รัฐสภาใหม่ ‘10 ปีสร้าง - 10 ปีซ่อม’ จาก ‘ค่าเสียหาย’ ส่อกลาย ‘ค่าโง่’ ?
รัฐสภาใหม่ “10 ปีสร้าง - 10 ปีซ่อม” ส่อแววจาก “ค่าเสียหาย” จะกลายเป็น “ค่าโง่” นอกจาก "ซิโน-ไทย" ในฐานะผู้รับจ้างจะไม่ต้องเสียค่าปรับแล้ว กลับยังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 1,596 ล้านบาท
KEY
POINTS
- “10 ปีสร้าง - 10 ปีซ่อม” ส่อแววจาก “ค่าเสียหาย” จะกลายเป็น “ค่าโง่” หรือไม่?
- มาถึงปัจจุบัน ปี 2567 นอกจาก "ซิโน-ไทย" ในฐานะผู้รับจ้างจะไม่ต้องเสียค่าปรับแล้ว กลับยังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐสภาเป็นจำนวน 1,596 ล้านบาท
-
เลขาธิการรัฐสภา ตรวจรับอาคารรัฐสภาไปแล้ว 100% เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 ที่ผ่านมารวบรัดตัดจบ ก่อนที่ "ภราดร ปริศนานันทกุล" สส.อ่างทอง จากภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกโยงไปยังโครงการ จะเข้ามานั่งเก้าอี้รองประธานสภาฯ
จับตาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พื้นที่ใช้สอย 424,000 ตารางเมตร ซึ่งตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถมใช้เป็นที่ประชุมสภาผ้แทนราษฎร และวุฒิสภาในปัจจุบัน
ทว่า จนถึงเวลานี้ ล่วงเลยมากว่า 10 ปี นับตั้งแต่เริ่มโครงการ จนถึงเปิดใช้งานในปัจจุบัน
ท่ามกลางครหา “10ปีสร้าง-10ปีซ่อม” ส่อแววจาก “ค่าเสียหาย” จะกลายเป็น“ค่าโง่” หรือไม่?
ต้องจับตาการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางวันนี้ (22 ส.ค.67) ที่จะมีการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 961/2563 ระหว่าง บริษัทซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร(ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
จากกรณีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรผิดสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ สัญญาเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย.2556 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า จนราคาวัสดุก่อสร้างต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจึงนำคดีมาฟ้อง
ย้อนที่มาที่ไป กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2563 บริษัท ซิโน-ไทยฯ ผู้รับจ้าง ได้ยื่นฟ้องสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 1,596 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเสร็จสิ้น
เวลานั้น มีการตั้งคำถามต่อประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง ถึงสาเหตุการก่อสร้างที่ล่าช้า ที่สุดเป็นความผิดของใครกันแน่
อาทิ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เวลานั้น ยังเป็นเพียง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2566 ตั้งคำถามถึงกรณีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เกิดความล่าช้าว่า
การก่อสร้างรัฐสภาล่าช้ามากกว่า 2 ปี ผู้รับเหมาต้องเสียเงินค่าปรับตามสัญญามากกว่า 9.8 พันล้านบาท ทำไมค่าปรับจึงเป็น “0” (หายสิ้นไป)?
พร้อมทั้งหยิบยกสัญญาจ้าง ที่ระบุว่าต้องดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.2556 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563 รวมทั้งสิ้น 2,764 วัน
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ได้
ทั้งนี้ ตามสัญญาจ้างก่อสร้างฯ “ข้อ 20 ค่าปรับและค่าเสียหาย” กำหนดให้ ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับเป็นรายวัน ในอัตราร้อยละ 0.10 (ศูนย์จุดหนึ่งศูนย์)ของราคางานจ้างก่อสร้างทั้งหมด ตามสัญญา หรือวันละ 12.28 ล้านบาท และต้องชำระค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ควบคุมงาน และที่ปรึกษาบริหารโครงการ วันละ 332,140 บาท รวมแล้วประมาณวันละ 12.61 ล้านบาทเศษ
ปรากฏว่า เวลานั้นกลับมีการใช้ช่องทางตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2564 กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยมีแนวทางให้กำหนดอัตราค่าปรับ เป็นอัตราร้อยละ 0 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบ
ทำให้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ อาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงการคลัง กำหนดอัตราค่าปรับ เป็นอัตราร้อยละ 0 ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ
ทำให้ต่อมา "สัญญาจ้าง" ถูกปรับเปลี่ยนไปตามมติดังกล่าว จากเดิมค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.10 นั้นได้แก้ไขเป็นสัญญาไม่มีค่าปรับเลย โดยใช้ถ้อยคำว่า “กำหนดค่าปรับเป็นร้อยละ 0”(ศูนย์บาท) เท่ากับว่า ผู้รับจ้างไม่ต้องเสียค่าปรับดังกล่าว ท่ามกลางเสียงครหาที่ตามมาเป็นระยะ
ที่ผ่านมา การก่อสร้างรัฐสภาที่ยาวนานนับทศวรรษ มีการขยายเวลาก่อสร้างมาถึง 4 ครั้ง จนกระทั่งวันที่ 29 ธ.ค.2563 คณะกรรมการตรวจการจ้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีมติ 6 ต่อ 2 ไม่อนุญาตให้มีการขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 5 ตามที่ผู้รับเหมาร้องขอ
มาถึงปัจจุบัน ปี 2567 นอกจากผู้รับจ้างจะไม่ต้องเสียค่าปรับแล้ว กลับยังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐสภาเป็นจำนวน 1,596 ล้านบาท
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า นอกจากรัฐสภาจะไม่ได้ “ค่าเสียหาย” จากความล่าช้าของเอกชนแล้ว ยังกลับกลายเป็นว่าต้องจ่าย “ค่าโง่” อีกหรือไม่?
แม้ก่อนหน้านี้ ในยุคของ “สรศักดิ์ เพียรเวช” เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คนก่อนหน้านี้ รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ได้เคยระบุถึงแนวทางการต่อสู้คดี โดยมั่นใจว่าในสัญญาได้ระบุไว้อย่างชัดเจน “ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ได้” ประกอบกับ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ชดเชยด้วยการขยายเวลาก่อสร้างให้แล้วถึง 4 ครั้ง จึงมั่นใจในข้อต่อสู้
แต่ก็ทั้งหมดทั้งมวล ก็ยังต้องไปลุ้นผลคดีกันอีกยาว
ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตา เรื่องฉาวว่าด้วยโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ที่มีหลากหลายปมร้อน ถูกร้องปมทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะ “31 สำนวน” ที่ “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” อดีตประธานกรรมาธิการ ปปช.สภาฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างที่ไม่ตรงปก เป็นระยะ โดยมีหลักฐานชัดเจน
ทว่า สำนวนคดีเหล่านี้ กลับเงียบหายไปตามกาลเวลา ทั้งที่ไม่ใช่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน อีกทั้งยังมีพยานหลักฐานแทบจะครบถ้วน และหลายส่วนที่ถูกร้อง ก็ยังมีการแก้ไขเป็นระยะ
เรื่องฉาวรัฐสภาใหม่ กำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่ากำลังถูกตัดตอนหรือไม่ เมื่อล่าสุด"อาพัทธ์ สุขะนันท์" เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คนปัจจุบัน เปิดหน้าออกมาว่า ตนในฐานะหัวหน้าหน่วยงานราชการ ได้ตรวจรับอาคารรัฐสภาไปแล้ว 100% เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา
เป็นการรวบรัดตัดจบ ก่อนที่"ภราดร ปริศนานันทกุล" สส.อ่างทอง จากภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกโยงไปยังโครงการ จะเข้ามานั่งเก้าอี้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 จึงไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการตรวจรับอาคารรัฐสภาไปโดยปริยาย
เข้าสู่ยุคสภาสีน้ำเงิน มหากาพย์รัฐสภาใหม่ ได้ปิดฉากลงอย่างราบคาบ แถม "ซิโน-ไทย" ยังได้ลุ้นคดีที่ฟ้องสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ดีไม่ดีวันนี้อาจได้ “ค่าโง่” เป็นของแถมอีกก้อนใหญ่
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์