ์ โดย 6 ต่อ 3 ตุลาการรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมี 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
หลังจากนั้นมี “ซูเปอร์ดีล” ส่ง “วิษณุ เครืองาม” เนติบริการระดับอ๋อง มาคอยให้คำปรึกษา “เศรษฐา” เป้าหมายหลักคือ การช่วยเขียนข้อแก้ต่าง คำชี้แจง คำแถลงปิดคดี เพื่อรักษาเก้าอี้นายกฯ ของ “เศรษฐา” เอาไว้ให้ได้
ข้อต่อสู้หลักของ “เศรษฐา” ระบุไว้ในคำชี้แจง-คำแถลงปิดคดี ตอนหนึ่งว่า “ความผิดของผู้ถูกร้องที่สองคือ "พิชิต" ยังเสมือนเป็นความผิดประธาน ซึ่งในขณะที่มีการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยความผิดประธานโดยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีของตนเอง(เศรษฐา) จึงเปรียบเสมือนเป็นความผิดอุปกรณ์ จึงไม่อาจมีไปด้วยได้”
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีของ “เศรษฐา” ในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้ มีเพียง 2 แนวทาง
แนวทางแรก หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา” รอดพ้นบ่วงคดี ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น และไม่มีอะไรมากวนใจอีก อย่างน้อยก็ภายในปีนี้
ทว่าเป็นไฟต์บังคับให้ “เศรษฐา” ต้องปรับ ครม.- เปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจาก “นายใหญ่บ้านจันทร์” ไม่ปลื้ม “ลุงบ้านป่า” ที่คอยเดินเกมล้มรัฐบาล เพื่อสานฝันของตัวเอง
ว่ากันว่า 40 สส.พลังประชารัฐ ถูกแบ่งออกเป็น 2 สาย สายตรง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และสายตรง “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค
โจทย์ “นายใหญ่” ต้องการเขี่ยสายตรง “ประวิตร” ออกจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 คน ทำให้ “ธรรมนัส” ต้องเดินเกมแยกปลาออกจากน้ำ ดึง “สส.” สายตรงบิ๊กป้อม มาเป็นพวกให้ได้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจเปิดช่องให้ “นายใหญ่” ดึง 21 สส. ประชาธิปัตย์ เข้ามาเสียบแทน ซึ่งจะทำให้ “พลังประชารัฐ” ต้องเสียโควตารัฐมนตรีไปโดยปริยาย
แน่นอนว่าหาก “เศรษฐา” พ้นผิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การปรับ ครม.ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะปรับช้า หรือเร็ว
หากปรับเร็วจะเกิดขึ้นภายในเดือนส.ค.นี้ แต่หากปรับช้าจะรอจังหวะให้เสร็จสิ้นการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ในช่วงกลางเดือนก.ย.ไปก่อน
ในระหว่างนี้ “รัฐบาลเศรษฐา” สุ่มเสี่ยงที่จะโดน “ขั้วฝ่ายค้าน” ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ตามมาตรา 151 ซึ่งสามารถยื่นได้ในสมัยประชุมนี้ โดยสภาฯจะปิดสมัยประชุมในช่วงต้นเดือนต.ค.
มีกระแสข่าวว่า “ขั้วฝ่ายค้าน” นำโดย “พรรคประชาชน” มีข้อมูลอยู่ในมือหลายประเด็น พร้อมที่จะชำแหละโดยไม่ต้องรอ หรือเกรงใจ
ที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ “ประชาธิปัตย์” หากตกขบวนเข้าร่วมรัฐบาลอีกรอบ ก็พร้อมที่จะผันตัวเองเป็นฝ่ายค้านอย่างเต็มตัว ทิ้งความหวังร่วมรัฐบาล เพื่อเก็บแต้มทางการเมืองเช่นกัน
สำหรับมิติด้านเศรษฐกิจ บทพิสูจน์ของ “เศรษฐา” เมื่อผ่านด่านนี้ไปแล้ว จะถูกโฟกัสที่ผลงาน โดยเฉพาะนโยบายเรือธงของ “รัฐบาล-เพื่อไทย” ที่พยายามเข็นให้ถึงฝั่ง เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้ฟื้นกลับมา
โดยเฉพาะนโยบายแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต แม้จะยื้อมานาน ล่าสุดเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนยืนยันสิทธิ เมื่อวันที่ 1-15 ส.ค.67 คาดว่าจะสามารถเปิดใช้เต็มระบบต้นเดือนพ.ย. โดยมีระยะเวลาใช้เงินดิจิทัล 6 เดือน ระหว่างนี้ก็ต้องลุ้นว่า กระแสที่วูบไปพร้อมกับความล่าช้าของโครงการนี้จะกระเตื้องขึ้นมาได้หรือไม่
นโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล หารือช่วงเย็นวันที่ 12 ส.ค.67 โดยร่างกฎหมายจะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันนี้
นโยบายแลนด์บริดจ์ อยู่ระหว่างร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่รัฐบาลมั่นใจว่า คิดใหญ่-ทำเป็น มุ่งหวังให้โครงการดังกล่าวพลิกโฉมประเทศไทย เนื่องจากจะเป็นจุดเชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทย-ทะเลอันดามัน ร่นระยะทางการเดินเรือ สามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งโลก ที่ก่อนหน้านี้เศรษฐาพยายามเดินสายโรดโชว์ในหลายประเทศ
นอกจากนี้ “เศรษฐา” ยังมีภารกิจต้องสร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ เพราะในช่วงสุญญากาศการเมือง ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยส่งสัญญาณผ่าน “ตลาดหุ้น” ที่มียอดการซื้อขายอยู่ในแดนลบ และยังต้องฟื้นเศรษฐกิจฐานรากไปพร้อมๆ กัน
เหล่านี้คือโจทย์ยาก โจทย์ใหญ่ ที่เศรษฐาต้องไปต่อด้วยภารกิจเหล่านี้
ตัดกลับมาที่ แนวทางสอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา” ไม่รอด ต้องพ้นเก้าอี้“ นายกฯ” จะทำให้สถานะของ “เพื่อไทย” ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสั่นคลอนขึ้นมาทันที เพราะ “ครม.เศรษฐา” จะพ้นเก้าอี้ทั้งคณะ เนื่องจาก “นายกฯ” พ้นจากตำแหน่ง
เกมหลังจากนี้ จะออกได้ 2 หน้า คือ 1.ครม.เศรษฐา จะกลายเป็น ครม.รักษาการ โดยจะต้องเลือกรองนายกฯ คนหนึ่งขึ้นมารักษาการนายกฯ พร้อมกับมีอำนาจในการ “ยุบสภาฯ”
หากเดินเกมนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 5 วันหลังยุบสภาฯ และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน โดยผู้สมัคร สส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง นั่นคือ มีโอกาสให้ย้ายพรรคในช่วง 15-30 วันหลังยุบสภาฯ
2.ครม.รักษาการ มิได้ตัดสินใจยุบสภาฯ แต่เดินเกมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ คนใหม่ โดยต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต.เท่านั้น
โดยใช้เสียง สส.ในสภาฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพื่อเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรโหวต ไม่ต้องใช้เสียง สว.อีกต่อไป เนื่องจากบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงไปแล้ว ทั้งนี้การโหวตเลือกนายกฯใหม่ มิได้ระบุเงื่อนไขเวลาไว้ในรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันมี 6 แคนดิเดต ในบัญชีที่พรรคการเมืองยื่นต่อ กกต. เอาไว้ ซึ่งต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 25 คน เท่านั้น ที่จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
ทำให้มีเพียง “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ชัยเกษม นิติสิริ”แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
บทสรุปสุดท้ายของ “รัฐบาลเพื่อไทย” จะได้อยู่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ 14 ส.ค.67 นี้ ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทยอีกครั้ง และยังเป็นเดิมพันสูงลิบของ “พรรคเพื่อไทย” และ “ตระกูลชินวัตร”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์