ปัดฝุ่น โมเดล‘บ้านพิษณุโลก’ ฟื้นทีมเศรษฐกิจ-คุมมั่นคง
ไอเดียขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบิดานายกฯ ที่เสนอต่อสาธารณะจึงเป็นสัญญาณ การปรับนโยบายเรือธงของรัฐบาลแพทองธาร ที่ชัดเจน ความเคลื่อนไหวของ“ทักษิณ” จึงจัดเตรียมทีมมันสมอง เพื่อเป็นกุนซือ“รัฐบาลแพทองธาร”ไว้เรียบร้อยแล้ว
KEY
POINTS
- ย้อนอดีต "บ้านพิษณุโลก" กองบัญชาการ พล.อ.ชาติชาย นายกรัฐมนตรี ตามนโยบาย เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เจรจายุติสู้รบเขมร 4 ฝ่าย
- ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ ผู้อยู่เบื้องหลังปั้นผลงานชิ้นโบว์แดง พล.อ.ชาติชาย นายกรัฐมนตรี ได้รับคำชมถึงทุกวันนี้
จับตาบทบาท “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมรับตำแหน่งสำคัญช่วยงาน "รัฐบาลแพทองธาร" ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในกลางเดือน ก.ย.2567 นี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คู่ขนานงานด้านความมั่นคง
โดยใช้ “บ้านพิษณุโลก” เป็นกองบัญชาการ และโมเดล “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกฯ ที่มีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” สร้างสันติภาพภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจสังคมโดยไม่ปิดกั้นอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง
ย้อนไป 30 ปีที่แล้ว ในช่วงสงครามอินโดจีนเริ่มผ่อนคลาย แต่ไทยยังถูกผลักให้เผชิญหน้าปัญหาประเทศรอบบ้าน ทั้งความขัดแย้งเขมร 4 ฝ่าย ในขณะความสัมพันธ์กับเวียดนาม ลาว ก็ไม่ค่อยสู้ดี
พล.อ.ชาติชาย เซ็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 84/2531ตั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปรับเปลี่ยนบ้านพิษณุโลกเป็นสำนักงาน ประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานคณะที่ปรึกษา หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
ทีมบ้านพิษณุโลก มีภารกิจหลัก ดูเรื่องทั้งระเบียบข้อกฎหมาย การร่างวาระ ครม. และระบบการบริหารงานต่างๆ ของนายกรัฐมนตรี
โดยมี สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ดูด้านกฎหมายระหว่างประเทศ การเจรจาการค้าและท่าทีต่างๆ ของรัฐบาลในระดับสากล
ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา รับผิดชอบ เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิมนุษยชน การเจรจาสันติภาพในกัมพูชากับเขมร 4 ฝ่าย การยกเลิก ปร.42
พร้อมทั้งเชิญนักวิชาการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานจำนวนมาก เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิษณุ เครืองาม สังศิต พิริยะรังสรรค์ นิคม จันทรวิทุร
ภายในสำนักงานบ้านพิษณุโลก ห้องชั้นล่างด้านซ้ายของบ้าน เป็นห้องทำงานคณะทำงานชุดใหญ่ ส่วนพื้นที่ด้านขวาเป็นห้องรับแขก และประชุมร่วมกับ พล.อ.ชาติชาย ชั้นบนของบ้าน ใช้เป็นห้องทำงานของ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
บรรดาคณะทำงานเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” หรือเรียกย่อๆ ว่า “ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ”
ทีมมันสมองที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงในยุค พล.อ.ชาติชาย หลังประสานงานเจรจาร่วมเขมร 4 ฝ่าย จนยุติการสู้รบ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล สร้างสันติภาพภูมิภาค ตามแนวคิด เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า การทูตแนวใหม่ในสมัยนั้น ทำให้ประเทศรอบบ้านหันมาจับมือกับไทย ด้านการค้า การลงทุน จนได้รับคำชมถึงวันนี้
เช่น นโยบาย Privatization ให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบขนส่งสาธารณะ การบริหารและการจัดการท่าเรือ ฯลฯ อันเป็นต้นแบบของการร่วมลงทุนของเอกชนในปัจจุบัน
เปิดตลาดการค้า และการลงทุนใหม่ โดยเปิดตลาดอินโดจีน และตลาดจีนตอนใต้ เพื่อเป็นการรองรับสินค้าส่งออกของไทย และกำหนดให้ประเทศไทยเป็นสปริงบอร์ด สู่ตลาดอินโดจีน และจีนตอนใต้ ของนักลงทุนนานาชาติ
เปิดโครงการพัฒนาพิเศษ เพื่อรองรับการลงทุนจากนานาชาติ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 5 จังหวัดภาคเหนือ โครงการเมืองแฝดทางอุตสาหกรรมขอนแก่น-นครราชสีมา โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้
พัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจฯลฯ เร่งขุดเจาะสำรวจหาก๊าซและน้ำมัน ทั้งบนบกและอ่าวไทย และได้พบก๊าซที่จังหวัดขอนแก่น พบน้ำมันที่จังหวัดกำแพงเพชร เปิดสำรวจเหมืองโปแทชที่จังหวัดชัยภูมิ เปิดนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และแหลมฉบัง
กำหนดวงเงินงบประมาณจำนวนหนึ่ง (ร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2534 เป็นต้นไป) เพื่อนำมาบูรณะระบบโครงสร้างองค์กร และค่าตอบแทนบุคลากรภาคราชการ
ปรับปรุงระบบสวัสดิการข้าราชการ ทำให้ข้าราชการได้รับผลประโยชน์และมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องพะวงเกี่ยวกับรายได้ และสวัสดิการซึ่งจะส่งผลไปสู่ประชาชนในที่สุด ฯลฯ
ตัดกลับมาปัจจุบัน ไทยยังเผชิญปัญหาสงครามสู้รบไม่ต่างเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เช่น รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-กลุ่มฮามาส และที่คุกรุ่น ทะเลจีนใต้ ความตึงเครียดจีน-ไต้หวัน
หรือที่ใกล้ชายแดนไทย การสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมา-ชนกลุ่มน้อย สร้างผลกระทบทางตรงทางอ้อมกับไทย หลังปีที่แล้ว ทักษิณ อาสาเป็นตัวกลางประสานการเจรจาชนกลุ่มน้อย-รัฐบาลเมียนมา ในทางลับ หวังยุติการสู้รบ แต่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
ขณะที่นโยบายต่างๆ กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม รอรัฐบาลแพทองธารมารับช่วงต่อ เช่น
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต กองทุนวายุภักษ์ ไฟแนนเชียลฮับ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ
ไอเดียขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบิดานายกฯ ที่เสนอต่อสาธารณะจึงเป็นสัญญาณ การปรับนโยบายเรือธงของรัฐบาลแพทองธาร ที่ชัดเจน
ความเคลื่อนไหวของ“ทักษิณ” จึงจัดเตรียมทีมมันสมอง เพื่อเป็นกุนซือ“รัฐบาลแพทองธาร”ไว้เรียบร้อยแล้ว รอวันเวลาเปิดตัวเร็วๆ นี้