78 ปี ปชป.แพ้เลือกตั้ง 15 ครั้ง ยุค‘เฉลิมชัย’ ฝ่าขนบจับมือ 'เพื่อไทย'
ตลอด 8 ทศวรรษ "ประชาธิปัตย์" เคยผ่านการเลือกตั้งมาแล้วถึง 24 ครั้ง แต่ประสบความสำเร็จชนะเลือกตั้งเพียง 6 ครั้ง สร้างนายกรัฐมนตรีได้ถึง 4 คน ล่าสุด "ประชาธิปัตย์" ยุค "เฉลิมชัย" ฝ่าขนมธรรมเนียมพรรคในรอบ 23 ปี เป็นพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลกับ "เพื่อไทย"
KEY
POINTS
- 78 ปี "ประชาธิปัตย์" ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ ส.ส. หวังเข้าไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นับแต่ปี 2491-2566 ผ่านการ“เลือกตั้ง” มาแล้ว 24 ครั้ง
- แพ้เลือกตั้งถึง 15 ครั้ง ชนะเลือกตั้งเพียง 6 ครั้ง บอยคอตเลือกตั้ง 3 ครั้ง สถิติที่ไม่สวยนักของ "ประชาธิปัตย์"
- มีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 9 คน สร้างนายกฯได้ 4 คน แต่มีหัวหน้าพรรคเพียง 3 คนเท่านั้นที่นำพรรคชนะเลือกตั้ง
- "ประชาธิปัตย์" ได้ สส.มากที่สุด 165 คนในยุค "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เมื่อปี 2550
- ตกต่ำได้ สส.25 คนน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ในยุค "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" เมื่อปี 2566
- "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกในรอบ 23 ปีที่นำพรรคจับมือเป็นพันธมิตรร่วมตั้งรัฐบาล "เพื่อไทย"
พรรคประชาธิปัตย์ บอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านเว็บไซต์ของพรรค ถึงห้วงเวลาการต่อสู้อยู่ 8 ยุค ไล่ตั้งแต่ยุคที่มีการต่อสู้กับเผด็จการ
ยุคพรรคตกต่ำ ต้องฟื้นฟูพรรค เชิดชูประชาธิปไตย ยุคทองการเป็นฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ ต่อสู้เผด็จการรัฐสภา ยุคที่ประเทศไทยมั่นใจประชาธิปัตย์
แต่ถ้าพลิกสถิติที่น่าจดจำ จะพบว่า “ประชาธิปัตย์” คือพรรคการเมืองที่พ่ายแพ้มากถึง 15 ครั้งในสนามเลือกตั้งทั่วไป
“ประชาธิปัตย์” แพ้เลือกตั้งบ่อย แบบไม่อยากจดจำ เพราะเป็นพรรคเก่าแก่ที่ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมีอายุยาวนานที่สุด 78 ปี เกือบ 8 ทศวรรษ ถือฤกษ์วันจักรีเป็นวันก่อตั้งพรรค 6 เมษายน 2489 มี พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น เลขาธิการพรรคคนแรก
เคยคว่ำบาตรเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง ชนะเลือกตั้งเพียง 6 ครั้ง สร้างนายกรัฐมนตรีที่ชนะเลือกตั้งได้ 3 คนคือ ควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชวน หลีกภัย
มีเพียง “อภิสิทธิ์” คนเดียวที่นำพรรคแพ้เลือกตั้งมาตลอด แต่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังนำพรรคประชาธิปัตย์พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เมื่อปลายปี 2551
ส่วนผู้นำพรรคที่ไร้วาสนาขึ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แม้จะนำพรรคชนะเลือกตั้ง คือ “พิชัย รัตตกุล” พลาดตำแหน่งสูงสุดเพราะพรรคร่วมรัฐบาลตกลงปลงใจให้ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” มาเป็นนายกฯ คนนอกเมื่อปี 2529
พรรคประชาธิปัตย์ยังขึ้นชื่อ ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นพรรคที่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ ม.ร.ว.เสนีย์ 1 ครั้ง ชวน 3 ครั้ง บัญญัติ 1 ครั้ง อภิสิทธิ์ 3 ครั้ง
เหล่านี้คือ สถิติที่่ถูกบันทึกไว้ตลอดประวัติศาสตร์การผ่านสนามเลือกตั้งของ “ประชาธิปัตย์”
ประวัติศาสตร์ของ “ประชาธิปัตย์” ชื่อที่มีความหมายลึกซึ้งว่า “ประชาชนเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย”
ตลอด 78 ปี พรรคประชาธิปัตย์เคยส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส. เพื่อหวังเข้าไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นับแต่ปี 2491-2566 ผ่านกับคำว่า “เลือกตั้ง” มาแล้ว 24 ครั้ง
แบ่งเป็น ชนะเลือกตั้ง 6 ครั้ง แพ้เลือกตั้ง 15 ครั้ง บอยคอยคว่ำบาตรเลือกตั้ง 3 ครั้ง
1.เลือกตั้ง 29 มกราคม 2491 : ประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งครั้งแรก ได้ ส.ส.53 ที่นั่งจาก 99 ที่นั่ง เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดย พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
2.เลือกตั้ง 5 มิถุนายน 2492 : เป็นการเลือกตั้ง สส.เพิ่มเติมตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.40 ที่นั่งแต่ไม่ได้เป็นนายกฯ ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกฯ
3. เลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2495 : ประชาธิปัตย์ คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ยุบพรรคการเมือง บรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย
4. เลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 : ประชาธิปัตย์ แพ้เลือกตั้ง ได้ สส. 30 ที่นั่งจาก 160 ที่นั่ง พ่ายแพ้พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้ 86 ที่นั่ง
5.เลือกตั้ง15 ธันวาคม 2500 : ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านได้ 39 ที่นั่ง จาก 160 ที่นั่ง แพ้พรรคสหภูมิ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเพื่อให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
6.เลือกตั้ง 10 กุมภาพันธ์ 2512 : ประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 55 ที่นั่ง จาก 219 ที่นั่ง พ่ายแพ้เลือกตั้งให้กับพรรคสหประชาไทของ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค
7.เลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 : ม.ร.ว.เสนีย์ นำประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง กวาด ส.ส.72 ที่นั่งจาก 269 ที่นั่ง ได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 แต่กลับแพ้โหวตในสภาฯ หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้ พรรคกิจสังคม สส. 18 ที่นั่ง รวมเสียงในสภาให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นนายกฯ
8.เลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 : ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.114 ที่นั่ง จาก279 ที่นั่ง ได้จัดตั้งรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3
9.เลือกตั้ง 22 เมษายน พ.ศ. 2522 : พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์นำพรรคครั้งแรกแพ้เลือกตั้ง ได้เป็นอันดับที่ 3 ได้ 33 ที่นั่งจาก 391 ที่นั่ง
10.เลือกตั้ง 18 เมษายน 2526 : ผู้นำพรรคคนใหม่ “พิชัย รัตตกุล” นำพรรคแพ้เลือกตั้ง ได้ ส.ส. 56 ที่นั่งจาก324 ที่นั่ง เป็นพรรคร่วมรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายก
11.เลือกตั้ง 27 กรกฎาคม 2529 : “พิชัย” นำประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งอันดับ1 ได้ ส.ส.100 ที่นั่งจาก 347 ที่นั่ง ทว่าพรรคร่วมรัฐบาลตกลงกันสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
12.เลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 : แพ้เลือกตั้ง ได้ ส.ส. 48 ที่นั่ง จาก357 ที่นั่ง เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบให้ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกฯ
13.เลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 : “ชวน หลีกภัย” นำพรรคครั้งแรก แพ้เลือกตั้งได้อันดับ4 เป็นฝ่ายค้าน ได้ ส.ส.44 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง พรรคสามัคคีธรรม แกนนำรัฐบาล เชิญ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
14.เลือกตั้ง 13 กันยายน 2535 : หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.79 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “ชวน หลีกภัย” ขึ้นเป็นนายกฯ ครั้งแรก
15.เลือกตั้ง 2กรกฎาคม 2538 : แพ้เลือกตั้งได้ ส.ส.86 ที่นั่งจาก391 ที่นั่งแพ้เลือกตั้งให้พรรคชาติไทย ทำให้ “บรรหาร ศิลปอาชา” ขึ้นเป็นนายกฯ
16.เลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน 2539 : ได้ ส.ส.123 ที่นั่ง จาก 393 ที่นั่ง พ่ายแพ้เลือกตั้งให้พรรคความหวังใหม่ที่ชนะเลือกตั้ง 125 สส. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ
17.เลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 : “ชวน”นำพรรคแพ้เลือกตั้ง ได้ 128 สส. จาก 500 ที่นั่ง แพ้ให้พรรคไทยรักไทยที่ลงเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ครั้งแรก
18.เลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 : “บัญญัติ บรรทัดฐาน” หัวหน้าพรรคนำพรรคแพ้เลือกตั้ง ได้ 96 สส.จาก 500 ที่นั่ง พ่ายแพ้ให้พรรคไทยรักไทย
19.เลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 (โมฆะ) : ประชาธิปัตย์ ยุค “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคนำ 3 พรรคฝ่ายค้านบอยคอตเลือกตั้ง
20.เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 : “อภิสิทธิ์” นำพรรคลงเลือกตั้งครั้งแรกได้ ส.ส.165 ที่นั่ง ถือเป็นยอด สส.ที่มากที่สุดของพรรคตั้งแต่ก่อตั้งพรรค แต่ยังพ่ายแพ้ให้พรรคพลังประชาชน พรรคแถวสองของ “ไทยรักไทย” ทำให้ “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกฯ
21.เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 : แพ้เลือกตั้งได้ ส.ส.159 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง พ่ายแพ้ให้พรรคเพื่อไทย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้เป็นนายกฯ
22.เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 (โมฆะ) : “อภิสิทธิ์” นำพรรคบอยคอตเลือกตั้งเป็นครั้งที่สอง
23.เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 : หลัง คสช.ยึดอำนาจรัฐประหาร “อภิสิทธิ์” นำพรรคลงเลือกตั้งรอบที่ 3 แพ้เลือกตั้ ได้ 53 สส. เป็นพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ สมัย 2
24.เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 : ยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” นำพรรคแพ้เลือกตั้งยับเยิน ได้ สส.น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ 25 ที่นั่ง นับตั้งแต่พรรคเคยได้ สส.ต่ำสุด 30 คนเมื่อปี 2500
หัวหน้า ปชป.4 คนชนะ 4 คนพ่ายแพ้
“ประชาธิปัตย์” มีหัวหน้าพรรค 4 คน ชนะเลือกตั้ง คือ ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 1 ชนะ 2 ครั้ง ( 29 ม.ค. 2491/ 5 มิ.ย. 2492) บอยคอต 1 ครั้ง (2495) แพ้ 2 ครั้ง (26 ก.พ.2500/ 15 ธ.ค.2500)
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ชนะ 2 ครั้ง ( 26 ม.ค. 2518 /4 เม.ย. 2519) แพ้ 1 ครั้ง (10 ก.พ. 2512)
พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคคนที่ 4 ชนะ 1 ครั้ง ( 27 ก.ค. 2529) แพ้ 2 ครั้ง (18 เม.ย. 2526/ 24 ก.ค. 2531)
ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคคนที่ 5 ชนะ 1 ครั้ง (13 ก.ย.2535) แพ้ 4 ครั้ง (22 มี.ค.2535/ 2 ก.ค. 2538 / 17 พ.ย.2539 / 6 ม.ค. 2544)
ขณะที่หัวหน้าพรรค 4 คน ถูกบันทึกให้เป็นผู้นำพรรคผู้พ่ายแพ้ คือ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคคนที่ 3 แพ้ 1 ครั้ง (22 เม.ย. 2522) บัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคคนที่ 6 แพ้ 1 ครั้ง (6 ก.พ. 2548)
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนที่ 7 แพ้ 3 ครั้ง (23 ธ.ค. 2550 / 3 ก.ค. 2554 / 24 มี.ค. 2562) บอยคอตเลือกตั้ง 2 ครั้ง (2 เม.ย. 2549 / 2 ก.พ. 2557)
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 8 แพ้ 1 ครั้ง (14 พ.ค. 2566)
ยุค "เฉลิมชัย" ฝ่าขนบ ปชป.จับมือ "เพื่อไทย
ด้วยสภาพ “ประชาธิปัตย์” ขาลงตกต่ำสุดขีด “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคคนที่ 9 ยึดกุม สส.ในพรรคได้ถึง 21 เสียง เข้ามาดำรงตำแหน่ง 9 ธันวาคม 2566 -ปัจจุบัน ยังไม่เคยนำพรรคประชาธิปัตย์ลงสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่
คนประชาธิปัตย์ที่ผูกพันกับพรรคยังตั้งคำถามถึงอนาคตทางการเมืองของพรรคเก่าแก่ถึงการจับมือกับ “เพื่อไทย” ขณะที่ “อภิสิทธิ์” เลือกกอดอุดมการณ์ เดินออกจากพรรคในที่สุด
“ชวน-บัญญัติ-อภิสิทธิ์-จุรินทร์” 4 ผู้นำเคยร่วมกอดคอผนึกกันต่อสู้ทางการเมืองกับ “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย”
แต่ “ประชาธิปัตย์” ยุค “เฉลิมชัย” ใช้มติพรรคฝ่าขนบพรรคประชาธิปัตย์ที่ผู้นำจิตวิญญาณพรรคเคยยึดถือมา 23 ปีไปจับมือเป็นพันธมิตรกับ “เพื่อไทย”
ยุค “เฉลิมชัย” จะนำ “ประชาธิปัตย์” กลับมารุ่งเรือง ทรงตัวหรือตกต่ำคงต้องรอการพิสููจน์ต่อไป
แต่ชื่อ “เฉลิมชัย” ได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นผู้นำพรรคสีฟ้าในรอบ 23 ปีคนแรก ที่เปลี่ยนจุดยืน ไม่เอา “พรรคทักษิณ”