รัฐสภา เสียงเอกฉันท์ เห็นชอบกรอบความตกลง PCA
"รัฐสภา" 612เสียงเห็นชอบกรอบความตกลงพีซีเอ "จุรินทร์" วอน รัฐบาลระวังปัญหาในอนาคน ปมละเมิดหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาวาระร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกฝ่ายหนึ่งกับราชอาณาจักรไทยอีกฝ่ายหนึ่ง หรือ พีซีเอ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกรอบความตกลงดังกล่าวด้วยมติเอกฉันท์ 612 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของร่างกอรบความตกลงดังกล่าวมีรายละเอียด ที่ครอบคลุมความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศในประเด็น อาทิ ความมั่นคง เสรีภาพ การยุติธรรม การโยกย้ายถิ่นฐาน การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมุทราภิบาล การสาธารณสุข สิทธิแรงงาน เกษตรกรรม การประมงยั่งยืน สิทธิมนุษยชน สารสนเทศและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทั้งนี้ช่วงหนึ่งของการอภิปราย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าตนเห็นชอบกรอบพีซีเอดังกล่าว เพราะภาพรวมเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและคนไทยทั่วประเทศในระยะยาว กรอบความร่วมมือPCA ฉบับนี้ เป็นเสมือนการยิงปืนด้วยกระสุนนัดเดียวแต่ได้นก 27 ตัว เพราะสหภาพยุโรปมีสมาชิก 27 ประเทศ นั่นก็คือเราทำสัญญาฉบับเดียวแต่ได้ยกระดับความร่วมมือ และความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ถึง 27 ประเทศ นอกจากนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอันที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างดุลยภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์ในเวทีโลก
"เป็นที่ทราบดีว่าโลกกำลังถูกแบ่งขั้ว แบ่งค่าย ทางการเมือง โดยมหาอำนาจและไม่ได้แบ่งขั้วแบ่งค่ายเฉพาะการเมืองแต่เอาเศรษฐกิจมามัดรวมกับการเมืองด้วยกลายเป็นแบ่งขั้วแบ่งค่ายทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกำหนดท่าทีรักษาดุลยภาพในการเดินหน้าเศรษฐกิจการเมืองในเวทีโลกเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศของเรา ที่ผ่านมาเราถึงเดินทางได้อย่างถูกต้อง รวมถึงจะเป็นกลไกให้การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปบรรลุผลโดยราบรื่นรวดเร็วขึ้น” นายจุรินทร์ อภิปราย
นายจุรินทร์ อภิปรายด้วยว่าตนขอฝากไปยังรัฐบาลที่จะบังคับใช้กรอบพีซีเอ ว่าให้คำนึงถึงถึงป้องกันปัญหาที่จะตามมาในการบังคับใช้ภาคปฏิบัติ ในส่วนของการละเมิดหลักการประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเด็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการไม่เผยแพร่อาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง.