พิษคดี ‘พิชิต’ ตราบาป ‘เศรษฐา’ คุ้ยตัวละครถุงขนม ปมติดคุกฟรี
เปิดบันทึกคำให้การตัวละครเอกคดีถุงขนม 2 ล้านบาท ที่ให้การให้ชั้นพนักงานสอบสวน คดีอาญา ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากคดีละเมิดอำนาจศาลเมื่อปี 2551 ทำให้ "พิชิต ชื่นบาน" ต้องติดคุก 6 เดือนผลแห่งคดีลามมาถึงปี 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากให้ "เศรษฐา ทวีสิน" พ้นจากนายกฯ
KEY
POINTS
- ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้ "เศรษฐา ทวีสิน" พ้นนายกฯ โดยชี้ว่าการลงโทษจำคุก “พิชิต” ฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดอย่างชัดแจ้งแล้ว
- ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า "เศรษฐา" แต่งตั้ง "พิชิต" เป็นรัฐมนตรีจึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4)
- เปิดเอกสารบันทึกคำให้การตัวละครสำคัญ นาย ธ. ให้การกับพนักงานสอบสวนในคดีโดยย้ำว่าการนำถุงขนมไปให้เจ้าหน้าที่ศาลนั้น ไม่ได้ปรึกษากับ "พิชิต" และ นางสาว ศ.
- จากบันทึกคำให้การของ นาย ธ. และเจ้าหน้าที่ศาล ที่ไม่มีความชัดเจน ทำให้พนักงานสอบสวน และอัยการไม่สั่งฟ้องคดีต่อศาล
- คดีที่พิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญได้ยึดคำสั่งของศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจที่ลงโทษจำคุก "พิชิต" มาเป็นฐานในการวินิจฉัยให้ "เศรษฐา" พ้นจากนายกรัฐมนตรี
ใช้เวลา 35 นาทีอย่างรวดเร็ว ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา160 (5)
เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ
ในข้อกฎหมายยุติไปแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยยึดคำสั่งของศาลฎีกาที่เคยลงโทษจำคุก “พิชิต ชื่นบาน” ในคดีละเมิดอำนาจศาลเมื่อปี 2551 และมองว่าการที่พนักงานอัยการไม่ฟ้องคดีอาญาในคดีถุงขนม ไม่เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจทางการเมือง
อีกทั้งเห็นว่าการลงโทษจำคุก “พิชิต” ฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดอย่างชัดแจ้งแล้ว แม้ผู้กระทำการจะอ้างว่าหยิบสลับกับถุงขนมก็ตาม แต่ “พิชิต” ไม่อาจปฏิเสธมีส่วนร่วมรู้เห็นได้
“มาตรฐานในการพิจารณาว่าฟ้องหรือลงโทษอาญาต่อบุคคลใดต้องพิสูจน์ความผิดให้ครบองค์ประกอบนั้น การที่พนักงานอัยการไม่ฟ้องคดีอาญา ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือหรือความไว้วางใจทางการเมือง ที่พิจารณาจากรากฐานวิญญูชน การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 2 (พิชิต) อันเป็นเหตุให้ศาลฎีกาสั่งให้ลงโทษจำคุกนั้น เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่วิญญูชนทั่วไปประพฤติปฏิบัติ เช่น การนำเงินสดจำนวน 2 ล้านบาทใส่ถุงมามอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาโดยอ้างว่าหยิบสลับกับถุงขนมช็อกโกแลต เป็นพฤติการณ์ที่วิญญูชนยากจะเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นได้”
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “ผู้กระทำการได้ร่วมกระทำการดังกล่าวเป็นผู้ทำงานให้กับผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่อาจปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ที่เคยมีพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมไม่มีความเชื่อถือไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 (เศรษฐา ทวีสิน) รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวตลอดแล้ว แต่คงเสนอให้แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตาม พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงวันที่ 27 เม.ย.2567 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4)”
"พิชิต" พลิกสู้ยื่นร้องศาล รธน.เพิ่ม
จากปฐมบทของคดีต้นเหตุมาจากกลุ่ม 40 สว.สายบ้านป่าฯ ร้องต่อประธานวุฒิสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยกรณี “เศรษฐา” แต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี แม้ศาลจะมีมติ 8 ต่อ 1 ไม่รับตีความสถานะรัฐมนตรีของ “พิชิต” เพราะเหตุแห่งการลาออกเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2567
ไฮไลต์ของคดีที่หลบซ่อนอยู่คือ ถ้อยคำว่า “ผู้เกี่ยวข้อง” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยเผยแพร่เอกสารผลการป ระชุมเมื่อ 24 ก.ค.2567 ได้ระบุถึงผลการพิจารณาคดีนายกฯ ได้ระบุว่า “ส่วนคำร้องที่ผู้เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้รวมไว้ในสำนวนคดี”
พลิกดูข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ให้นิยาม “ผู้เกี่ยวข้อง” หมายความว่า “หน่วยงาน คณะบุคคล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี”
ถ้อยคำว่า “ผู้เกี่ยวข้อง” ทำให้ “พิชิต” มีโอกาสยื่นประเด็นคำร้องเพิ่มเติมเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยเพิ่มเติมในคดีตีความสถานะของนายกรัฐมนตรีด้วย
กระทั่ง “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ลงนามในหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 ถึง “พิชิต” ให้รับคำร้องของ “พิชิต”มารวมไว้พิจารณา
ข้อสังเกตที่ไม่ควรมองข้ามนอกเหนือคำวินิจฉัยคือ ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกพยานเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีเอกสารข่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2567 ว่า “เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาให้เรียกข้อมูลเพิ่มเติม และรอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้”
เอกสารที่ศาลเรียกไปนั้นเป็นเอกสารสำนวนคำให้การในคดีอาญาเกี่ยวกับคดี “ถุงขนม 2 ล้านบาท” เป็นเอกสารที่เรียกขอไปทางพนักงานอัยการ เป็นบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในคดีถุงขนม
เป็นคดีที่เกี่ยวพันจากคดีละเมิดอำนาจต่อเนื่องไปถึงคดีอาญา หลัง “พิชิต” ได้ถูกศาลฎีกาพิพากษาในข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล
ทั้ง “พิชิต” และผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาได้ในคดีละเมิดอำนาจศาลเมื่อปี 2551
“พิชิต” และผู้ถูกกล่าวหาในคดีต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งโทษของคดีเป็นคำสั่งทางแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา
เปิดคำให้การ นาย ธ.ผู้ต้องหาคดีถุงขนม
ว่ากันว่า ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย “พิชิต” ในฐานะผู้เกี่ยวข้องของคดีนายกฯ ได้พยายามขอเอกสารไปทาง สน.ชนะสงคราม ทว่าเอกสารบันทึกคำให้การผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเกี่ยวกับ “ถุงขนม” ได้ถูกทำลายไปแล้ว จึงเหลือเพียงเอกสารที่อยู่ในชั้นอัยการ ซึ่งเป็นเอกสารชุดเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกขอจากอัยการ
เป็นเวลาเกือบ 16 ปีแห่งความหลังที่ “พิชิต” อาจจะเพิ่งรับรู้ถึงรายละเอียดคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้ต้องหาที่ 3 ของคดีอาญาคือ “นาย ธ.” ให้การกับ สน.ชนะสงคราม เกี่ยวกับคดีถุงขนม 2 ล้านบาท และถูกตัดสินในคดีละเมิดอำนาจศาลให้จำคุกเมื่อปี 2551 ซึ่งเขาไม่คิดที่จะมานั่งรื้ออ่านสำนวนคำให้การของ นาย ธ.ที่เป็นผู้ต้นคิดเรื่องถุงขนม
เวลาต่อมาชั้นพนักงานสอบสวน และอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องต่อศาลอาญา เพราะข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ไม่สามารถรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำความผิด แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยึดคำสั่งศาลฎีกามาวินิจฉัย
เอกสารบันทึกคำให้การของ “นาย ธ.” ตัวละครสำคัญในคดีถุงขนมที่ให้ไว้ ในสำนวนคดีอาญา จึงเป็นเรื่องที่สังคมอาจยังไม่รู้ข้อเท็จจริงในรายละเอียดการให้ปากคำพจมาน ดามาพงศ์ ในคดีที่ดินรัชดา
นาย ธ.ได้เล่าให้พนักงานสอบสวนฟังว่า ตนเองได้หยิบเงิน 2 ล้านบาท ที่ได้จากการขายบ้านโดยตั้งใจจะนำไปฝากกับธนาคาร หลังจากทำธุระที่ศาลฎีกาเสร็จแล้ว ส่วนภรรยาได้ถือถุงช็อกโกแลต ที่ตนเองได้ซื้อไว้เพื่อนำไปฝากเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งถุงเงิน 2 ล้านบาท ก็อยู่ที่ท้ายกระโปรงรถด้วย ส่วนถุงช็อกโกแลต ภรรยานาย ธ.ได้วางไว้วางเท้าด้านซ้ายที่นั่งเบาะหลัง
นายธ.ได้ให้คนขับรถหยิบถุงขนมที่เบาะหลังไปให้เจ้าหน้าที่ศาล เวลาต่อมา นาย ธ.ได้พบกับเจ้าหน้าที่ศาลที่เรียกกันว่า “พี่หม่อม” ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลก็ถามว่า เอาอะไรมาฝาก นาย ธ.บอกว่าเป็นขนมเล็กน้อยให้พี่หม่อมและน้องๆ ไปแบ่งกันทาน
คนขับรถหยิบถุงผิดให้ เจ้าหน้าที่ศาล
กระทั่งมีเจ้าหน้าที่มาเรียก นาย ธ.แล้วยื่นถุงดังกล่าวกลับคืนให้กับ นาย ธ. ทำให้นาย ธ.จึงรู้สึกงงๆ ว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ศาลถึงนำถุงขนมมาคืน
เวลาต่อมา นาย ธ. เอะใจจึงเดินไปที่รถ แกะถุงดังกล่าวดูว่าเป็นถุงช็อกโกแลตหรือไม่ เมื่อแกะเสร็จก็พบว่าเป็นถุงช็อกโกแลต
แต่แล้วถุงขนมที่จะนำฝากศาล กลับเป็นถุงเงินสดขึ้นมาได้ เมื่อ นาย ธ.ถามย้ำกับคนขับรถว่าได้หยิบถุงจากตรงไหนไปให้ คนขับรถจึงตอบนาย ธ.ว่า หยิบจากท้ายกระโปรงรถไปให้
“อย่างนี้เกิดเรื่องยุ่งแน่” นาย ธ.จึงอุทานออกมา เพราะถุงในท้ายกระโปรงรถเป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาทที่คนขับรถนำไปให้เจ้าหน้าที่ศาล ไม่ใช่ถุงขนมตามที่คิดไว้
เรื่องราวข้างต้นทำให้ “พิชิต” ต้องมาพัวพันจนต้องถูกคุมขังในเรือนจำ
เพราะเหตุที่ นาย ธ.ไปขอให้ “พิชิต” ช่วยนัดหมายเจ้าหน้าที่คนที่รับถุงขนม เพื่อทำความเข้าใจ เมื่อถึงเวลาช่วงบ่ายของวันนั้น ก็ทราบว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้รายงานให้ผู้ใหญ่ทราบแล้ว ทำให้ไม่ได้เข้าไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ศาลที่รับถุงขนม
สาเหตุที่ นาย ธ.ต้องนำถุงขนมไปให้เจ้าหน้าที่ศาลนั้น จากบันทึกคำให้การกับ สน.ชนะสงคราม เผยเหตุว่า เพราะ นาย ธ.ได้รับความสะดวกในการประสานงานการมาศาลของ “ทักษิณ” และคุณหญิงพจมาน จึงประทับใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศาล จึงให้ภรรยาไปซื้อขนมมาฝาก มิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด และไม่ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ศาลที่ชื่อ “หม่อม” ช่วยในเรื่องใดด้วย
"พิชิต" ติดคุกฟรี? ปมถุงขนม
คำให้การของ นาย ธ.มีสาระสำคัญที่บอกย้ำว่า “พิชิต” ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับถุงขนม ไม่ได้เป็นตัวการหรือมีส่วนร่วมในการให้ถุงขนมกับเจ้าหน้าที่ศาล
พนักงานสอบสวนได้ถามว่า ในวันเกิดเหตุ และหลังจากวันเกิดเหตุ มีผู้ใดยึด หรือขอให้ท่านส่งเงินจำนวน 2 ล้านบาทดังกล่าวไปเป็นพยานหลักฐานหรือของกลางในคดีหรือไม่
นาย ธ. ตอบว่า “ไม่มีผู้ใดยึดหรือขอให้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน หรือเป็นของกลางในคดีแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ศาลที่อยู่ในที่เกิดเหตุหรือเจ้าหน้าที่อื่นใด” ส่วนเงินจำนวน 2 ล้านบาทได้นำไปใช้จ่ายหมดแล้ว สำหรับช็อกโกแลตทราบจากภรรยาว่าได้กินหมดแล้ว
โดยพนักงานสอบสวนได้ถามคำถามสำคัญที่คลี่คลายคดีถุงขนม 2 ล้านบาท และทำให้ “พิชิต” ถูกมองอีกมุมว่า อาจติดคุกฟรีในคดีละเมิดอำนาจศาล
คำถามดังกล่าวถามว่า “การที่ท่านนำช็อกโกแลตไปฝากเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาท่านได้ปรึกษากับผู้ใดหรือไม่” ซึ่ง นาย ธ.ตอบว่า “ไม่ได้ปรึกษาผู้ใดเลย รวมทั้งนายพิชิต และ นางสาว ศ. (อดีตเลขาฯ พิชิต)”
ขณะที่คำให้การของ เจ้าหน้าที่ศาลชื่อ "หม่อม” ได้ระบุกับพนักงานสอบสวนเพียงว่า เชื่อว่าการกระทำของ นาย ธ. “พิชิต” และ นางสาว ศ. มีส่วนร่วมรู้เห็น ซึ่งคำสั่งไต่สวนของศาลฎีกาได้ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลทั้งสามร่วมกันกระทำ โดยแบ่งหน้าที่กันกระทำ จึงขอถือเอาคำสั่งศาลฎีกา (คดีละเมิดอำนาจศาล) ตอบคำถาม
คำให้การของ “นาย ธ.” และ “เจ้าหน้าที่ศาล” ที่คลุมเครือ ทำให้พนักงานสอบสวนได้ยุติทำสำนวนฟ้องต่อศาล
จากบันทึกคำให้ตัวละครเอกคดีถุงขนม แม้ผ่านมา 16 ปีแล้ว แต่ "พิชิต" ก็ยังไม่ได้มีโอกาสพิสูจน์ความเป็นธรรม แม้กระทั่งได้เป็นรัฐมนตรี และลาออกเพื่อรักษาสถานะนายกฯ แล้วก็ตาม
กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย โดยอ้างอิงจากคำสั่งของศาลฎีกาเมื่อปี 2551 ที่ลงโทษจำคุก “พิชิต” ฐานละเมิดอำนาจศาลมาเป็นคำวินิจฉัย
ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา คำว่า “ติดคุกฟรี” ยังฝังใจ “พิชิต” เพราะเขาต้องทนทุกข์จนกว่าแผ่นดินจะกลบหน้าต่อไปว่า เป็น “ทนายถุงขนม” ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่เขาปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่ได้เป็นตัวการต้นเรื่องถุงขนม 2 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์