มติ วุฒิสภา คว่ำตั้งกมธ.วิสามัญแก้ปัญหาน้ำท่วม

มติ วุฒิสภา คว่ำตั้งกมธ.วิสามัญแก้ปัญหาน้ำท่วม

"วุฒิสภา" ลงมติ 127 ต่อ 48 คว่ำตั้งกมธ.วิสามัญ แก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ส่งความเห็นที่อภิปรายให้หน่วยยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา

ที่วุฒิสภา มีการประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากวิกฤตอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ ซึ่งเสนอโดยนายเศรณี อนิลบล สว. และ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ซึ่งการอภิปรายในวาระรดังกล่าวนั้น มีความเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการฯ เพื่อศึกษาให้ได้ผลการศึกษาที่เป็นรูปธรรม และฝ่ายที่ไม่สนับสนุน เนื่องจากมองว่าก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาของหลายหน่วยงานและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะดำเนินการหรือไม่

ทั้งนี้ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย ของ นายอลงกต วรกี สว. ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการ และแสดงท่าทางแกล้งร้องไห้ พร้อมระบุว่า “ฟังแล้วก็อยากจะร้องไห้เหมือนกันครับ แก้กันมานาน ยังแก้ไม่ได้สักที มีกระดาษทิชชู่ไหมครับ อึดอัดใจเหลือเกิน อยากให้มีการแก้เร็วๆ และแก้ปัญหาชาวบ้านเร็วๆ นะครับ”

ในช่วงท้ายนายเศรณี อภิปรายปิดญัตติว่า ผลการศึกษาดังกล่าวจะพิจารณาเร่งด่วนเพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาภายใน 1 ปี ทั้งนี้ได้เสนอแนะให้พื้นที่ น.ส.ล.  ที่แต่ละจังหวัดมีอยู่จำนวนมาก ทำเป็นที่เก็บน้ำเพื่อป้องกันและแก้ปัญหา หาก สว.ปัจจุบันพิจารณาและเสนอให้รัฐบาลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ไปผลักดันการแก้ปัญหา จึงถือว่าการตั้งกรรมาธิการมีความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้เกิดเป็นวาระแห่งชาติของการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างเป็นระบบได้

จากนั้นได้ลงมติ พบว่า มติเสียงข้างมาก จำนวน 127  เสียงไม่เห็นด้วย ต่อเสียงเห็นด้วย  48 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง

ทั้งนี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานสภาฯ คนที่สอง กล่าวว่า จำให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นำความเห็นของสว. ไปยังหน่วยงาน และเมื่อตั้งกมธ.แล้วจะมอบหมายให้กมธ.ที่เกี่ยวข้องศึกษาต่อไป เพราะเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป

นายบุญส่ง กล่าวถึงข้อสรุปของผลการอภิปรายของสว. ว่า มีประเด็นการบูรณาการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบรูปธรรม ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน พิจารณาจัดการผังเมืองรูปแบบใหม่ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมแต่ละพืนที่เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัย และ ในการศึกษาปัญหาภัยพิบัติแบบองค์รวม ต้องร่วมมือจากหลายหน่วยงานและประชาชน.