กลเกม'กำนันตุ้ย'ทิ้งไพ่ ปลุก'เหลือง'ต้านส้ม

กลเกม'กำนันตุ้ย'ทิ้งไพ่  ปลุก'เหลือง'ต้านส้ม

“กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายก อบจ.ราชบุรี ก็หวั่นไหวต่อกระแสสีส้มไม่น้อย เพราะปรากฏการณ์ยุบพรรคก้าวไกล แม้จะมี 5 สส.ราชบุรี เป็นกองหนุน และมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นแบ็กอัพ ช่วยเคลียร์ อดีตนายก อบจ.ราชบุรี 3 สมัย ไม่ให้ลงสนามแข่ง

KEY

POINTS

  • ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี วันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย. 2567 คือสมรภูมิแรกหลังการยุบพรรคก้าวไกล เดิมพันสูงของค่ายสีส้ม เพราะผู้สมัครลงในนาม "พรรคประชาชน" ต่างจากสนามนายก อบจ.เลย อยุธยา ชัยนาท พะเยา พิษณุโลก ซึ่งผู้สมัครไม่ได้ลงในนามพรรค

  • “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายก อบจ.ราชบุรี หวั่นไหวต่อกระแสสีส้มไม่น้อย เพราะปรากฏการณ์ยุบพรรคก้าวไกล อาจจะทำให้คนราชบุรีแห่เข้าคูหาเลือก ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ 

  • หัวคะแนนบ้านใหญ่ เริ่มพูดถึงสีเสื้อมากขึ้น ระยะหลัง กำนันตุ้ย สวมเสื้อเหลืองออกหาเสียง โดยมี 5 สส.ราชบุรี เป็นกองหนุน และมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นแบ็กอัพ ช่วยเคลียร์ อดีตนายก อบจ.ราชบุรี 3 สมัย ไม่ให้ลงแข่ง

หลังศึกนายก อบจ.พิษณุโลก หนูนา-สิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล ศิษย์หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา พ่าย มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ แชมป์ 2 สมัยแบบไม่ได้ลุ้น จึงมีถ้อยวลีที่ว่า “ยังมีราชบุรีให้แพ้อีก” 

สมรภูมินายก อบจ.ราชบุรี มีเดิมพันสูงของค่ายสีส้ม เพราะชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ผู้สมัครนายก อบจ.ราชบุรี ลงสนามในพรรคประชาชน

ต่างจากสนามนายก อบจ.เลย พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท พะเยา และพิษณุโลก ซึ่งผู้สมัครนายก อบจ.เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล และไม่ได้ลงสมัครในนามพรรค

ดังนั้น แกนนำสีส้ม ทั้งผู้นำชุดเก่า และชุดใหม่ ต่างดาหน้าลงพื้นที่ จ.ราชบุรี ราวกับทำสงครามครั้งสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และเท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน 

กลเกม\'กำนันตุ้ย\'ทิ้งไพ่  ปลุก\'เหลือง\'ต้านส้ม

ฝั่ง “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายก อบจ.ราชบุรี ก็หวั่นไหวต่อกระแสสีส้มไม่น้อย เพราะปรากฏการณ์ยุบพรรคก้าวไกล อาจจะทำให้คนราชบุรีแห่เข้าคูหาเลือก ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์

ระยะหลัง กำนันตุ้ย สวมเสื้อเหลือง เช่นเดียวกับทีมงานกลุ่มพัฒนาราชบุรี ออกหาเสียงทุกวัน และหัวคะแนนบ้านใหญ่ เริ่มพูดถึงสีเสื้อมากขึ้น

ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้ง สส.ราชบุรี ทั้งปี 2562-2566 พลังอนุรักษนิยมยังมีกระแส จึงทำให้ สส.เขต ตกเป็นของพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ 

ในอดีต คนเมืองโอ่งจำนวนไม่น้อย เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. ขณะที่ฝั่งเสื้อแดงก็มีการจัดตั้งกลุ่มเช่นกัน แต่ไม่เยอะ ช่วงเลือกตั้งปี 2554 พรรคภูมิใจไทย ที่ชูแคมเปญพิทักษ์ปกป้องสถาบันฯ จึงได้ สส. 4 ที่นั่ง และพรรคเพื่อไทยพ่ายหมด

กลเกม\'กำนันตุ้ย\'ทิ้งไพ่  ปลุก\'เหลือง\'ต้านส้ม

อย่างไรก็ตาม กำนันตุ้ย ก็มี สส.ราชบุรี 5 คน เป็นกองหนุน จากพลังประชารัฐ 3 คนคือ บุญยิ่ง นิติกาญจนา  จตุพร กมลพันธ์ทิพย์ และชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ รวมไทยสร้างชาติ 2 คนคือ สส.แคมป์-กุลวลี นพอมรบดี และสส.มุ่ง-อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ 

เหนืออื่นใด กำนันตุ้ย ประมุขค่ายราชันมังกร มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ เป็นแบ็กอัพ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็ช่วยเคลียร์ วันชัย ธีระสัตยกุล อดีตนายก อบจ.ราชบุรี 3 สมัย ไม่ให้ลงสนามแข่งกับกำนันตุ้ย  

สิ่งที่ทีมบ้านใหญ่เมืองโอ่งใจชื้นขึ้นมาบ้าง ก็ตรงที่การเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเฉพาะนายก อบจ. คนสวมเสื้อสีส้มพ่ายทุกสนาม มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก การเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า อย่างเช่นเลือกตั้ง สส.ราชบุรี ปีที่แล้ว พรรคก้าวไกล เป็นแชมป์บัญชีรายชื่อ 233,608 คะแนน ซึ่งในนี้ เป็นคะแนนที่มาจากการเลือกล่วงหน้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

ประการที่สอง ธรรมชาติของการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ.หรือเทศบาล มักจะมีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าเลือกผู้แทนฯ

อย่างเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ปี 2563 มีผู้มีมาใช้สิทธิ์ 454,931 คน คิดเป็นร้อยละ 68.15 ขณะที่การเลือกตั้ง สส.ราชบุรี ปีที่แล้ว คนราชบุรีมาใช้สิทธิ์ 565,364 คน คิดเป็นร้อยละ 82.84

ลองมาไล่ดูผลเลือกตั้งนายก อบจ. 5 จังหวัด ที่มีเครือข่ายสีส้มลงสนามแข่งกับบ้านใหญ่ ก็จะพบว่าทุกจังหวัดมีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย

นายก อบจ.เลย : ชัยธวัช เนียมศิริ (ตัวแทนธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ.เลย) ชนะ จีระศักดิ์ น้อยก่ำ สมาชิกพรรคก้าวไกล มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 256,011 คน คิดเป็น 51%

นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา : สมทรง พันธ์เจริญวรกุล (ภูมิใจไทย)  ชนะวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ สมาชิกพรรคก้าวไกล มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง391,122 คน คิดเป็น 59.49%

นายก อบจ.ชัยนาท : จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา (ตระกูลนาคาศัย) ชนะ สุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ สมาชิกพรรคก้าวไกล มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 133,952 คน คิดเป็น 51.92%

นายก อบจ.พะเยา : ธวัช สุทธวงค์ (เพื่อไทย-ธรรมนัส) ชนะประพันธ์ สิงห์ชัย สมาชิกพรรคก้าวไกล มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 234,745 คน คิดเป็น 61.76%

นายก อบจ.พิษณุโลก : มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ชนะสิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล สมาชิกพรรคก้าวไกล มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 361,642 คน คิดเป็น 50%

สังเกตว่า จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. จะอยู่ประมาณ 50% หรือ 60% เทียบกับเลือก สส.จะมีผู้ใช้สิทธิมากถึง 70-80%

ทีมงานพรรคประชาชน ก็รู้ถึงปัญหาดังกล่าว จึงรณรงค์แคมเปญกลับราชบุรีไปเลือกพรรคประชาชน เพื่อแก้จุดอ่อนไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้าหรือเลือกข้ามเขต

ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี วันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย. 2567 คือสมรภูมิแรก ที่จะพิสูจน์พลังส้มเมืองโอ่ง หลังการยุบพรรคก้าวไกล

หากพรรคประชาชนไม่ชนะ ก็เท่ากับปลุกบ้านใหญ่ให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับค่ายสีส้มในเวทีเลือกตั้ง สส.ปี 2570