ปิดตำนาน 'ปชป.- เพื่อไทย' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ 'ทักษิณ' มีชัย

ปิดตำนาน 'ปชป.- เพื่อไทย' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ 'ทักษิณ' มีชัย

ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา "ประชาธิปัตย์" ไม่เคยจับมือกับ "ไทยรักไทย - พลังประชาชน - เพื่อไทย" พรรคการเมืองดีเอ็นเอ "ทักษิณ" เส้นขนานทางการเมืองกลับมาบรรจบกันในปี 2567 เมื่อ "ประชาธิปัตย์" ยุค เฉลิมชัย" พร้อมร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ปิดตำนานศัตรูคู่แค้นทางการเมือง

KEY

POINTS

  • เปิดประวัติศาสตร์การต่อสู้ "พรรคดีเอ็นเอทักษิณ" กับ "ประชาธิปัตย์" จนถึงปี 2567 "ประชาธิปัตย์"  ยุค "เฉลิมชัย" เตรียมร่วมรัฐบาล "เพื่อไทย" 
  • "ทักษิณ ชินวัตร" เคยเกือบลงเลือกตั้งครั้งแรกในนาม "ประชาธิปัตย์" จากคำชักชวนของ "ชวน หลีกภัย" ในช่วงก่อนรับดีลนั่ง รมว.ต่างประเทศ จาก "พรรคพลังธรรม"
  • "ทักษิณ" เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลชวน 1 เมื่อปี 2538 นับจากนั้น "ทักษิณ" ไม่เคยร่วมงานทางการเมืองกับ "ประชาธิปัตย์" อีกเลย
  • จุดเปลี่ยนชีวิตสำคัญของ "ทักษิณ" ก่อตั้ง "ไทยรักไทย" มีพรรคดีเอ็นเอทักษิณ ชนะ "ประชาธิปัตย์" มาตลอด
  • เป็น 11 ครั้งแรก "เพื่อไทย” ยุคที่ “ทักษิณ” กลับมาอยู่แผ่นดินเกิด จับมือเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับ "ประชาธิปัตย์"

 

 

“พรรคประชาธิปัตย์” กับ “พรรคไทยรักไทย” จนมาถึงพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองที่มีดีเอ็นเอของ “ทักษิณ ชินวัตร” ขับเคี่ยวกันมาอย่างหนักต่อเนื่อง นับแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2544 มาจนถึงวันนี้ กินเวลาถึง 23 ปี

ไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งไหน ตลอด 23 ปีที่ “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย” จะเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับ “พรรคประชาธิปัตย์”

ปี 2544 เลือกตั้ง 6 ม.ค.2544 “ประชาธิปัตย์”ภายใต้การนำของ “ชวน หลีกภัย” หัวหน้าพรรค ได้ สส.128 คน พ่ายแพ้ให้กับ “ไทยรักไทย” พรรคการเมืองน้องใหม่ ที่มี “ทักษิณ” เป็นหัวหน้าพรรค ที่กวาด สส.ไปได้ 248 คน

ปี 2548 เลือกตั้ง 6 ก.พ.2548 “ประชาธิปัตย์” ยุคหัวหน้าพรรค “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ได้ สส.ลดลง เหลือ 96 คน พ่ายยับให้ “ไทยรักไทย” ที่แลนด์สไลด์กวาด สส. 377 เสียง

มาถึง“พรรคประชาธิปัตย์” ยุคผลัดใบ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นำสู้ศึกเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 แม้จะขยับตัวเลข สส.ขึ้นมาได้ ก็ยังเอาชนะพรรคใหม่ “พลังประชาชน” ภาคต่อไทยรักไทยที่ถูกยุบไม่ได้  เมื่อประชาธิปัตย์ได้ สส.ทั้งประเทศ 164 คน ส่วนพรรคพลังประชาชน ชนะเลือกตั้ง กวาดมาได้ 233 สส.
 

ปิดตำนาน \'ปชป.- เพื่อไทย\' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ \'ทักษิณ\' มีชัย  

เลือกตั้ง 3 ก.ค.2554 “ประชาธิปัตย์” ยุคหัวหน้า “อภิสิทธิ์” ก็ยังเอาชนะพรรคเพื่อไทย(ภาคต่อพรรคพลังประชาชน)ไม่ได้ แม้จะกวาด สส.มาได้ 159 คน แต่ “เพื่อไทย” โกยนำไปได้ถึง 265 คน

“ประชาธิปัตย์” ยุค “อภิสิทธิ์” พยายามล้างตาในศึกเลือกตั้งเป็นรอบที่ 3 เมื่อ 24 มี.ค.2562 แต่คราวนี้ พ่ายแบบหมดสภาพ เหลือ สส. 53 คน เป็นสัญญาณชัดเจนครั้งแรก ที่สถานะประชาธิปัตย์ไม่ใช่ “พรรคการเมืองคู่แข่ง” กับเพื่อไทยอีกต่อไป

ปิดตำนาน \'ปชป.- เพื่อไทย\' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ \'ทักษิณ\' มีชัย

ปชป.ยุคตกต่ำ ปี 2566 สส.ร่วงเหลือ 25 คน

ประชาธิปัตย์เข้าสู่สนามเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 นำโดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค เป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่พรรคประชาธิปัตย์ ตกต่ำต่อเนื่องรุนแรงสุด เหลือ สส.เพียง 25 คน แต่ก็ยังมีเสียงพอที่จะทำให้ “จุรินทร์” มีคุณสมบัติที่จะชิงตำแหน่งนายกฯ ได้

ทว่าในทางการเมือง “ประชาธิปัตย์” พ.ศ.นี้ ถูกมองว่าเป็นพรรคอะไหล่ที่รอร่วมรัฐบาลเท่านั้น

เส้นขนานทางการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันมาตลอดของ “พรรคดีเอ็นเอทักษิณ” กับ “ประชาธิปัตย์” มาถึงวันที่ต้องมาบรรจบกันใน พ.ศ.2567

เพราะด้วยการพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ของ “เศรษฐา ทวีสิน” จากนั้นปฏิบัติการเสนอชื่อ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ คนที่ 31 จึงเกิดขึ้น

ผลจากมติที่ประชุม สส.เพื่อไทย ไม่ร่วมสังฆกรรมทางการเมืองกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ในขั้วบ้านป่าฯ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

28 ส.ค.2567 เพื่อไทยมอบหมายให้ “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรค ส่งหนังสือทาบทาม “พรรคประชาธิปัตย์” อย่างเป็นทางการเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีตำแหน่งรัฐมนตรี 2 เก้าอี้เตรียมประเคนให้

ปิดตำนาน \'ปชป.- เพื่อไทย\' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ \'ทักษิณ\' มีชัย

ดีลประวัติศาสตร์ "ทักษิณ" มีชัยเหนือ ปชป.

ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ปิดฉากศัตรูคู่แค้นทางการเมืองในอดีต ทั้งใน และนอกสนามเลือกตั้ง ที่ “ประชาธิปัตย์” มักโหนชื่อ “ทักษิณ” ใช้ดิสเครดิตทางการเมืองอยู่เสมอ

คอการเมืองมองกันว่า เกมนี้ “ทักษิณ” มีชัยชนะเหนือ “ประชาธิปัตย์”

เพราะสามารถทำให้ประชาธิปัตย์สลัดจุดยืนที่ “ต่อต้านระบอบทักษิณ” มาเป็นประชาธิปัตย์ยุคที่ “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร”

21 สส.ประชาธิปัตย์ ไม่นับ 4 สส.ขั้ว “ชวน หลีกภัย” ตั้งป้อมรอเสียบเพื่อชาติ คือ เครื่องยืนยันเสถียรภาพ ผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับ “รัฐบาลแพทองธาร”

ปิดตำนาน \'ปชป.- เพื่อไทย\' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ \'ทักษิณ\' มีชัย

จุดเปลี่ยน "ทักษิณ" ไม่เข้า ปชป.

ย้อนกลับไป ก่อนที่ “ทักษิณ”จะเข้าสู่ถนนการเมือง หลายคนอาจพอรู้ และไม่รู้ว่า อดีตนายกฯ คนนี้ เคยเกือบเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ทว่า การชักชวนของ “มหาจำลอง ศรีเมือง” หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น ให้ทักษิณเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีก่อน ทำให้จุดหักเหทางการเมืองของ “ทักษิณ” ต้องเปลี่ยนไปอีกหน้าหนึ่ง

ย้อนไปในห้วงตำแหน่งทางการเมืองแรกของ “ทักษิณ” เกิดขึ้นในรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2538 เป็นยุคทองของพรรคประชาธิปัตย์

เพียงแต่ “ทักษิณ” ขณะนั้นกระโดดจากนักธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม มาร่วมงานกับ “พรรคพลังธรรม” ในโควตาคนนอก นั่งรมว.การต่างประเทศ

“ทักษิณ” เคยบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นทางการเมือง ผ่านหนังสืออัตชีวประวัติ “ทักษิณ ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน” เมื่อครั้ง “จำลอง” ตัดทรงผมเกรียน สวมเสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงินเข้ม ลากรองเท้าแตะ เข้าพบ “ทักษิณ” ที่สำนักงานชินวัตร ย่านถนนราชวัตร เพื่อขอให้ตอบรับดีล นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

“พี่คงทราบแล้วว่า คุณชวน หลีกภัย ชวนผมลงเลือกตั้งกับประชาธิปัตย์สมัยหน้า” ทักษิณ ตอบกลับ “จำลอง”

“ไม่เป็นปัญหาหรอก นั่นเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งทักษิณจะตัดสินใจอย่างไร ต่อไป ก็สุดแท้แต่ทักษิณ” มหาจำลอง บอกกับ “ทักษิณ”

ก่อนเล่นการเมือง "ทักษิณ" นับถือ "ชวน"

เวลานั้น เป็นช่วงจังหวะที่ “รัฐบาลชวน” กำลังปรับ ครม.ชวน 1/3 ทำให้ “ทักษิณ” ต้องปรึกษากับครอบครัว ก่อนตอบรับดีลการเมืองครั้งแรกในชีวิต ที่ส่งผลให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

เป็นโอกาสที่ “ทักษิณ” ได้มาร่วมงานทางการเมืองครั้งแรกกับ “รัฐบาลประชาธิปัตย์” ภายใต้การนำของนายกฯ “ชวน หลีกภัย” เพียงแต่ “ทักษิณ” ยังไม่ได้เป็นนักการเมืองเต็มตัว และยังไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้นำพรรค

“ทักษิณ” เล่าว่า จุดเริ่มต้นของตัวเอง ควรจะเป็นพรรคพลังธรรมหรือไม่ ผ่านหนังสือ “ตาดูดาว เท้าติดดิน” ว่า ขณะที่ถูกทาบทามนั่ง รมว.การต่างประเทศ ด้วยนับความที่นับถือ “ชวน หลีกภัย” อยู่แล้ว จึงมีโอกาสติดต่อไปยัง “นายกฯ ชวน” เพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งตามปกติแล้วจะนัดได้ไม่ยาก เพียงแต่จังหวะนั้น “นายกฯ ชวน” ไม่สะดวกจะให้ “ทักษิณ” เข้าพบ เพราะอีก 2 วันมีกำหนดการไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศแคนาดา

การพลาดโอกาสขอคำปรึกษาจาก “นายกฯ ชวน” ครั้งนั้น อาจทำให้ “ทักษิณ” มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทางการเมืองคือ ไม่มีโอกาสได้ร่วมงานกับ “ประชาธิปัตย์” อีกเลยนับจากนั้นมา

ด้วยเวลาเร่งรัด จึงทำให้ “ทักษิณ” ต้องตอบรับดีล รัฐมนตรีคนนอกจาก “มหาจำลอง” โดยไม่ทันจะได้หารือกับนายกฯ ชวน

"ทักษิณ" เบนเป้าเข้า "พลังธรรม" ก่อนตั้ง ทรท.

ภายหลังความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมของพรรคประชาธิปัตย์ “ชวน” ได้ตัดสินใจยุบสภา เมื่อปี 2538 ในขณะที่ “ทักษิณ” นั่งตำแหน่งรมว.การต่างประเทศได้เพียง 3 เดือน หรือ 101 วันเท่านั้น

จากนั้น “ทักษิณ” ต้องเข้ามารับไม้ต่อ เป็นผู้นำพรรคพลังธรรม จากการขอร้องของ “มหาจำลอง” ระหว่างการยุบสภาไปแล้ว 

“ทักษิณ” เล่าผ่านหนังสือชีวประวัติว่า “ก็มีคุยกับคุณชวน ทางพรรคประชาธิปัตย์บ้าง แต่ไม่จริงจังนัก” 

ด้วยเงื่อนไขที่ “จำลอง” มอบเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังธรรมให้ พร้อมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยที่จำลองจะไม่ยุ่งเกี่ยว 

ทว่า ต่อมา “ทักษิณ” ก็ไม่เลือกปักหลักกับพรรคการเมืองใด แต่เลือกที่จะก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” ด้วยตัวเอง จนประสบความสำเร็จในที่สุด 

ปิดตำนาน \'ปชป.- เพื่อไทย\' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ \'ทักษิณ\' มีชัย

ปฐมบทตั้ง ทรท.เปิดทศวรรษศัตรูการเมือง

ความสำเร็จในการก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย ทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ต้องเป็นพรรคแพ้เลือกตั้ง และเป็นพรรคฝ่ายค้านถาวร

ปฐมบทความเป็นศัตรูคู่แค้นทางการเมือง จึงเริ่มตั้งแต่วันที่ “ทักษิณ” นำ “ไทยรักไทย” ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2544

“ประชาธิปัตย์” ยุคปี 2544 เป็นต้นมา กลายเป็นพรรคของคนภาคใต้ ที่นักการเมืองค่ายสีฟ้า สร้างวาทกรรม ต่อต้านพรรคทักษิณ เพราะเกรงกลัวว่ากระแส “ไทยรักไทย” จะฟีเวอร์ จนกลืนกินคนภาคใต้

จุดยืนของ “ประชาธิปัตย์” ภายใต้อุดมการณ์ของ “ชวน หลีกภัย” ต่อเนื่องมายุค “อภิสิทธิ์-จุรินทร์” มักยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยสุจริต คัดค้านการร่วมงานทางการเมืองกับ “พรรคเพื่อไทย” มาตั้งแต่ “ไทยรักไทย”

ปิดตำนาน \'ปชป.- เพื่อไทย\' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ \'ทักษิณ\' มีชัย

“ประชาธิปัตย์” เคยประท้วงต่อต้านพรรคไทยรักไทย-พรรคเพื่อไทย ด้วยการบอยคอตการเลือกตั้ง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 จนเป็นต้นชนวนนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจ แม้จะมีการชุมนุมของม็อบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังของ “ประชาธิปัตย์” มีส่วนสำคัญในการโค่นอำนาจทางการเมืองของ “ทักษิณ”

“ประชาธิปัตย์” ในยุคพลังทางการเมืองอ่อนแอ เพราะตกต่ำได้ 25 สส. มาพร้อมกับกระแสข่าวพร้อมรอวันร่วมรัฐบาลกับ “เพื่อไทย”

ทำให้ครั้งหนึ่งศาสดาพรรคสีฟ้าอย่าง “ชวน หลีกภัย” ต้องลุกอภิปรายท้วงติงรัฐบาลเศรษฐา เมื่อเดือน เม.ย.2567 ซึ่งยังติดใจ วลีอมตะของ “ทักษิณ” ที่พูดมาเกือบ 20 ปี ในทำนองจะพัฒนาจังหวัดที่เลือกพรรคไทยรักไทยก่อน จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง

“นายกรัฐมนตรี ไม่ทราบว่าคนพูดคือใคร จะบอกให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคนพูด ไม่ได้แอบพูด แต่ประกาศกับประชาชนตรงๆ” ชวน หลีกภัย อภิปรายตอนหนึ่ง

ในทางการเมือง แม้ “ทักษิณ” จะเริ่มต้นตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกกับรัฐบาล “ประชาธิปัตย์” ที่มี “ชวน” เป็นนายกฯ ทว่าเส้นทางของเขาต้องเบนเป้ามาที่พรรคพลังธรรม แทนที่จะไปประชาธิปัตย์ตามคำชักชวนของ “ชวน หลีกภัย” ก่อนการเลือกตั้งปี 2538

เวลาล่วงผ่านมา เกือบ 30 ปี “ทักษิณ” และพรรคดีเอ็นเอของเขา ไม่เคยจับมือกับ "ประชาธิปัตย์ แต่ศักราช 2567 “เพื่อไทย” ยุคที่ “ทักษิณ” กลับมาอยู่แผ่นดินเกิด สามารถทำให้ “ประชาธิปัตย์” มาร่วมรัฐบาล “เพื่อไทย” ที่มี “แพทองธาร ชินวัตร” ลูกสาวของตัวเองเป็นนายกฯ ได้ ทั้งที่พรรคสีฟ้ามอง “ทักษิณ” เป็นศัตรูการเมืองมาตลอด ผ่านวาทกรรมโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ”

ปรากฏการณ์นี้ จึงถือเป็น การปิดตำนานพรรคคู่แค้นอย่างเป็นทางการ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์