‘ลีกมวยไทย’ วิชั่นปั้นซอฟต์พาวเวอร์จากทักษิณ ชกเป้าจริงหรือแค่ชกลม?
“มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ ที่ดำเนินการกันมา ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องเพิ่มมูลค่าอีกเล็กน้อย” นี่คือคำแนะนำจากทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
KEY
POINTS
Key points
- ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงหนึ่งที่ขึ้นกล่าวในงาน “Dinner Talk : Vision for Thailand 2024” ถึงการพัฒนามวยไทยให้ไปอีกขั้นด้วยลีกมวยไทย
- “หัวใจ” ของไอเดียคือการยกระดับมวยไทยให้สูงขึ้นอีก พูดง่ายๆคือเริ่มจากการยกระดับการแข่งขัน แต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ ให้ดูน่าสนใจ น่าติดตาม และสามารถทำรายได้มากขึ้น
- จุดเปลี่ยนมวยไทยเกิดขึ้นจาก 2 รายการระดับโลกอย่าง ONE Championship และ RWS (ราชดำเนินเวิลด์ซีรีส์) ที่พลิกโฉมให้มวยไทยดูทันสมัยและเซ็กซี่ขึ้นมากสำหรับโลกยุคใหม่
- ถ้ารัฐบาลอยากจะเป็นเจ้าภาพงานนี้เอง จะคิดอ่านสู้กับเขาไหวไหม? ลีกมวยไทยจะอยู่ตรงไหนของระบบนิเวศ (Ecosystem) เป็นเรื่องที่ต้องเรียกทั้งองคาพยพมาหารือร่วมกัน
ในช่วงหนึ่งที่ขึ้นกล่าวในงาน “Dinner Talk : Vision for Thailand 2024” ถึงเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft power) ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศไทยในยุครัฐบาลเพื่อไทย โดยการเพิ่มมูลค่าอีกเล็กน้อยนั้นหมายถึงการปรับรูปแบบการแข่งขันใหม่ จัดให้เป็นลีกเหมือนการแข่งขันฟุตบอล คำถามที่น่าสนใจคือ “วิชั่น” นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงไหม?
วิชั่นจากดวงดาว
เวลาจะผ่านโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หากคนอย่างทักษิณ ชินวัตร พูดโลกย่อมต้องหยุดและเงี่ยหูฟัง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม
เช่นกันในเรื่องของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่เป็นวาระใหญ่ของประเทศในช่วงปีที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันในหลากหลายด้าน ซึ่งรวมถึง มวยไทย กีฬาประจำชาติที่เป็นหนึ่งในหัวเรือสำคัญภายใต้โครงการ “มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การทำงานที่ผ่านมาของภาครัฐในส่วนนี้นั้นอดีตนายกรัฐมนตรีมองว่า “มาถูกทาง” แล้ว เพียงแต่ต้องการแต่งเนื้อแต่งตัวให้ใหม่
“รัฐบาลนี้เอาแน่เรื่อง ซอฟต์พาวเวอร์ เอาจริงเอาจังแน่ เราจะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในทุกรูปแบบ มวยมันไปแล้ว ค่ายมวยไทย นี่มีเต็มไปหมดแล้วทั่วโลก แต่มาตรฐานอาจะไม่มี”
“เราก็จะสร้าง ระบบมวยไทย ขึ้นมาใหม่ ก็จะทำให้คนเกาะเกี่ยวมีรายได้จาก ระบบ นี้ วันนั้นผมแนะนำทีมซอฟต์พาวเวอร์ของมวยว่า เราเอามวยไทยทำเป็นลีกเหมือนฟีฟ่าได้ไหม เหมือนฟีฟ่าทำฟุตบอล เมื่อกี้ผมเจอคุณวรวีร์ มะกูห์ดี (อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ) ผมบอกว่าจาก ฟีฟ่ามาทำมวยดีกว่า คือถ้าเราตั้งกติกาให้คนมาแข่งอย่างพรีเมียร์ลีกค่าตัวนักมวยเท่าไหร่ หรืออะไรก็ว่าไป”
“อันนี้ลองดู เพื่อจะให้มวยไทยเรามีมาตรฐานและไปแข่งขันได้ทั่วโลก ตั้งรางวัลได้ แล้วเราก็จะเทรนครูมวยของเรา เทรนกรรมการห้ามมวยของเราให้ได้มาตรฐานเหมือนฟีฟ่าทำฟุตบอล ตรงนี้มวยเรามันน่าจะจับต้องได้เร็ว เพราะมันไปโดยธรรมชาติของมันแล้ว”
ลีกมวยไทย
ถอดรหัสจากคำพูดของทักษิณ ชินวัตรแล้ว ต้องบอกว่าแม้จะมีความน่าสนใจในมุมมองแต่อาจจะต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อย
อย่างแรกฟีฟ่าเป็นองค์กรที่ดูแลการแข่งขันฟุตบอลทั่วโลก นอกจากจะจัดการแข่งขันเองในระดับทีมชาติ เช่น ฟุตบอลโลก หรือรายการระดับสโมสร เช่น ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ แล้วหน้าที่หลักคือการส่งเสริมกิจการฟุตบอลในทุกประเทศทั่วโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ฟีฟ่าไม่เคยจัดการแข่งขันลีกแต่อย่างใด ในขณะที่พรีเมียร์ลีกเป็นองค์กรเอกชนของอังกฤษ จัดการแข่งขันลีกภายในประเทศเพียงอย่างเดียว
แต่ไม่เป็นไรข้างต้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนิด ๆ หน่อย ๆ สำหรับอดีตเจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี เพราะ “หัวใจ” ของไอเดียคือการยกระดับมวยไทยให้สูงขึ้นอีก
พูดง่ายๆคือเริ่มจากการยกระดับการแข่งขัน แต่งเนื้อแต่งตัวใหม่ ให้ดูน่าสนใจ น่าติดตาม และสามารถทำรายได้มากขึ้น เปรียบเหมือนการคั้นน้ำส้มขายหนึ่งแก้ว ระหว่างน้ำส้มที่ขายบนรถเข็นในตลาดกับน้ำส้มที่ใส่แก้วอย่างดีขายในร้านอาหารดัง มีคนที่ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับคำว่ารสนิยมไม่น้อยในโลกใบนี้
โดยพื้นฐานไอเดียถือว่าหวังดี สิ่งที่เป็น “โจทย์” ให้ไปคิดกันต่อคือจะจัดแข่งในรูปแบบไหน ระยะเวลาในการแข่งขัน จะโปรโมตอย่างไร ไปจนถึงจะหานักมวยที่ไหนมาขึ้นชก ใครจะกำหนดค่าตัวให้นักมวย จะหารายได้จากไหนเข้ามาสนับสนุน
มีสิ่งที่ต้องคิดอ่านอีกเต็มไปหมด ถามว่าลีกมวยไทยน่าสนใจไหม? น่าสนใจ ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ แต่มีการบ้านที่ต้องทำกันอีกเยอะมาก และที่สำคัญภาครัฐอยากจะอยู่ในบทบาทไหน? ระหว่างเจ้าภาพ หรือผู้สนับสนุน?
ลีกมวยไทยไม่ใช่ไม่มี
เพราะในความเป็นจริงมวยไทยในยุคหลังโควิด-19 ไม่ได้เป็นของคร่ำครึอีกแล้ว แต่เป็นกีฬาที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งในแง่ของการเป็นกีฬาที่ออกกำลังกายได้สุขภาพดี และการเป็นกีฬายอดนิยมของคนรุ่นใหม่
จุดเปลี่ยนมวยไทยเกิดขึ้นจาก 2 รายการระดับโลกอย่าง ONE Championship และ RWS (ราชดำเนินเวิลด์ซีรีส์) ที่พลิกโฉมให้มวยไทยดูทันสมัยและเซ็กซี่ขึ้นมากสำหรับโลกยุคใหม่
เวทีมวยราชดำเนิน ซึ่งเป็นเวทีมวยไทยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก กลายเป็น “เมกกะ” ที่เหล่าแฟนมวยไทยทั่วโลกต่างต้องการมาเยือนให้ได้ในสักครั้ง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่คน Gen Y หรือ Gen X แต่ความนิยมมาถึง Gen Z และ Gen Alpha รวมถึงแฟนมวยสุภาพสตรีสาวน้อยสาวใหญ่ที่หลงไหลในการออกลีลาอาวุธ หมัดเท้าเข่าศอก
นักมวยไทยกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก นอกจาก บัวขาว บัญชาเมฆ ยังมี ตะวันฉาย พีเค. แสนชัย, รถถัง จิตรเมืองนนท์ และอีกมากมาย ซึ่งรวมถึงนักมวยไทยชาวต่างชาติที่มาสร้างสีสันและล่าความฝันในเมืองไทย
โดยที่รูปแบบการแข่งขันก็ถือว่าออกแบบมาดีและตอบโจทย์อยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของกฎกติกา ความบันเทิง ความคุ้มค่า และการเล่าเรื่องราว (Storyteller) ที่มีมากกว่าแค่สถิติการขึ้นชก แต่มีประวัติความเป็นมาของนักมวย ชีวิต โดยใช้วิธีการคิดแบบคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนนักมวยไทยให้จับต้องได้
ชกเป้าจริง หรือชกลม?
ความสำเร็จเหล่านี้มาจากวิชั่นของภาคเอกชนที่ “คิดดี” “ทำถึง” “พึ่งได้” อย่าง ชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้สร้าง ONE Championship และ เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ทายาทค่ายมวยนครหลวงโปรโมชั่นที่พลิกฟื้น เวทีราชดำเนิน กับ RWS
ถ้ารัฐบาลอยากจะเป็นเจ้าภาพงานนี้เอง จะคิดอ่านสู้กับเขาไหวไหม? ลีกมวยไทยจะอยู่ตรงไหนของระบบนิเวศ (Ecosystem) เป็นเรื่องที่ต้องเรียกทั้งองคาพยพมาหารือร่วมกัน
หรือจะรับบทเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริมให้คนที่เขาทำอยู่แล้วและทำได้ดี ได้ต่อยอดจากเดิม หรือเพิ่มเติมจะสร้างรายการใหม่ขึ้นมาจริงๆเพื่อรองรับนักมวยไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
จะทางไหน รัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตกลงกันให้ดีก่อนว่าจะรับลูกไอเดียที่โยนมาจากทักษิณหรือไม่
รับแล้วจะไปกันแบบไหน หรือจะปล่อยผ่านไปเพราะมีสิ่งที่ทำอยู่แล้วตลอดช่วงที่ผ่านมา รวมถึงสิ่งที่จะทำในอนาคตอย่างการจัดโรดโชว์มวยไทยใน 6 ประเทศที่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, อิตาลี และสิงคโปร์
ไหนจะการออกวีซ่าพิเศษ 2 รูปแบบคือ Non-Immigrant Visa รหัส ED 90 Day ที่จะอยู่ในราชอาณาจักรได้ 90 วัน และ Destination Thailand Visa (DTV) หรือที่เรียกกันว่า Softwpoer Visa สำหรับผู้สนใจเรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่จะมีอายุ 5 ปีและพำนักในประเทศได้สูงสุด 180 วันต่อหนึ่งครั้ง ทำดีแล้วทำต่อไปก่อน จะได้มากหรือน้อยอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญในตอนนี้
เพราะการหว่านพืชจะหวังผลต้องใช้เวลา อย่างน้อยภาครัฐหันมาให้ความสำคัญก็เป็นเรื่องที่ดี ช่วยกันสองแรงกับภาคเอกชนที่ทำได้เยี่ยมอยู่แล้ว
และหวังว่าสักวันหนึ่ง เมื่อถึงเวลา ดอกไม้จะบานเอง