งบฯกลาง เสี่ยงซ้ำรอย 'ภัยพิบัติ' นักการเมือง?
จับตางบฯ กลาง จัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง 9.1 พันล้านบาท พบซอยโครงการไม่เกิน 10 ล้านบาท ใช้อำนาจนายกฯ อนุมัติ เลี่ยงเสนอ ครม.ขีดเส้นเร่งทำสัญญาให้เสร็จภายใน ก.ย.นี้
KEY
POINTS
- งบฯกลาง 2567 พบการบริหารจัดการประเภท โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ปรับปรุงแหล่งน้ำสาธารณะ ขุดลอกคลอง ขุดลอกลำห้วย เจาะบ่อบาดาล ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ก่อสร้างฝายน้ำล้น ก่อสร้างถังเก็บน้ำ อาจขัดกับหลักการนำไปใช้ กรณีจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน และควรตั้งในงบฯปกติหรือไม่
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำรายละเอียดการจัดสรรงบฯลงแต่ละพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ให้เร่งดำเนินการทำสัญญาภายในเดือน ก.ย.2567
- พบว่ามีการย่อยโครงการให้เล็กลง แต่ละจังหวัดมีการบริหารจัดการให้มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ลักษณะการซอยงบประมาณ เพื่อเลี่ยงการนำเข้า ครม.
- สุ่มเสี่ยงถูกครหา หนีการประกวดราคา เพราะเป็นลักษณะการตกลงราคา ไม่ต้องประมูล บางโครงการกำลังถูกจับจ้องว่า ส่อล็อกสเปกหรือไม่
งบประมาณรายจ่าย “งบฯกลาง” มีระเบียบที่ถูกปรับปรุงล่าสุด พ.ศ.2562 ว่าด้วยการบริหารเพื่อ “กรณีฉุกเฉิน” หรือ“จำเป็น”
มีความเข้มงวด ที่เกิดจากถอดบทเรียน การใช้จ่าย การรั่วไหล การส่อทุจริตในอดีต จึงมีข้อกำหนด ต้องโปร่งใส คุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการฯ อย่างแท้จริง รวมทั้งสอดคล้องกับวินัยการเงินการคลังของรัฐ
การขอรับจัดสรรงบฯกลาง จะทำได้ก็ต่อเมื่อ
เป็นรายจ่าย เพื่อป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
เป็นรายจ่าย ที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง
เป็นรายจ่าย ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ ต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
เป็นรายจ่าย ที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการ และต้องใช้จ่าย หรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
ที่สำคัญ การจัดสรรงบฯกลาง เป็นอำนาจของ“นายกรัฐมนตรี” หากวงเงิน ไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่หากเกิน 10 ล้านแต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท นายกฯ ก็ต้องนำเข้า ครม.เพื่อขออนุมัติ
ในสถานการณ์น้ำท่วมอ่วมเกินครึ่งประเทศในเวลานี้ งบฯกลางจึงต้องเข้า และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ความจำเป็น ฉุกเฉิน เร่งด่วน ชัดเจน
ตัดกลับมาที่งบฯกลาง 2567 งบแก้ “น้ำท่วม-น้ำแล้ง” รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงฤดูฝนปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ว ปี 2567/2568
เมื่อไปเปิดดูรายการที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้จัดทำรายละเอียดจัดสรรงบฯลงแต่ละพื้นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ส่วนราชการและท้องถิ่นไปดำเนินการ โดยเร่งทำสัญญาภายในเดือน ก.ย.2567 นี้ ก็มีคำถามมากมาย
หลายส่วนที่มีข้อสังเกต จะเกิดความเสี่ยง ซ้ำรอยกับโครงการในอดีตหรือไม่
ย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาล คสช.ที่ “3 ป.” ถูกฝ่ายค้านเปิดศึกซักฟอกในช่วงต้นปี 2564
โดยเฉพาะ บิ๊กป้อม ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นั่งรองนายกฯ ขณะนั้น ถูกอ้างชื่อ รับประโยชน์กรณีการทุจริตขุดลอกคูคลองขององค์การทหารผ่านศึก (อผศ.) ในโครงการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำ ของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.ที่มี บิ๊กป๊อก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น มท.1
ฝ่ายค้านขณะนั้น แฉขบวนการค้างบฯ ระบุว่า มีคนใกล้ชิดฝ่ายการเมืองเป็นนายหน้า จัดหาผู้รับเหมาเข้ารับงาน ลักษณะจ้างช่วงต่อจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โดยนำโครงการขุดลอกคูคลองทั่วประเทศของกรม ปภ. ซึ่ง อผศ.ได้รับสิทธิพิเศษ ได้งาน ได้งบฯ ไปดำเนินการ โดยไม่ต้องประกวดราคา
จึงเปิดช่องให้มีการนำโครงการไปขายให้ผู้รับเหมา และรับหัวคิว 30% หรือรวมกว่า 7,000 ล้านบาท จากโครงการทั้งหมดนับหมื่นล้านบาท จนเกิดความเสียหาย เพราะมีการทิ้งงาน ทำงานไม่ตรงสเปก
กระทั่งต่อมา จึงยกเลิกสิทธิพิเศษของ อผศ.
แต่ยังพบปัญหา การกินหัวคิวแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม กว่า 2 หมื่นโครงการ วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากงบฯ กลาง ในปีงบประมาณ 2563 มีการหั่นโครงการไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อให้ผู้รับเหมาที่เป็นพรรคพวกของเข้ามารับงาน โดยไม่ผ่านการประมูล และยังพบหนังสือค้ำประกันปลอม บริษัทไม่มีอยู่จริง และพบคนที่อยู่เบื้องหลัง
ฝ่ายค้านในขณะนั้น โชว์หลักฐานกลางสภาฯ เป็นหลักฐานการโอนเงิน ที่ระบุว่าเป็นค่าหัวคิวเพื่อซื้องาน แล้วคนในพื้นที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดนำไปให้ผู้มีอำนาจ โดยมีการอ้างชื่อ“บิ๊กผู้ใหญ่” ในกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ได้งาน
ถึงแม้ รัฐมนตรีพี่น้อง 2 ป. จะผ่านศึกซักฟอกครั้งนั้นไปได้ แต่การตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วยกลไกในสภาฯ แต่ก็ทำให้เห็นถึงขบวนการหากินกับงบฯประมาณ และข้อมูลเรื่องนี้ได้ถูกยื่นไปยัง ป.ป.ช.
จะว่าไปแล้วก่อนหน้านั้น งบฯกลางก็ถูกนักการเมืองเล่นแร่แปรธาตุเอาไปใช้ไม่ปก จนอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยุคนั้น “เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา” ต้องออกระเบียบการใช้งบฯกลาง พ.ศ.2562 เพื่อวางกรอบการใช้ ที่เข้มงวดมาก แต่ก็ยังเอาไม่อยู่
สำหรับงบฯกลาง 2567 ก็ยังพบการบริหารจัดการแบบ “เบี้ยหัวแตก” โดยเฉพาะการซอยงบประมาณ และอาจย้อนแย้งกับหลักการ การนำไปใช้ ที่ไม่ใช่กรณีจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน
มีข้อสังเกตว่า โครงการประเภทอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ปรับปรุงแหล่งน้ำสาธารณะ ขุดลอกคลอง ขุดลอกลำห้วย เจาะบ่อบาดาล ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ก่อสร้างฝายน้ำล้น ก่อสร้างถังเก็บน้ำ ลักษณะนี้ ควรไปตั้งในงบประมาณปกติหรือไม่
เอกสารหลักฐาน จากสำนักงบประมาณ มีตัวอย่างในจังหวัดต่างๆ พบว่าหลายโครงการ ที่จัดสรรให้ อบต. เทศบาล มีการย่อยโครงการ ซอยงบฯ ให้ไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อไม่ต้องเข้า ครม. ผ่านแค่อำนาจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบหรือได้รับมอบหมายให้ดูงบฯ สองคนจบเบ็ดเสร็จ
จึงปรากฏโครงการ ที่มีวงเงินโครงการตั้งแต่น้อยสุด 2 แสนบาท ไล่ระดับ ขยับทีละแสน ไปถึง 9.6 ล้านบาท
หมู่บ้านเดียว ซอยงบฯ เป็น 5 โครงการ ๆ ละ 5 แสนบาท ทำโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลพร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร เป็นตัวอย่างที่สุ่มเสี่ยง ลักษณะนี้ อาจถูกครหาหนีการประกวดราคา เพราะเป็นลักษณะการตกลงราคา ไม่ต้องประมูล
บางโครงการ กำลังถูกจับจ้องว่า ส่อล็อกสเปกหรือไม่ อาทิ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการก่อสร้างถังเก็บน้ำขนาด 1,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1 ล้านลิตร โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร(ระบบท่อบัญชีนวัตกรรมไทย รหัส 01010067) โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำสาธารณะพร้อมปูพื้นด้วยผ้าเคลือบน้ำยางคอมพาวด์ เพราะบริษัทที่รับงานได้ต้องมีของ ต้องเข้าเงื่อนไข รายละเอียดเป๊ะๆ
ฝ่ายคุ้ยจึงจับจ้อง เก็บหลักฐานส่งการบ้านเพิ่มให้ ป.ป.ช. เพราะเริ่มเห็นสัญญาณไม่ปกติ เหมือนมีการแจกโควตางบฯ กลาง กระจายในพื้นที่สีแดง
ว่ากันว่า วงเงินกระจายในหมู่นักเลือกตั้งรายละ 100 ล้านทั่วประเทศ โดยเจ้าภาพที่จัดแจง เสนอ 2 ออปชัน จะเอาทอนสัก 20% หรือเอางบฯไปจัดการในพื้นที่ แบ่งซอยเอาเอง ก็เลือกเอาตามสะดวก
ช่วงชุลมุนฝุ่นตลบอย่างนี้ เหมือนจังหวะปล่อยผีงบฯ แต่ที่สุดอาจกลายเป็นภัยพิบัติทางการเมือง ตายน้ำตื้นได้ง่ายๆ ชนิดไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากทางการเมืองได้อีก
***************
คุ้ยงบฯ กลางจัดการ 'น้ำท่วม-น้ำแล้ง'
พบ'ซอยโครงการ' เลี่ยงเสนอครม.
จับตางบฯ กลางจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง 9.1 พันล้านบาท พบซอยโครงการไม่เกิน 10 ล้านบาท ใช้อำนาจนายกฯ อนุมัติ เลี่ยงเสนอ ครม.ขีดเส้นเร่งทำสัญญาให้เสร็จภายใน ก.ย.นี้
สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมที่หลายสิบจังหวัดกำลังเผชิญวิกฤติในขณะนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยรักษาการรัฐบาล ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมประเมินสถานการณ์ และแนวทางการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
ก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 9,187 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 3,032 รายการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ
โดยงบประมาณดังกล่าว ได้จัดสรรให้หน่วยงาน 3 กระทรวง ประกอบด้วย
1.กระทรวงมหาดไทย 2,143 โครงการ วงเงิน 5,616 ล้านบาท โดยจัดสรรให้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดและการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)
2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 669 โครงการ วงเงิน 2,566 ล้านบาท โดยจัดสรรให้กับกรมชลประทาน
3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 220 โครงการ วงเงิน 1,005 ล้านบาท จัดสรรให้กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ
ทั้งนี้ สทนช.รายงานว่า เมื่อดำเนินโครงการเสร็จ จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 108,180 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 61.88 ล้านบาท และประชาชนได้รับประโยชน์ 247,115 ครัวเรือน
นอกจากนี้ ครม.ยังกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์ และสอดคล้องกับข้อกฎหมาย และให้เร่งรัดก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.2567
รวมทั้งกำชับ ถึงการดำเนินการด้วยว่า มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้การจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานรับงบประมาณ พิจารณาความเหมาะสมของวงเงินที่จะใช้จ่าย เสนอนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมีข้อกำหนดการอนุมัติ ดังนี้
1.กรณีวงเงินที่เห็นควรอนุมัติครั้งละไม่เกิน 10 ล้านบาท สำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ
2.กรณีวงเงินเกินครั้งละ 30 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท สำนักนายกรัฐมนตรีจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. และสำนักงบประมาณจะแจ้งให้หน่วยงานรับงบประมาณ นำเรื่องขออนุมัติต่อ ครม.
3.กรณีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท สำนักนายกรัฐมนตรีจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม.และสำนักงบประมาณจะแจ้งให้หน่วยงานรับงบประมาณ นำเรื่องขออนุมัติต่อ ครม.
ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณลงแต่ละพื้นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เร่งดำเนินการทำสัญญาภายในเดือน ก.ย.2567 โดยมีหลายโครงการที่มีการบริหารจัดการโครงการ ให้มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อไม่ต้องเสนอ ครม.
มีตัวอย่างเช่น จังหวัดมหาสารคามได้รับอนุมัติงบประมาณ จำนวน 140 โครงการ โดยเป็นการจัดสรรให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีวงเงินโครงการตั้งแต่ 2 แสนบาท - 9.6 ล้านบาท
โดยพบว่ามีการย่อยโครงการให้เล็กลง เช่น โครงการขุดเจาะบ่อบาดาลพร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร หมู่บ้านหนองทิศสอน ต.นาเชือก อ.นาเชือก แบ่งเป็น 5 โครงการ วงเงินโครงการละ 5 แสนบาท
จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการอนุมัติโครงการรวม 59 โครงการ มูลค่าโครงการตั้งแต่ 3 แสนบาท - 30.2 ล้านบาท โดยจัดสรรให้กับ อบต. เทศบาล และกรมชลประทาน
พบว่าโครงการส่วนใหญ่เป็นของกรมชลประทาน จำนวน 38 โครงการ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการซ่อมคลองส่งน้ำ การบำรุงแหล่งน้ำ และการซ่อมแซมระบบส่งระบายน้ำ
โดยบางส่วนมีการแบ่งโครงการของกรมชลประทาน โครงการซ่อมแซมคลองส่งน้ำและดาดคอนกรีต เขื่อนมูลบน ต.กระโทก อ.โชคชัย เป็น 17 โครงการ วงเงินตั้งแต่ 6.3 แสน -7.5 แสนบาท