‘ครม.อิ๊งค์’ เสี่ยงสะดุด แพ้ภัย‘ตัวเอง’ ปล่อย ‘ครอบงำ’
ห้วงที่ เสือ-สิงห์ การเมือง จ้องเอาผิด "แพทองธาร" ทำให้ คนเพื่อไทยต้องออกมาสกรีน สิ่งที่จะเป็นช่องโหว่ ทว่าปม "ครอบงำ" จาก "พ่อ" สู่ "ลูก" อาจเป็นภัยที่ "ตัวเอง" ก่อ และกลายเป็นจุดตายได้
KEY
POINTS
Key Point :
- หลังจาก ครม.-แพทองธาร ชินวัตร ถวายสัตย์ปฏิญาณตน และ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา คือ การเริ่มต้นนับหนึ่งทำงานเต็มรูปแบบ
- นาทีนั้น ฝ่ายขั้วตรงข้าม ต้องจับจ้อง การทำงานว่า "แพทองธาร" จะมีความผิดพลาดอะไรในทางกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่
- แม้ "คนข้างกาย-เพื่อไทย" จะสกรีน สิ่งที่คิดว่าจะเป็น "อันตราย" กับนายน้อย ให้ออกห่าง ทว่ายังอาจมีช่อง
- จากความเป็น "พ่อ-ลูก" ที่ "แพทองธาร" เอ่ยปากว่าพร้อมขอคำปรึกษาจาก "ทักษิณ"
- ทำให้ถูกจับตาอย่างยิ่งในนโยบายหรือวาระการเมืองว่า "ทักษิณ" คิด "แพทองธาร" ทำหรือไม่ เพื่อใช้เป็นช่อง "เขี่ย" จากตำแหน่ง
- เสือ สิงห์ การเมือง ฐานะ "ศัตรูการเมือง" คอยจ้อง แบบไม่กระพริบตา หากมีจังหวะก้าวพลาด หรือ แค่สะดุดขาตัวเอง - คนในครอบครัว คงไม่รอช้า ที่จะ "ขย้ำ" จนไม่เหลือชิ้นดี
ได้เห็นโฉมหน้าอย่างเป็นทางการของคณะรัฐมนตรี “แพทองธาร 1” แล้ว โดยทั้ง 35 คน ถือเป็นสัดส่วนตามโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล จาก 5 ใน 12 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา
และ 1 กลุ่ม ของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจาก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรค ซึ่งส่งคนจาก "พรรคกล้าธรรม” นั่งเป็นนอมินีในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตามปฏิทินการเมืองวันที่ 6 ก.ย. นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” จะนำครม.ชุดใหม่ ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน และไม่เกิน 12 ก.ย. รัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา
จากนั้นจึงถือว่า “แพทองธาร” และ ครม. จะมีหน้าที่และอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
แน่นอนว่า หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว การทำงานของ “แพทองธาร” จะถูกจับตามากยิ่งขึ้นในฐานะผู้นำประเทศ ว่าจะถูกครอบงำ หรือชี้นำจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ หรือไม่
โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 กำหนดกรอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ไว้ว่า ต้องยึดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย รวมถึงนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา และถูกกำกับจาก 4 หลักเกณฑ์ คือ
1.ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย รอบคอบ และระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม
2.รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ “อย่างเคร่งครัด”
3.ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และ 4.สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดอง
นอกจากนั้นแล้ว ยังมี “มาตรฐานจริยธรรม” ที่ต้องยึดถือ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หลังจากที่ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ถูกปลดให้พ้นตำแหน่ง ด้วยเหตุของการฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม รวมถึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต กรณีตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี
เชื่อแน่ว่าในบรรดาองครักษ์พิทักษ์ “นายกฯอิ๊งค์” จะไม่ทำอะไรที่ทำให้เกิดเหตุซ้ำรอย “เศรษฐา” แน่นอน
เห็นได้จากการตรวจสอบคุณสมบัติ “รัฐมนตรี” อย่างเข้มข้น
แต่การปฏิบัติของ “แพทองธาร” เอง อาจเป็นชนวนเหตุที่เปิดช่องให้ “นักร้อง” รวมถึง “ขั้วการเมืองตรงข้าม” หยิบไปเป็นประเด็น ให้หลุดจากตำแหน่งได้
ที่ผ่านมา “แพทองธาร” เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้ในหลายวาระว่า พร้อมจะขอคำปรึกษาจาก “ทักษิณ” ในฐานะคนในครอบครัว โดยประเด็นนี้ถูกจับตาอย่างต่อเนื่องว่า สิ่งที่ “แพทองธาร” ทำนั้นมาจาก “ทักษิณ” คิดหรือไม่
หากทำจนเห็นเป็นที่ประจักษ์ ชัดเจน อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ยอมให้คนนอก “ครอบงำ” และหากสิ่งที่ “แพทองธาร” ทำนั้น เข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ย่อมถูกลงโทษสถานหนัก
ก่อนหน้านี้ “นิด้าโพล” เคยเผยผลสำรวจความเห็นประชาชน ที่ไม่เชื่อว่า “แพทองธาร” จะทำงานได้โดยอิสระ หรือปราศจาก “ทักษิณ” ชี้นำ
โดยก่อนที่ “แพทองธาร” จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ ขณะนี้พบการยื่นคำร้องให้ “องค์กรอิสระ” ตรวจสอบ
“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติของ “นายกฯ” 2 ประเด็น คือ
การลาออกจากกรรมการบริษัท 20 แห่ง ที่มีข้อสงสัยว่า บริษัทที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัดสามารถลาออกได้ทันภายในคือ 15 ส.ค. ก่อนที่สภาฯ จะโหวตเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ในวันที่ 16 ส.ค. ได้อย่างไร โดยข้อนี้จะเชื่อมโยงไปถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการอื่น ที่ต้องรอการพิสูจน์
อีกกรณี การยินยอมให้“ทักษิณ”ฐานะบิดา ครอบครองตำแหน่งนายกฯหรือไม่ โดยเป็นพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นถึง การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหลักของ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ การทุจริตเชิงนโยบาย
ก่อนหน้านั้น ยังมีบุคคลนิรนาม ยื่นเรื่องให้ “กกต.” ตรวจสอบการ “ครอบงำ” พรรคเพื่อไทยของ “ทักษิณ” ซึ่งแกะรอยมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีถอดถอน “เศรษฐา” ซึ่งอ้างถึงการเข้าพบ “ทักษิณ”
และวาระการประชุมพรรคเพื่อไทย ที่ปรากฏว่ามีการวีดิโอคอลมาจาก “ทักษิณ” ซึ่งผู้ร้องนิรนาม มองว่า เข้าข่ายมาสั่งการและครอบงำพรรค ทั้งที่ “ทักษิณ” ไม่ใช่สมาชิกพรรค และทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองที่เข้าข่าย “ยุบพรรรค”
ในย่างก้าวของ “พรรคเพื่อไทย” และ “แพทองธาร” หลังจากนี้ ต้องประคองตัวให้ดี เพราะปัจจุบัน “ขั้วตรงข้าม” ถือไพ่เหนือกว่า เพราะมี “องค์กรอิสระ” เป็นกลไกอาญาสิทธิ์ ในการเอาชนะกันใน “สมรภูมิการเมือง”
ดังนั้น “รัฐบาล-เพื่อไทย” อย่าได้วางใจว่า การครองอำนาจรอบนี้ จะอยู่อย่างมั่นคง และอยู่จนครบเทอม แบบสบายใจ ไร้อุปสรรค ขวากหนาม
เพราะภายใต้ ความเข้มแข็งของ “รัฐบาล-เพื่อไทย” ที่ครองเสียงในสภาฯ และบารมีของ “ตระกูลชินวัตร” ที่แผ่ขยายในทุกวงการ อาจมีจุดอ่อน ที่กลายเป็นจุดตาย เหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว ในสมัย “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”.