ยื่นยุบ‘เพื่อไทย’เตือน‘ทักษิณ’ สัญญาณ ‘อนุรักษนิยม’ หลายระดับไม่ไว้วางใจ
ยื่นยุบ‘เพื่อไทย’เตือน‘ทักษิณ’ ซุ่มส่งหลักฐานต่างกรรมต่างวาระครอบงำพรรค สัญญาณ‘อนุรักษนิยม’ หลายระดับไม่ไว้วางใจ
KEY
POINTS
- จู่ๆมี "ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม" ซึ่งไม่ใช่ "นักร้องหิวแสง" ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย โดยอ้างอิงคำพิพากษา "ศาลรัฐธรรมนูญ" จากปม "เศรษฐา ทวีสิน" แต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน"
- พุ่งเป้าการให้ "บุคคลอื่น" ครอบงำพรรคการเมือง ชี้เป้าไปที่ "ทักษิณ ชินวัตร" พร้อมผนวกกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มักมีผลต่อการตัดสินใจของ "พรรคเพื่อไทย"
- แม้ "ทักษิณ" จะมั่นใจใน "ตั๋วพิเศษ-สัญญาณพิเศษ" แต่ต้องไม่ลืมว่า "อนุรักษ์นิยม" มีหลายกลุ่ม ชนชั้นนำมีหลายคน บางคนมีแค้นเก่า บางคนไม่ไว้วางใจทุกย่างก้าวของ "ทักษิณ" เอง
หลังไฟต์บังคับ เปลี่ยนตัวนายกฯ จาก เศรษฐา ทวีสิน มาเป็น แพทองธาร ชินวัตร บทบาทของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ผู้มากบารมีของพรรคเพื่อไทย โดดเด่นแจ่มชัดมากขึ้น
ทว่า สถานะของ “ทักษิณ”แม้จะได้ใบบริสุทธิ์ พ้นโทษจำคุก แต่ต้องไม่ลืมว่า ยังไม่มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การเดินเกม การสั่งการ ไม่ว่าจะทางลับทางแจ้ง ย่อมไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอาจเข้าข่าย“คนนอก”ครอบงำพรรคเพื่อไทย
เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2567 ในการประชุม สส.เพื่อไทย ที่ตึกชินวัตร 3 ก่อนวันที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีถอดถอน “เศรษฐา” เพียง 1 วัน ทักษิณปรากฎตัวในที่ประชุมพรรค ทำให้มีคำถามถึงสถานะในการร่วมประชุมดังกล่าว
แม้ในทางการเมือง จะรับรู้กับว่า ทักษิณคือเจ้าของพรรคเพื่อไทย โดยมี “แพทองธาร” ลูกสาวนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจเข้าข่ายครอบงำหรือไม่
ยังไม่นับ การปรากฏตัวเกือบทุกวงลับ ในตึกชินวัตร 3 ภายหลังแพทองธารนั่งเก้าอี้นายกฯอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมี บรรดาบิ๊กข้าราชการ-บิ๊กเอกชน ต่างเข้าร่วมวงประชุมกับนายกฯแพทองธาร ว่าด้วยเรื่องทิศทางนโยบายรัฐบาล และงบประมาณฯ
ว่ากันว่า ในการประชุมบางวง ไม่มีแพทองธาร แต่มี “นายใหญ่” เข้ามาสั่งการ
จังหวะเคลื่อนของ“ทักษิณ”เหมือนจะมั่นใจในตัว “ตั๋วพิเศษ-สัญญาณพิเศษ” ซึ่งถูกส่งมากับ “คนพิเศษ” ดังนั้นท่าที ทุกจังหวะก้าวจึงไม่กลัวจะโดนเล่นงาน ตามช่องทางของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมี “ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม” ไม่ใช่ “นักร้องหิวแสง” ซุ่มปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเรื่อง “ยุบพรรคเพื่อไทย” ให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย โดยพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมครอบงำพรรคการเมือง
โดยซุ่มเก็บหลักฐานย้อนหลังกลับไป หลายกรรมหลายวาระ ที่มีข้อมูลสนับสนุนทั้งจากคนใน คนนอก เพื่อจัดการในขั้นตอนต่อไป
ในเบื้องต้น “มือมืด”รายนี้เปิดเกม ด้วยการเสนอให้ กกต.ใช้แนวทางเดียวกับการยุบ“พรรคก้าวไกล” โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า “พรรคเพื่อไทย” ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิก ชี้นำกิจกรรมของพรรค อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้งอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีถอนถอน “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งในคำวินิจฉัยระบุไว้ว่า “เศรษฐา” ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 160 (5) มีการเข้าพบบุคคลอื่น ซึ่ง “พิชิต” เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้ “เศรษฐา” ต้องการเอื้อประโยชน์แก่คนดังกล่าว
เมื่อ “เศรษฐา” พบบุคคลดังกล่าวแล้ว ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “พิชิต” เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือให้ “พิชิต”ถอนชื่อจากการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อ 1 ก.ย.2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า “เศรษฐา” ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง
โดยยินยอมให้ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เอาประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ประเทศชาติ ขัดกับระหว่างส่วนตน กับส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม เป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ
พร้อมทั้งสมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ขัดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 7 8 11 17 และข้อ 19 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 219 วรรคสอง บัญญัติให้ใช้บังคับแก่ ครม.ด้วย
นอกจากนี้ ผู้ร้องยังยกกรณี ที่เกิดขึ้นกับค่ายประชาธิปัตย์ในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ที่ ชวน หลีกภัย พูดถึงการปรับ ครม.ในช่วงเมษายนที่ผ่านมาว่า ได้พูดคุยกับ สส.ที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า คนที่จะปรับครม.ไม่ใช่นายกฯ คนนี้(เศรษฐา) แต่เป็นคนนอก... อันแสดงให้เห็นว่ามีบุคคลอื่นที่มิใช่คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยครอบงำ หรือมีอำนาจเหนือนายกฯเศรษฐา และเหนือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
ถอดรหัสจากคำร้องของมือมืด ชง กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญฟันซ้ำ “บุคคลอื่น”ในนิยามดังกล่าว ย่อมหมายถึง “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งไม่มีสถานะทางกฎหมายผูกโยงกับพรรคเพื่อไทย
ดังนั้นการกระทำของ “ทักษิณ” ในสถานะบุคคลอื่น จึงถูกตั้งคำถามว่า เข้าข่ายครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ แม้ตัวของทักษิณจะตอบโต้ทันควันว่า “อย่าไปสนใจ” นั่นเพราะเจ้าตัวมั่นใจในคอนเนกชั่นพิเศษ
ขณะเดียวกันต้องจับตาปัจจัยแวดล้อม จากกรณีที่ “ทักษิณ” สั่งการทางลับ-ทางแจ้ง แนะนำนโยบายรัฐบาล ให้บรรดารัฐมนตรีดำเนินการ จะถูกนำมาประกอบการยื่นคำร้อง หรือนำมาประกอบหลักฐานเพิ่มเติมในคดีต่างๆ หรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ “ทักษิณ” เสนอไอเดียเวนคืนโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในการบริหารของเอกชนในปัจจุบัน กลับมาให้รัฐบาลบริหาร และจ้างเอกชนเดินรถ เพื่อผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท โดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม ขานรับทันที
รวมถึงนโยบายในด้านอื่นๆ ที่ทักษิณเสนอไอเดียทั้งทางแจ้งและทางลับ หลังจากนี้อาจจะได้เห็นการบริหารงานรัฐ ด้วยแนวทาง “ทักษิณ” คิด “เพื่อไทย” ได้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะมีการแต่งตั้งอดีตนายกฯ ให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลอย่างเป็นทางการหรือไม่
ปรากฎการณ์ที่ทักษิณ กำลังใช้พรรคการเมืองของตัวเอง กลับมายึดอำนาจทางการเมือง ขณะเดียวกัน ในทางลึกก็ยังมีคอนเนกชั่นกับเจ้าของ“ค่ายส้ม”ที่อุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยน จึงเป็นจุดที่อนุรักษนิยมไม่เคยไว้วางใจ
อย่างไรก็ตาม ในสมรภูมิการเมือง ก็ต้องไม่ลืมว่า “แนวรบ-ศัตรูเก่า” ของชายชื่อ “ทักษิณ” จัดอยู่ในขั้วอนุรักษนิยม และภายใน “ขั้วอนุรักษนิยม” เอง ยังแบ่งเป็นหลายชนชั้น
หาก“ทักษิณ” มั่นใจว่า สามารถเชื่อมกับ “หัวขบวนอนุรักษนิยม”ได้อย่างแนบแน่น โดยไม่ต้องสนใจ “หางขบวน” อาจจะต้อง “คิดใหม่-ทำใหม่” เพราะเครือข่ายอนุรักษนิยมที่มีหลายสาย หลายขบวน ก็ยากจะหยั่งถึง