‘สะแกกรัง’ เดือด ศึกสายเลือด ‘ชาดา-มนัญญา’
ชาดา ไทยเศรษฐ์ ได้ขอให้ เผด็จ นุ้ยปรี ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเตรียมลงเลือกตั้งใหม่แข่งกับ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ คนในบ้านใหญ่ “ดอนหมื่นแสน” มีปัญหาอะไรกัน จึงต้องเปิดศึกสายเลือดให้คนโจษขานไปทั่วลุ่มน้ำสะแกกรัง
KEY
POINTS
-
เกิดอะไรขึ้นที่เมืองอุทัยธานี เมื่อ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ อดีต รมช.เกษตรฯ ประกาศตัวลงสมัครนายก อบจ.อุทัยธานี ท้าชน เผด็จ นุ้ยปรี อดีตนายก อบจ.อุทัยธานี สายตรงชาดา ไทยเศรษฐ์
-
ชาดายังได้ประชุมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต.ทั้งจังหวัด ห้ามให้การช่วยเหลือมนัญญาอย่างเด็ดขาด
-
ในการปรับครม.เศรษฐา 2 กรมพัฒนาชุมชนไปอยู่ในมือเพื่อไทย ชาดาจึงให้น้องสาวถอยออกมาช่วยงานตัวเอง ซึ่งมีตำแหน่งประธานที่ปรึกษา รมช.มหาดไทย ด้วยปมนี้หรือไม่ ที่ทำให้สองพี่น้อง ต้องแยกทางกันเดินในสมรภูมิเลือกตั้งนายก อบจ.อุทัยธานี ซึ่งยังเป็นคำถามตัวโตๆ ว่า ทำไมชาดา ไม่ช่วยน้องสาว ?
ถามไถ่กันให้เซ็งแซ่ เกิดอะไรขึ้นที่เมืองอุทัยธานี เมื่อ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ อดีต รมช.เกษตรฯ ประกาศตัวลงสมัคร นายก อบจ.อุทัยธานี ท้าชน เผด็จ นุ้ยปรี อดีตนายก อบจ.อุทัยธานี สายตรง ชาดา ไทยเศรษฐ์
คนในบ้านใหญ่ “ดอนหมื่นแสน” มีปัญหาอะไรกัน จึงต้องเปิดศึกสายเลือดให้คนโจษขานไปทั่วลุ่มน้ำสะแกกรัง
พลันที่ เผด็จ นุ้ยปรี ตัดสินใจลาออกจากนายก อบจ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม -2567 ทาง สนง.กกต.อุทัยธานี จึงได้กำหนดวันรับสมัครนายก อบจ.ระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย.2567 ส่วนวันเลือกตั้งจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 6 ต.ค.2567
มีรายงานว่า ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ได้ขอให้ เผด็จ นุ้ยปรี ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเตรียมลงเลือกตั้งใหม่แข่งกับ มนัญญา ไทยเศรษฐ์
นอกจากนี้ ชาดายังได้ประชุมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต.ทั้งจังหวัด ห้ามให้การช่วยเหลือมนัญญาอย่างเด็ดขาด
สอดรับกับในเฟซบุ๊คส่วนตัวของ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2567 มนัญญาได้โพสต์ภาพตัวเธอ พร้อมลูกชายและลูกชาย ออกเดินหาเสียงแนะนำตัวกับชาวบ้าน พร้อมแคปชั่นว่า “ไม่ขอสร้างความลำบากใจให้ใคร ขอเดินแค่แม่ลูกค่ะ”
นั่นเป็นการส่งสัญญาณให้คนอุทัยธานีรู้ว่า มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ลงสนามเลือกตั้ง อบจ.เที่ยวนี้ ไม่มีเครือข่ายบ้านใหญ่ดอนหมื่นแสนมาช่วยหาเสียง
“เบแหม่ม” ที่คนลุ่มน้ำสะแกกรังเรียกขานชื่อเล่นของ มนัญญา น้องสาวคนเดียวของชาดา ไทยเศรษฐ์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองอุทัยธานี
เส้นทางของพี่น้อง ไทยเศรษฐ์ ยิ่งกว่าละครชีวิต ช่วงปี 2511 พวกเขายังเยาว์วัย พ่อถูกยิงเสียชีวิต ผ่านมา 7 ปีต่อมาแม่ก็ถูกยิงเสียชีวิตอีกคน
ต่อมา พี่ชายคนโตที่มารับช่วงค้าเนื้อก็ถูกยิงเสียชีวิตตามไปอีก ทั้งหมดสังเวยให้ธุรกิจค้าเนื้อวัว-ควาย ที่มีการแข่งขันกันสูง
ครอบครัวไทยเศรษฐ์ จึงเหลือสองคนพี่น้อง และครั้งหนึ่ง มนัญญาได้เล่าว่า “เรามีกัน 2 คนพี่น้อง คุณชาดาเป็นคนที่รักน้องมาก เขาพูดเสมอว่า พ่อแม่ตายไปแล้วไม่มีอีกแล้วพี่น้อง เขาเลยรักครอบครัว พอมาถึงรุ่นหลาน ลูกหลานก็ค่อนข้างรักกันมาก เพราะดิฉันเองก็เลี้ยงลูกของพี่ชายมา”
ในวัยเด็ก “เบแหม่ม” จบจากโรงเรียนอุทัยวิทยาคม ไปเรียนต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ มรภ.สวนดุสิต ก่อนจะกลับมาดูแลธุรกิจครอบครัวที่เมืองอุทัยฯ
ปี 2550 ชาดาตัดสินใจลาออกจากการเมืองท้องถิ่นที่เขาโลดแล่นมาตั้งแต่ปี 2533 และหันไปเล่นการเมืองระดับชาติ ชาดาได้รับเลือกตั้งเป็น สส.อุทัยธานี สังกัดพรรคชาติไทย
นับแต่จุดนั้น “เบแหม่ม” ก็ก้าวขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี สานงานต่อพี่ชาย ในสังกัดกลุ่มคุณธรรม ที่ชาดาร่วมกับตระกูล “เหลืองบริบูรณ์” ก่อตั้งร่วมกันมา
ปี 2562 มนัญญาต้องลาออกมาจากนายกเล็กเมืองอุทัยฯ เพื่อเข้ารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ แทนพี่ชาย ในรัฐบาลประยุทธ์
ปีเดียวกันนี้ "ชาร์จ" เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ได้รับเลือกเป็น สส.อุทัยธานี เขต 1 สมัยแรก ร่วมกับลุงชาดา ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย
อุทัยธานีเป็นจังหวัดขนาดกลางตรงรอยต่อภาคกลางกับภาคเหนือ ตระกูลการเมืองของอุทัย ทั้งระดับชาติและท้องถิ่นก็มีอยู่ 5-6 ตระกูล คือ ทุ่งทอง นุ้ยปรี มงคลศิริ เหลืองบริบูรณ์ โต๋วสัจจา และไทยเศรษฐ์
ยุคเปรมาธิปไตย คำว่า “บ้านใหญ่อุทัยธานี” หมายถึง บ้านทรงไทย ริมแม่น้ำสะแกกรัง ของ “เสธ.พล” พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ อดีต สส.อุทัยธานี 5 สมัย
เวลานั้น เมืองอุทัยธานี มีตระกูลการเมืองอยู่ 3 กลุ่มคือ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ อดีตคนสนิท พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้ใหญ่หริ-ศิริ ทุ่งทอง บ้านใหญ่ อ.หนองฉาง และศิลป์ชัย นุ้ยปรี
เวลานั้น “หลาดา” หรือชาดา ยังเป็นพ่อค้าเนื้อ(ซื้อขายวัวควาย) และเป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองใหญ่ โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรลุ่มน้ำสะแกกรัง
ปี 2551 ชาดา สวมเสื้อพรรคชาติไทย ลงสมัคร สส.อุทัยธานี และเป็น สส.สมัยแรก หลังจากนั้น ชาดา ได้รวบรวมตระกูลการเมืองลุ่มน้ำสะแกกรังให้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งตระกูลนุ้ยปรี เหลืองบริบูรณ์ และทุ่งทอง
เผด็จ นุ้ยปรี น้องชาย ศิลป์ชัย นุ้ยปรี อดีต สส. 4 สมัย ได้รับการสนับสนุนจากบ้านใหญ่ตระกูลไทยเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.อุทัยธานี มาต่อเนื่องยาวนานถึง 4 สมัย รวมระยะเวลาถึง 20 ปี
ศิลป์ชัย เป็นนายก อบจ.อุทัยฯ สมัยแรกปี 2547 และสมัยที่แล้ว เขาลงสมัครนายก อบจ. แบบไร้คู่แข่ง ต่างจากสมัยนี้ ที่ต้องเจอผู้ท้าชิงคนกันเองอย่าง เบแหม่ม-มนัญญา ไทยเศรษฐ์
ถ้าจำกันได้ ช่วงกลางเดือน พ.ค.2567 มีรายงานข่าว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งชาดา ไทยเศรษฐ์ แจงว่า มนัญญา น้องสาวลาออกตั้งแต่เดือน กพ.2567 เพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวง มหาดไทย
ตามข้อบังคับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีข้ออยู่ข้อหนึ่ง ห้ามสมาชิกพรรคการเมืองเป็นกรรมการกองทุนฯ มนัญญา จึงต้องลาออกจากสมาชิกพรรคภูมิใจไทย
ช่วงปรับ ครม.เศรษฐา 2 เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ก็ติดโผจะหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะไม่มีผลงาน ซึ่งเสี่ยเกรียงบอกว่า ตนเองได้คุมกรมเดียวคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงสร้างผลงานไม่ได้ตามเป้าหมาย
นายใหญ่จึงเจรจากับเสี่ยหนู อนุทิน ขอให้กรมพัฒนาชุมชน ให้เสี่ยเกรียงกำกับดูแล เมื่อกรมพัฒนาชุมชน ไปอยู่ในมือเพื่อไทย ชาดาจึงให้น้องสาวถอยออกมาช่วยงานตัวเอง ซึ่งมีตำแหน่งประธานที่ปรึกษา รมช.มหาดไทย
ด้วยปมนี้หรือไม่ ที่ทำให้สองพี่น้อง ต้องแยกทางกันเดินในสมรภูมิเลือกตั้งนายก อบจ.อุทัยธานี ซึ่งยังเป็นคำถามตัวโตๆ ว่า ทำไมชาดา ไม่ช่วยน้องสาว ?