325 เสียง ‘รัฐบาลแพทองธาร’ วัดใจ 15 พรรค เดิมพัน ‘เกมนอกสภา’

325 เสียง ‘รัฐบาลแพทองธาร’  วัดใจ 15 พรรค เดิมพัน ‘เกมนอกสภา’

จับตานับหนึ่งรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร การเมือง “ฉากแรก” การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา สัญญาณพรรคร่วมรัฐบาลอำนาจต่อรอง ดันสารพัดนโยบาย “เรือธง" สีต่างๆ เพื่อบรรจุเป็นนโยบาย

KEY

POINTS

  • สัญญาณจากฟากฝั่งรัฐบาล เตรียมแผนดันสารพัดนโยบาย “เรือธง" สีต่างๆ เพื่อบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล
  • จังหวะ “พรรคเพื่อไทย” ดันนโยบายในหมวดกระตุ้นเศรษฐกิจ จับตา ครม.นัดแรก ดันดิจิทัลวอลเล็ต
  • สัญญาณชัดเจนจาก “พรรคสีน้ำเงิน” ดันสุดลิ่มกฎหมายกัญชา
  • จับตาในวันเปลี่ยนตัวผู้นำ  อำนาจต่อรองในซีกรัฐบาล อาจกำลังก่อตัวขึ้นอีกรอบ
  • เสถียรภาพรัฐบาลแน่นปึก “15 พรรค” 325 เสียง ในสภาฯไม่น่าห่วง แต่ที่น่าห่วง คือ “เกมนอกสภา” ที่รอจังหวะชำระแค้น

จับตาหลังเริ่มนับหนึ่งรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร การเมือง “ฉากแรก” จะเริ่มที่การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงวันที่ 10-12 ก.ย.2567 นี้ ก่อนมีการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนัดแรก คาดว่า จะเป็นวันที่ 17 ก.ย.2567

จึงไม่แปลก หากนาทีนี้จะเห็นสัญญาณจากฟากฝั่งรัฐบาล ในการเตรียมแผนดันสารพัดนโยบาย “เรือธง" สีต่างๆ เพื่อบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล

ในส่วนของพรรคแกนนำคือ “พรรคเพื่อไทย” น่าจะต้องจับตาไปที่เรือธงสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายในหมวดกระตุ้นเศรษฐกิจ 

มีรายงานว่า ภายหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลเสร็จสิ้น ในการประชุม ครม.นัดแรก จะมีการพิจารณาวาระสำคัญคือ การปรับรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการใช้งบประมาณ 1.22 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลมีอยู่ จากการทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท รวมไปถึงเรือธงอื่นๆ ที่จะตามมาหลังจากนี้ 

325 เสียง ‘รัฐบาลแพทองธาร’  วัดใจ 15 พรรค เดิมพัน ‘เกมนอกสภา’

ไม่ต่างไปจากพรรคร่วมรัฐบาล ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจาก “พรรคภูมิใจไทย” นำเสนอ 6 นโยบาย เพื่อพิจารณาจัดทำเป็นนโยบายรัฐบาล เพื่อแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา

ไฮไลต์สำคัญ อยู่ที่ ข้อ 6.ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย รวมถึงกัญชา เพื่อการแพทย์ สุขภาพ สร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ และควบคุมผลกระทบทางสังคม โดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

สัญญาณชัดเจนจาก “พรรคสีน้ำเงิน” ดันสุดลิ่มกฎหมายกัญชา ย่อมต้องจับตาจังหวะก้าวย่าง ในขั้วรัฐบาลหลังจากนี้ 

ต้องไม่ลืมว่า จนถึงนาทีนี้ยังมี “พ.ร.บ.กัญชา กัญชง” เวอร์ชันสีน้ำเงิน ที่เคยถูกเสนอเข้าสภาฯ ตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว เวลานี้ยังรอคิวที่จะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาวาระแรก ทว่าระยะเวลาที่ล่วงเลยมาราว 1 ปีเศษ กลับไม่มีทีท่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา

แถมก่อนหน้า ยังปรากฏภาพเกมวัดพลัง และวิวาทะระหว่าง “2 เจ้ากระทรวง” จาก 2 พรรค คือ กระทรวงมหาดไทย อยู่ในความดูแลของพรรคภูมิใจไทย และกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในครอบครองของพรรคเพื่อไทย 

325 เสียง ‘รัฐบาลแพทองธาร’  วัดใจ 15 พรรค เดิมพัน ‘เกมนอกสภา’

กระทั่งต่อมา วันที่ 5 ก.ค.2567 คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีมติเสียงข้างมาก “เห็นชอบ”(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. … ที่กำหนดให้กัญชา และกัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เพื่อเป็นข้อเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนจัดทำกฎหมายลูก อนุญาตปลูก และใช้ทันประกาศ 1 ม.ค.2568

เวลานั้น “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข พยายามอธิบายเหตุผลการคืนกัญชาเป็นยาเสพติด แทนที่จะออกเป็นพ.ร.บ.ว่าประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 เป็นระยะเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ถือเป็นกฎหมายหลัก และต้องมีกฎหมายลูกตามมา ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี

แต่เนื่องจากว่า เราออกกฎหมายรอง หรือ พ.ร.บ.ไม่เสร็จ เพราะการเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น กฎหมายไม่ผ่าน จึงจบ ไม่ทันเวลา และสามารถต่อได้อีก 1 ปี โดยจะครบกำหนดวันที่ 9 ธ.ค.2567 ดังนั้น เมื่อทำไม่ทันแล้ว จึงต้องรีบออกประกาศมายับยั้ง

325 เสียง ‘รัฐบาลแพทองธาร’  วัดใจ 15 พรรค เดิมพัน ‘เกมนอกสภา’

คล้อยหลังไม่กี่วัน 10 ก.ค.2567  “ภูมิใจไทย” ชิงเกมเร็ว สวนทันควัน แถลงจุดยืนพรรค คัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

โดยเฉพาะ ท่าที “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แสดงท่าทีขึงขัง พร้อม “โหวตโน” หากเรื่องดังกล่าวดำเนินไปถึงขั้นตอนของ “คณะกรรมการ ป.ป.ส.” ที่จะมีการพิจารณาเป็นด่านสุดท้าย

ทว่า ในขั้นตอนระหว่างรอเข้าที่ประชุม “คณะกรรมการป.ป.ส.”นี้เอง ท่ามกลางข่าวคราวการเปิดดีลการเมืองระหว่าง “นายใหญ่” 2 ค่าย ยังเป็นจังหวะเดียวกันกับที่มีการส่งสัญญาณผ่าน “เศรษฐา ทวีสิน” ที่เวลานั้นยังมีตำแหน่งนายกฯ 

จนกระทั่งมีการสั่ง “พับแผน” คืนกัญชาสู่ยาเสพติด ตามมติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และให้กลับไปใช้การออก “พ.ร.บ.ควบคุม” แทน

เป็นเช่นนี้ ต้องจับตาในวันเปลี่ยนตัวผู้นำ เมื่อสถานการณ์ไม่ต่างจากนโยบายกัญชาที่ถูกเสนอเป็นนโยบายรัฐบาลอีกรอบ อำนาจต่อรองในซีกรัฐบาล ก็อาจกำลังก่อตัวขึ้นอีกรอบ

ไม่ใช่แค่เรื่องกัญชา ในวันที่ภูมิใจไทยถือดุลอำนาจในสภาสูง รวมไปถึงสภาล่าง นั่นคือตำแหน่ง รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งจะมีการโหวตในสภาฯ หลังจากแถลงนโยบายรัฐบาล แต่อาจรวมไปถึงนโยบายเรือธงอื่นๆ ที่อาจถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นต่อรอง ยื่นหมูยื่นแมวในซีกรัฐบาลหลังจากนี้ 

โดยเฉพาะกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) หรือ “กฎหมายกาสิโน” ที่เตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ เช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้ปรากฏความเห็นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไปคนละทิศละทาง

ฝั่ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เคยพูดถึงประเด็นนี้ ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุการเมืองจนนำมาสู่การเปลี่ยนตัวนายกฯ เพียง 4 วันว่า ไม่จำเป็นต้องเช็กเสียงรัฐบาล เนื่องจากผ่านด่าน กมธ.วิสามัญมาแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ทว่า ท่าทีดังกล่าวกลับสวนทางกับพรรคภูมิใจไทย ที่ออกมาแสดงจุดยืนในภายหลัง 4 ประเด็น “คัดค้าน” ร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลที่เสียงแตกออกเป็น 2 ส่วน ทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย 

ต้องจับตาในวันที่รัฐบาลเปลี่ยนตัวผู้นำ และกำลังจะมีการแถลงนโยบายในอีกราว 2 สัปดาห์ข้างหน้า 

325 เสียง ‘รัฐบาลแพทองธาร’  วัดใจ 15 พรรค เดิมพัน ‘เกมนอกสภา’

เช็กเสียงเวลานี้ ในเชิงอำนาจถือว่าเสถียรภาพรัฐบาลแน่นปึก “15 พรรค” 325 เสียง ประกอบด้วย 1.พรรคเพื่อไทย 141 เสียง 2.พรรคภูมิใจไทย 70 เสียง 3.พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง 4.พรรคพลังประชารัฐ (สายร.อ.ธรรมนัส) 22 เสียง 5.พรรคประชาธิปัตย์ 21 เสียง (จาก 25) 6.พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง 7.พรรคประชาชาติ 9 เสียง

8.พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง 9. พรรคไทรวมพลัง 2 เสียง 10.พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง 11.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง 12.พรรคใหม่ 1 เสียง 13.พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง 14.พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง และยังมี 15.สส.จากพรรคไทยสร้างไทย 6 เสียงที่แม้เวลานี้ยังไม่ได้ข้ามขั้วแบบเป็นทางการ แต่ในทางพฤตินัยถูกจัดกลุ่มอยู่ในขั้วรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย 

เป็นเครื่องการันตีได้ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องเสียงสนับสนุนในสภาฯ ในการผลักดันกฎหมายสำคัญ หรือ แม้แต่การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านก็เรียกว่า “ไร้พลัง” ล้มรัฐบาล 

แต่ที่น่าห่วง และประมาทไม่ได้คือ “เกมนอกสภา” ที่รอจังหวะชำระแค้น ผ่านองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ต่างจากจังหวะก้าวย่างภายในขั้วรัฐบาลหลังจากนี้ สารพัดเรือธงสีต่างๆ ที่กำลังจะถูกเสนอผ่านนโยบายรัฐบาล อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น ที่จะนำไปสู่อำนาจต่อรองหลังจากนี้ก็เป็นได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์