'แพทองธาร' ดัน10นโยบายเร่งด่วน กู้ปัญหาประเทศ
เปิดคำแถลงนโยบาย "แพทองธาร" ดัน10นโยบายเร่งด่วน ทั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ดิจิทัลวอลเล็ต เร่งเจรจา OCAกับกับกัมพูชา แก้รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา เป็นพิเศษ วันที่ 12 - 13 ก.ย. โดยมีวาระเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162
ทั้งนี้ในระเบียบวาระดังกล่าวมีเอกสารเป็นคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ต่อรัฐสภา มีทั้งสิ้น 14 หน้า โดยมีสาระสำคัญ ระบุถึงภาวะความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเผชิญ ที่เติบโตน้อยกว่าศักยภาพ หนี้สินเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม และการเมือง รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหารุมเร้า โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่ทำทันที คือ
1.การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบและในระบบที่ไม่ขัดต่อวินัยการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม
2.ส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์
3.ออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค ด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและเร่งปรับปรุงกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำสัญญาซื้อขายพลังงานโดยตรง พัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ด้านขนส่งมวลชนจะกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในกทม. เพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย
4.สร้างรายได้ใหม่ด้วยนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อจัดสรรวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุขและสาธารณูปโภค
5.เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก
6.ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร
7.เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์)
8.แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ขาดและครบวงจร
9.เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยยชน์ของประชาชน
10.ส่งเสริมศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง
ขณะที่นโยบายพัฒนาประเทศระยะกลางและระยะยาว ระบุว่า จะต่อยอดการพัฒนาของภาคผลิตและบริการ สร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ได้แก่
1.ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมซอฟท์พาวเวอร์ ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ การบริการทางการแพทย์ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส ทั้งวิจัยและนวัตกรรม ด้านคมนาคมขนาดใหญ่ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริาหรจัดการที่ดินของรัฐ ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น
“รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ดึงแรงงานนอกระบบ 50% สู่ระบบการศึกษา ศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริาหรจัดการที่ดินของรัฐ รวมถึงมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลก ผ่านการผลักดันยกร่างกฎหมายชุดใหม่ที่เป็นสากล โปร่งใส เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ออกแบบสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน พัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน ” คำแถลงนโยบายรัฐบาลระบุ
นอกจากนั้นแล้วยังระบุถึงนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆ อาทิ ยกระดับระบบสาธารณสุขไทยเป็น 30บาทรักษาทุกที่ สนับสนุนการสร้างซอฟท์พาวเวอร์ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
ขณะที่นโยบายด้านการเมือง ในคำแถลงนโยบายระบุว่า พัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีสเถียรภาพ นิติธรรมและโปร่งใส คือ
1.เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็ว
2.สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินยึดมั่นหลักนิติธรรมและความโปร่งใส
3.ปฏิรูประบบราชการและกองทัพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
4.ยกระดับการบริการภาครัฐให้สนองตอบความต้องการของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของคำแถลงนโยบาย ระบุว่า รัฐบาลมุ่งมั่นพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในคำแถลงนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภา วันที่ 12 ก.ย.นั้น มีเนื้อหาและรายละเอียดที่แตกต่างจากคำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อ 11 ก.ย. 66 อาทิ นโยบายเร่งด่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งยุคของนายเศรษฐาระบุขั้นตอนที่สำคัญเช่น ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนช่วยออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตยและหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา การบริหารของรัฐบาลที่ใช้รูปแบบผู้ว่าซีอีโอ การพัฒนากองทัพ แทนการปฏิรูป เช่น เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ นอกจากนั้นยังมีการระบุถึงนโยบายพักหนี้เกษตรกร เป็นต้น.