'กมธ.งบฯ เสียงข้างน้อย' หวั่นจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เสี่ยงวิกฤตการคลัง

'กมธ.งบฯ เสียงข้างน้อย' หวั่นจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เสี่ยงวิกฤตการคลัง

"ศิริกัญญา-วีระ" ชงลดงบฯ68 ลง กังวลรัฐจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เหตุรัฐไม่ปรับนโยบายเพื่อรับมือวิกฤต เตือนประเทศเจอวิกฤตการคลัง กู้จนชนเพดาน

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระสอง เป็นวันแรก ในส่วนของการพิจารณา มาตรา 4 ซึ่งเป็นภาพรวมของการตั้งงบประมาณ รวม 3.75 ล้านล้านบาท

โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่ขอปรับลดงบประมาณลง 2 แสนล้านบาท เพื่อไว้รองรับในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดีในการพิจารณาของกมธ. พบว่ามีหน่วยงานรับงบประมาณที่ถูกตัดงบสูงสุด คือ 

1.รัฐวิสาหกิจที่ ส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ถูกตัดงบประมาณส่วนของแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมด

2.กระทรวงอุตสาหกรรม ถูกปรับลดงบประมาณลงเกือบ 7% โดยที่ถูกตัดไปคือโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟ

3.กระทรวงการคลัง 4.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการตั้งงบซ้ำซ้อนคือเซลล์บรอดแคสต์ ที่จะช่วยเตือนภัย  กมธ.ตัดงบประมาณ จำนวน 200 ล้านบาทเนื่องจากไปซ้ำซ้อนกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย 5.กระทรวงพลังงาน 6.สำนักนายกรัฐมนตรี และ 7.กระทรวงกลาโหม รวมแล้ว  4 หมื่นกว่าล้าน 

น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายด้วยว่าา เหตุที่ต้องปรับลดงบประมาณในปี 2568 ลง เนื่องจากเราไม่ได้มีความสามารถหรือกำลังมากพอที่จะใช้จ่ายมากถึง 3.75 ล้านล้านบาท เนื่องจากเชื่อว่าจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้ในเดือนธ.ค. 2566 ตั้งงบประมาณไว้ 3.60 ล้านล้านบาท และบอกว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ 2.88 ล้านล้านบาท  คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโต 3.2% - 3.6% แต่เหตุการณ์ก็เปลี่ยนมามากคือเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง และบอกว่าเศรษฐกิจจะโตเพียงแค่ 2.5% ในเดือนพ.ค.2567 ที่ตั้งงบขาดดุลสูงเกือบชนเพดาน ขาดเพียงแค่ 5 พันล้านบาท หนี้สาธารณะสูงขึ้นเกือบ 66% หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4%

"แม้เหตุการณ์จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่งบประมาณของปี 2568 ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเลย โดยเฉพาะประมาณการรายได้ ดังนั้นจึงสมควรที่จะปรับลดงบประมาณลง ยกตัวอย่างเช่น กรมสรรสามิต ในปี 2567 ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะจัดเก็บรายได้ได้ประมาณ 5.98 แสนล้านบาท แต่เก็บจริงได้ไม่น่าเกิน 5.30 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการปรับลดภาษีน้ำมันเพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพ และในปี 2568 ก็ตั้งเป้าไว้อย่างท้าทายว่าจะจัดเก็บรายได้ถึง 6.09 แสนล้านบาท เพราะนโยบายอุดหนุนภาษี EV ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง ขณะที่ภาษีบุหรี่ก็ไม่มีการปรับปรุงนโยบายแต่อย่างใด จากการที่เราไม่สามารถจัดเก็บภาษีของบุหรี่ได้ตามเป้า" น.ส.ศิริกัญญา อภิปราย

ขณะที่ นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายขอตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี2568 ลง 1.7แสนล้านบาท  เนื่องจากกังวลถึงสถานการณ์ทางการคลังของประเทศ ว่า ขณะนี้เรามีหนี้สาธารณะ ณ เดือนมิ.ย.2567 อยู่ที่ 11.54 ล้านล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปี2568 จะทะลุ 12ล้านล้านบาท อาจถึง 13ล้านล้านบาท ในอีก 3-5ปี ถ้ารัฐบาลยังจัดงบแบบขาดดุล และกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จะมีปัญหาการเงินการคลังภาครัฐหนักหนาสาหัส ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี2568 มีรายจ่ายประจำอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 9แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย 1.5 แสนล้านบาท โดยรายจ่ายประจำไม่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นตลอด เงินทุกบาททุกสตางค์ล้วนเป็นเงินกู้ ที่ต้องหาเงินต้น ดอกเบี้ยมาใช้คืนในอนาคต  

\'กมธ.งบฯ เสียงข้างน้อย\' หวั่นจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เสี่ยงวิกฤตการคลัง

“นี่คือสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤติในอนาคต แม้อ้างว่า การดำเนินการต่างๆ อยู่ในกรอบวินัยการเงิน การคลัง ทำตามกฎหมาย ก็นำไปสู่หายนะได้ ถ้าทำอย่างไม่ระวังรอบคอบ ขณะนี้รัฐบาลมียอดค้างชำระเงินต้น ดอกเบี้ย ณ วันที่ 30ก.ย.2566 จำนวน 1.04 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันไม่รู้มีเท่าใด เพราะไม่มีการเปิดเผย เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย สถานะการเงินรัฐบาลในปัจจุบัน และอนาคต หากไม่ยับยั้งจะเกิดวิกฤติการคลัง”นายวีระ อภิปราย

นายวีระ อภิปรายต่อว่า ตนมีข้อเสนอคือ 1.การจัดทำงบรายจ่ายตั้งแต่ปี2569 ต้องทำงบแบบไม่เพิ่มวงเงินรายจ่ายอีกแล้ว อย่างน้อย 3ปี จนกว่า ความเสี่ยงทางการคลังจะลดลง เข้าสู่การบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม 2.งบรายจ่ายปี2569 ต้องหยุดสร้างภาระการคลังในอนาคต ให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อน และให้รัฐชดใช้คืนภายหลัง รวมถึงการเร่งชำระเงินต้น ดอกเบี้ยคงค้าง 1 ล้านล้านบาท จนกว่าเงินต้นจะลดลง ถ้าไม่ทำอาจประสบภาวะวิกฤติการคลังในอนาคต.