'8 รมต.หญิง' ครม.แพทองธาร บันทึกหน้าใหม่การเมืองไทย
ครม.แพทองธาร ชินวัตร 1 มีสัดส่วนสตรีมากถึง 8 คน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพรรคเพื่อไทย และมีรัฐมนตรีหญิง 2 คนที่เพิ่งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกคือ "ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์" และ "“ซาบีดา ไทยเศรษฐ์”
KEY
POINTS
- ครม.แพทองธาร ชินวัตร 1 มีสัดส่วนรัฐมนตรีหญิงมากถึง 8 คน เป็นของพรรคเพื่อไทย 5 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคกล้าธรรม 1 คน
- "ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์" และ "ซาบีดา ไทยเศรษฐ์" คือ 2 รัฐมนตรีหญิงหน้าใหม่ นั่งตำแหน่ง รมช.มหาดไทย
- "แพทองธาร ชินวัตร" มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
- "มนพร เจริญศรี" รมช.คมนาคม เป็นรัฐมนตรีใน ครม.แพทองธารที่มีอายุมากที่สุด
- "จิราพร สินธุไพร" รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และเป็นรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุด ใน ครม.แพทองธาร
คณะรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567
ทำให้เหลือเพียงการนำ ครม.เข้าแถลงนโบายต่อรัฐสภา ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2567
โฉมหน้า ครม.แพทองธาร ชุดแรกนี้ ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีชุดเดิมที่เคยอยู่ร่วมกับรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน แต่ก็มีรัฐมนตรีหน้าใหม่ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
อีกทั้งยังเป็นบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า เป็น ครม.ที่มีสัดส่วนของรัฐมนตรีหญิงมากถึง 8 คน
โดยรัฐมนตรีหญิง ที่เพิ่งได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกคือ “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” สส.กทม. พรรคเพื่อไทย รมช.มหาดไทย และ “ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย
เมื่อพลิกบันทึกการเมือง ในรัฐบาลแต่ละยุค พบว่ามีสัดส่วนรัฐมนตรีสตรี ดังนี้
รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน 4 คน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 จำนวน 2 คน และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 จำนวน 3 คนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 4 คน เท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวน 4 คน
ที่น่าสนใจ ยังพบว่า “รัฐมนตรีหญิง” ที่นั่งเก้าอี้หลายกระทรวง คือ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งเคยผ่านตำแหน่งสำคัญ รมช.มหาดไทย รมว.สาธารณสุข รมว.เกษตรและสหกรณ์
ส่วน“ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ” เคยนั่ง รมว.คมนาคม และ “วิมลศิริ ชำนาญเวช” เคยนั่ง รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย
สำหรับ สัดส่วนรัฐมนตรีหญิงมากที่สุดจะอยู่ที่ สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 10 คน
พ.ศ.นี้ พลิกดู ครม.แพทองธาร ที่มีสัดส่วนรัฐมนตรีผู้หญิงมากที่สุด มาจาก “พรรคเพื่อไทย” และล้วนมีเส้นทางการเมืองที่น่าสนใจ
นำโดย 1. “แพทองธาร ชินวัตร” หรือ อิ๊งค์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 และเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศ เพิ่งอายุครบรอบ 38 ปีไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ลูกสาวคนสุดท้องของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
“แพทองธาร” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ โดยได้รับเสียงโหวตจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 319 เสียงให้เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ทำให้เธอถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือนายกฯที่มีนามสกุล “ชินวัตร” แท้ๆ คนที่ 3 ของประเทศไทย
ภารกิจหลักของนายกฯ อิ๊งค์ จะต้องสานงานต่อจากรัฐบาลเศรษฐา ด้วยการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่โดยมีภารกิจเร่งด่วนคือ แก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง โดยเฉพาะสานต่อนโยบาย "ดิจิทัลวอลเล็ต" แก้ไขปัญหายาเสพติด ผลักดันระบบสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ และนโยบายซอฟต์พาวเวอร์
2. “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” หรือ “อิ่ม” รมช.มหาดไทย (มท.4) วัย 45 ปีเป็น สส.กทม. 3 สมัย จากเขตลาดกระบัง และเป็น สส.กทม. เพียงคนเดียวของ “พรรคเพื่อไทย” ที่สามารถฝ่าด่านชนะ “ชุมพล หลักคำ” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลไปได้เพียง 4 คะแนน
ธีรรัตน์ เคยติดโผเกือบได้นั่งรัฐมนตรี รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในเก้าอี้ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรมต.ประจำสำนักนายกฯ แต่ก็พลาดไป
ทันทีที่มีการตั้งรัฐบาลแพทองธาร ชื่อของ “ธีรรัตน์” ก็นอนมาในตำแหน่งรัฐมนตรี แรกเริ่มมีชื่อจะนั่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก่อนลงตัวที่ตำแหน่ง รมช.มหาดไทย โดยไปนั่ง มท.4 แทน “เกรียง กัลป์ตินันท์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งหลุดจากตำแหน่ง
คาดว่า อิ่ม ธีรรัตน์ จะมาสานต่องานของ “เกรียง” และยังต้องมีภารกิจ ผลักดันผลงานในการฟื้นศรัทธาคน กทม.ให้กับพรรคเพื่อไทย ในห้วงที่ต้องเผชิญกับกระแส “พลังส้ม” ของ “พรรคก้าวไกล” ต่อเนื่องมาถึง “พรรคประชาชน”
3.“จิราพร สินธุไพร” หรือ “น้ำ” สส.ร้อยเอ็ด 2 สมัยจากพรรคเพื่อไทย เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบัน อายุ 37 ปี เพิ่งครบรอบวันเกิดไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ลูกสาวของ “นิสิต สินธุไพร” อดีต สส.ร้อยเอ็ด อดีตแกนนำ นปช.และ “เอมอร สินธุไพร” อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีน้องสาวแท้ๆ “ชญาภา สินธุไพร” เป็น สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย
น้ำ “จิราพร” ถือเป็นนักการเมืองคนรุ่นใหม่ที่มาแรงแถวหน้าของเพื่อไทย มีวาทศิลป์ในการอภิปรายกลางที่ประชุมสภาฯ ถูกจดจำวาทะคมคายหลายครั้ง ขณะเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
“จิราพร”นั่งตำแหน่ง รมต.สำนักนายกฯ ครั้งแรกใน ครม.เศรษฐา และทำงานใกล้ชิดกับนายกฯเศรษฐา ก่อนจะได้รับความไว้วางใจจาก “นายกฯ อิ๊งค์” ให้ดำรงตำแหน่ง รมต.สำนักนายกฯ อีกครั้ง
คาดกันว่าภารกิจของ“รัฐมนตรีน้ำ” จะช่วยนายกฯ หญิงในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้ยกระดับไปสู่สากล เพื่อช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ
4. “มนพร เจริญศรี” หรือ เดือน สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ปัจจุบัน อายุ 59 ปี เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลเศรษฐา ในเก้าอี้ รมช.คมนาคม เคยผ่านตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)นครพนม เป็น สส.นครพนม เขต 2 มีผลงานเด็ดคือ ล้ม “สหายแสง” ศุภชัย โพธิ์สุ อดีต สส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
ในฐานะ สส.เดือน ถือเป็นมือประสาน ทำหน้าที่วิปให้กับ ครม.ในการประสานรัฐมนตรี และช่วยสนับสนุนการตอบกระทู้ และชี้แจงของรัฐมนตรีมือใหม่อยู่เสมอ พร้อมทั้งเป็นรัฐมนตรีที่คอยช่วยนายกรัฐมนตรีในเวทีสภาฯ อีกทั้งยังมีภารกิจช่วยงานพรรคเพื่อไทยในด้านบริหาร "มนพร" เคยผ่านตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ทำหน้าที่ประธานการประชุม กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบฯ
ภารกิจรัฐมนตรีของ "มนพร" ในครั้งนี้ก็คาดว่าจะคอยสนับสนุนการทำงานภายในกระทรวงคมนาคมให้กับ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม คาดว่า สส.เดือนจะได้คุมหน่วยงานเดิมเหมือนรัฐบาลเศรษฐา คือ 1. กรมเจ้าท่า (จท.) 2. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 3. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 4. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 5. บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.)
อีกทั้ง "มนพร"นับจากนี้ยังมีภารกิจคอยช่วยงานนายกรัฐมนตรีในระหว่างที่มีการนำรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการตามจังหวัดต่างๆ ยิ่งได้นายกฯ แพทองธาร บุตรสาวของ "ทักษิณ" ก็ยิ่งทำให้ "รัฐมนตรีเดือน" ต้องใส่เกียร์เดินหน้าเต็มสูบ เพราะอีกทางหนึ่งถ้าผลงานรัฐบาลเป็นไปตามเป้า ก็ยิ่งมีผลต่ออนาคตของ "พรรคเพื่อไทย" ในสนามเลือกตั้งด้วย
“มนพร” ย้ำว่า จะไม่ทำให้คนนครพนม ผิดหวัง ไม่ให้เสียชื่อคนนครพนม ที่ได้ผู้แทนเป็นรัฐมนตรี และจะช่วยทำให้พรรคเพื่อไทยแข็งแรงเพื่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
5. “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” หรือ ปุ๋ง รมว.วัฒนธรรม อายุ 42 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.วัฒนธรรม ต่ออีกสมัย หลังเคยนั่งตำแหน่ง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.วัฒนธรรม ในรัฐบาลเศรษฐา
เธอเป็นลูกสาวของ “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม และ “ยลดา หวังศุภกิจโกศล” นายก อบจ.นครราชสีมา และยังเป็นพี่สาวของ “อาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล” สส.นครราชสีมา เขต 11 พรรคเพื่อไทย
“สุดาวรรณ” เคยเป็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566
ภารกิจของ "สุดาวรรณ" แน่นอนว่าต้องสานต่อนโยบาย “One Family One Soft Power" (OFOS) หรือ “นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ที่เป็นเรือธงนโยบายหลักของ "พรรคเพื่อไทย" พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
พรรคภูมิใจไทย มีรัฐมนตรีหญิง 2 คน
6. ศุภมาส อิศรภักดี หรือ ผึ้ง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปัจจุบันอายุ 51 ปี เป็นรัฐมนตรีหญิงของพรรคภูมิใจไทย
ครั้งนี้ยังคงได้รับความไว้วางใจจาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.อว.อีกครั้ง หลังเคยนั่งในตำแหน่งนี้มาแล้วในรัฐบาลเศรษฐา
“ศุภมาส” เคยเป็น สส.กทม. พรรคไทยรักไทย 2 สมัย เมื่อปี 2544 และปี 2548 ในช่วงยุคไทยรักไทยฟีเวอร์ ก่อนจะมาร่วมทีมกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยเมื่อปี 2555 ที่มี “อนุทิน” เป็นหัวหน้าพรรค
แน่นอนว่า "ศุภมาส" จะมาสานงานต่อในตำแหน่งเดิม ด้วยการขับเคลื่อน นโยบาย "เรียนดี มีความสุข มีรายได้"ด้วยการลดภาระนักศึกษาและผู้ปกครอง รวมทั้งลดภาระอาจารย์ผู้สอน และชูเรื่อง “วิจัย สร้างนวัตกรรมดี ตรงความต้องการ”
รวมทั้งจะผลักดันการสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม เพิ่มจํานวนผู้ประกอบการนวัตกรรมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน สตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี และบริษัทเอกชนขนาดใหญ
7. “ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” หรือ ดีดา รมช.มหาดไทย มท.3 เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก หลังจากบิดา “ชาดา ไทยเศรษฐ์” สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ถอยฉากไม่รับตำแหน่ง และส่ง “ลูกสาว”คนกลางไปนั่งโควตานี้แทน เพราะเกรงว่าจะติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติเกี่ยวกับ "จริยธรรม"
“ซาบีดา” อายุ 40 ปี เคยผ่านตำแหน่งคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ชาดา ไทยเศรษฐ์) เป็นลูกสาวคนที่ 2 ของ “ชาดา” และ “เตือนจิตรา แสงไกร” มีพี่สาวคือ ปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี และน้องสาวคือ “อัลฑริกา ไทยเศรษฐ์” อีกทั้งยังเป็นหลานสาวของ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์
ถือเป็นการประเดิม ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งการเมืองระดับชาติ ในวัย 40 ปี ซึ่ง “ซาบีดา”มักปรากฎภาพกิจกรรมสังคมและการเมือง ร่วมกับพ่ออา-มนัญญา และพี่น้องในพื้นที่ โดยเฉพาะงาน “มูลนิธิไทยเศรษฐ์" ช่วยเหลือสังคม และสาธารณประโยชน์ ที่ ”ปานัดฌา” พี่สาว เป็นประธานมูลนิธิ และยังเป็นนายกเทศมนตรีอุทัยธานี
ซาบีดา จบนิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญาโทนิติศาสตร์มหาบัณฑิต จากลอนดอน อังกฤษ ทำธุรกิจและทำงานการเมืองช่วยพ่อในพื้นที่ ควบคู่กับงานสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในคณะทำงานรมช.มหาดไทย ก่อนรับตำแหน่ง
ตำแหน่ง มท.3 เดิมที "ชาดา" เคยถูกมอบหมายให้กำกับราชการ กรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน และกำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งคาดว่า "ซาบีดา" ก็น่าจะรับมาช่วงต่อจากบิดาที่ขอถอนตัวจากตำแหน่งรัฐมนตรี
ปิดท้ายด้วยกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ สามารถนำกลุ่ม สส.ราว 20 เสียงเป็นพันธมิตรแยกตัวออกจากขั้วบ้านป่ารอยต่อฯ ได้สำเร็จ ด้วยเกรงว่าจะติดปัญหาคุณสมบัติ “จริยธรรม” ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ต้องส่ง 3 รัฐมนตรีคนนอก เข้ามานั่งในโควตา
1 ใน 3 คือรัฐมนตรีหญิงคนที่ 8 “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หรือ ดร.แหม่ม หัวหน้าพรรคกล้าธรรม รับตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ แทน ร.อ.ธรรมนัส
แม้ นฤมล จะเคยผ่านการมีตำแหน่ง รมช.แรงงาน ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อน และพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับ ร.อ.ธรรมนัส ขณะเดียวกันยังเคยผ่านตำแหน่งผู้แทนการค้าไทยในรัฐบาลเศรษฐา แต่คราวนี้เป็นเพิ่งได้เป็นรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
“ดร.แหม่ม” เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีคลัง (อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์)
เคยเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 ก่อนลาออกจากสมาชิกพรรค มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคกล้าธรรม ซึ่งเป็นพรรคที่รู้กันว่า ตั้งเพื่อรองรับ สส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ที่เตรียมแยกทีมออกจากบ้านป่าฯ
สำหรับภารกิจหลักของ "ดร.นฤมล" จะต้องรับไม้ต่อเป็นตัวแทนของ "ร.อ.ธรรมนัส" เป็นการฉายภาพตัวแทนว่า การส่งคนนอกมานั่งรัฐมนตรีครั้งนี้ไม่ใช่สัดส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ
"ร.อ.ธรรมนัส" การันตีว่า "นฤมล"เคยผ่านตำแหน่งรัฐมนตรีมาก่อน จึงมีความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่นี้แทนเขาได้
คาดว่า "ดร.นฤมล" จะมาช่วยผลักดันการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้ กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ยกชุดก็จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน