จับตา สภาฯ ผ่าน 'ร่างกม.ประชามติ' ปรับเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว

จับตา สภาฯ ผ่าน 'ร่างกม.ประชามติ' ปรับเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว

สภาฯ นัดถก ร่างกม.ประชามติ วาระสอง-สาม พรุ่งนี้ "กมธ.ประชามติ" ลดเกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว เติมเงื่อนไขต้องได้คะแนนสูงกว่า “งดออกเสียง”

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาฯ วันที่ 21 ส.ค. มีวาระพิจารณาสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ....  ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีนายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณแล้วเสร็จ ทั้งนี้มี สส.ที่เสนอคำแปรญัตติ 1 คน คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน

ขณะนี้สาระของการแก้ไขเนื้อหา กมธ.มีการแก้ไขเนื้อหา 7 มาตรา จากร่างพ.ร.บ. ฉบับหลักที่เสนอ 9 มาตรา และมีเพิ่มขึ้นใหม่  3 มาตรา โดยมีสาระสำคัญที่แก้ไข คือ

1.การกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการทำประชามติที่เป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป หรือ การเลือกตั้งท้องถิ่นเนื่องจากครบวาระ ต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วันนับจากวันที่รับแจ้งจากประธานรัฐสภา

2.กรณีที่ประชาชน 5หมื่นชื่อ จะยื่นเรื่องต่อครม.ให้พิจารณาทำประชามติ ได้เพิ่มรายละเอียดให้ สามารถทำผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

3.เกณฑ์การผ่านประชามติ ที่กำหนดให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง กมธ.ได้เพิ่มหลักเกณฑ์คือ นอกจากจะได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงแล้ว ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิด (งดออกเสียง) ในเรื่องที่ทำประชามตินั้น

ทั้งนี้ในเกณฑ์ผ่านประชามติ ตามพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2561 นั้นกำหนดให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ  ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และ เสียงเห็นชอบต้องเป็นกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

ส่วนมาตราที่กมธ.เพิ่มใหม่นั้น พบความน่าสนใจ คือ การกำหนดรายละเอียดให้เผยแพร่และจัดทำข้อมูลนำเสนอต่อประชาชนก่อนการออกเสียงประชามติที่ต้องมุ่งหมายให้ประชาชนเข้าใจในรายละเอียดที่ถูกต้อง ไม่ชี้นำว่าให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ทั้งนี้ กมธ.ได้เพิ่มข้อความ คือ "ห้ามชี้นำให้มีการลงคะแนนออกเสียงทางใดทางหนึ่งกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงนั้น”

โดยเหตุผลที่เพิ่มข้อความดังกล่าว เพราะกมธ.ได้เพิ่มเกณฑ์ผ่านประชามติที่เติมเงื่อนไข คือ ต้องได้คะแนนที่สูงกว่าการไม่แสดงความคิดเห็น หรือ งดออกเสียง ดังนั้นหากกำหนดข้อห้ามชี้นำ ให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ อาจไม่ครอบคลุมประเด็นที่เพิ่มเติม

นอกจากนั้นเป็นการกำหนดรายละเอียดในส่วนธุรการ เช่น กรณีที่กำหนดวันออกเสียงประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้งสส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่นให้ ครม. หารือกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายในการทำประชามติและการเลือกตั้ง กำหนดให้มีกรรมการประจำเขต ไม่เกิน 5 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในประเด็นสำคัญ ว่าด้วยเกณฑ์ที่ใช้เป็นข้อยุติในเรื่องที่ออกเสียงประชามติ ซึ่งกมธ.ได้เติมหลักเกณฑ์นอกจากต้องได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงแล้ว ยังกำหนดให้ ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดในเรื่องที่ทำประชามติด้วย

พบว่ามีกมธ.ที่สงวนความเห็น โดยพบว่าเป็นฝั่งของสส.ร่วมรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งขอแก้ไขในข้อความเดียวกัน คือ กำหนดเกณฑ์ผ่านประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิออกเสียง เพิ่มเติมจากการได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และ คะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องทำประชามติ

ทั้งนี้ในรายละเอียดของการพิจารณานั้น ต้องจับตาการแปรญัตติเพิ่มเติมของ สส.พรรคประชาชน อาทิ แก้ไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิออกเสียงและมีหน้าที่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างอิสระ ที่ให้เพิ่มบุคคลที่มีอาศัย ทำงาน หรือ ศึกษา อยู่ในเขตออกเสียงมาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันออกเสียงจากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตอออกเสียงมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วันนับจากวันออกเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเงื่อนไขที่ใช้เป็นเกณฑ์ผ่านประชามติที่ กมธ. ได้เพิ่มเกณฑ์ เสียงคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิด (งดออกเสียง) นั้น เนื่องมาจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดคำถามประชามติ ที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานกมธ.เสนอต่อครม. ที่กำหนดเงื่อนไขไม่แก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2

ซึ่งเป็นรายละเอียดที่สส.พรรคประชาชนแสดงความเห็นต่อเนื่องว่าไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าจะเป็นเงื่อนไขที่คนที่ไม่เห็นด้วยไม่ออกไปใช้สิทธิทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2560 อย่างไรก็ดีการแก้ไขในรายละเอียดดังกล่าวทำให้ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติที่มีเงื่อนไข มีช่องทางในการใช้สิทธิออกเสียงของตนเองนอกจาก ออกเสียงว่าไม่เห็นด้วยที่อาจนำไปสู่การเหมารวมว่าไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ.